วงเสวนาชี้ ‘ลูกจ้าง’ เปลี่ยนงานบ่อย เหตุบริษัทไม่ปรับตัว แนะยุคนี้ต้องง้อ พนง.

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมเรเนซองส์ แบงคอก ราชประสงค์ เขตปทุมวัน บริษัท เวิร์กเดย์ เอเชีย แปซิฟิก จัดงานสัมมนา “เทรนด์การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล การสรรหาบุคลากรและความท้าท้ายที่บริษัทในประเทศไทยต้องพบเจอในปีนี้ (Engaging Thailand’s Workforce of the Future)” โดยมีนายเดวิด โฮป ผู้จัดการใหญ่บริษัท เวิร์กเดย์ เอเชีย แปซิฟิก น.ส.วิไลพร ทวีลาภพันทอง ที่ปรึกษาบริษัท PwC ประเทศไทย น.ส.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ และนายสาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด เข้าร่วม

นายเดวิด กล่าวว่า สาเหตุที่บริษัทต่างชาติกล้าเข้ามาลงทุนในประเทศไทยท่ามกลางบรรยากาศทางเมืองปัจจุบันเช่นเดียวกับบริษัท เวิร์กเดย์ฯ เพราะมองว่าประเทศไทยยังคงมีฐานเศรษฐกิจที่แข็งแรง แม้ที่ผ่านมา ไทยจะพบกับความท้าทายหลายเรื่อง แต่เมื่อมองลึกลงไปพบว่า ไทยยังคงมีประสิทธิภาพพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ประกอบกับนโยบายของรัฐบาล อาทิ ไทยแลนด์ 4.0 นโยบายด้านแรงงาน ฯลฯ ยิ่งทำให้ไทยน่าท้าทายในการลงทุน และเห็นด้วยสำหรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลไทยพยายามผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ

นายเดวิด กล่าวต่อไปว่า ความท้าทายในปัจจุบันคือ ความแตกต่างระหว่างวัย ทำให้ที่ผ่านมา บริษัทหาวิธีดึงดูดลูกจ้างให้อยู่กับองค์กร ด้วยการทำให้พนักงานมีความสุข มีฐานข้อมูลลูกจ้างบันทึกข้อดีข้อด้อยของลูกจ้าง เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงที่ทำให้ลูกจ้างลาออก ส่วนข้อด้อยพยายามส่งเสริมและพัฒนาความสามารถลูกจ้าง

“ส่วนประเด็นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ได้ส่งผลต่อการลงทุนของบริษัทต่างชาติ เพราะการขึ้นค่าแรงจะยิ่งทำให้นายจ้างต้องพัฒนาความสามารถของบริษัท โดยกรณีการปรับค่าแรงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทย แต่เกิดขึ้นกับทั่วโลก มองว่าเป็นด้านบวก เพราะนายจ้างจะต้องคัดสรรบุคลากรที่มีความสามารถและตรงตามต้องการขององค์กรเข้ามาทำงานจริงๆ” นายเดวิด กล่าว

Advertisement

ด้าน น.ส.ศิริยุพา กล่าวว่า สำหรับความท้าทายที่บริษัทในไทยต้องพบเจอในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล คือ ความแตกต่างในเรื่องวัยท่ามกลางกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ กลุ่มเจเนอร์ชั่นเอ็กซ์ และกลุ่มเจเนเรชั่นวาย หรือกลุ่มมิลเลนเนียลส์ (Millennials) อย่างไรก็ตาม หากอายุต่ำกว่า 40 ปี ถือว่าเป็นกลุ่มพนักงานอายุน้อย (Younger Workers) ส่วนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ถึงจะเป็นพนักงานที่มีอายุมาก ปัจจุบันกลุ่มมิลเลนเนียลส์มีสัดส่วนมากขึ้น จนเกิดเป็นปรากฎการณ์ในสังคม คือ เป็นกลุ่มขี้เบื่อและจะทำงานอยู่ในบริษัทไม่เกิน 5 ปี จากข้อมูลพบถึงร้อยละ 70 พร้อมจะลาออก ส่วนที่เหลือร้อยละ 30 กำลังมองหางานใหม่

“กลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถหลายด้าน เมื่อมีทางเลือกใหม่จึงพร้อมตบเท้าลาออกได้ทุกเมื่อ ปัจจุบันจึงเกิดปัญหาว่านายจ้างจะทำอย่างไรให้สามารถดึงดูดคนเหล่านี้ให้อยู่ต่อกับบริษัทได้ ขณะเดียวกัน คนที่มีอายุมากก็ยังไม่เกษียณอายุ จึงเกิดปรากฎการณ์คนหลายวัยทำงานในบริษัทเดียวกันมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันนายจ้างไม่สามารถเลือกลูกจ้างได้ กลายเป็นสมัยนี้นายจ้างต้องง้อลูกจ้าง ส่วนลูกจ้างสูงวัยขณะนี้แตกต่างจาก 10 ปีก่อนเดิมลูกจ้างสูงวัยไม่สามารถเปลี่ยนงานได้ แต่ตอนนี้เนื่องจากตลาดแรงงานต้องการผู้ที่มีความสามารถมาก ไม่ว่าวัยใดก็กลับเข้ามาทำงานได้ ส่วนนโยบาย 4.0 เห็นด้วยที่รัฐบาลมีความพยายาม แต่การปฎิบัติไม่เร็วอย่างที่ควรจะเป็น เทคโนโนยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็วต้องสร้างฐานข้อมูลรองรับหุ่นยนต์ที่จะเข้ามาแทนที่คน ส่วนลูกจ้างที่ไม่ปรับพฤติกรรมเรียนรู้ก็ไม่สามารถอยู่ในบริษัทได้ ดังนั้น ต้องพร้อมที่จะพัฒนาตนเองเสมอ” นางศิริยุพา กล่าว

ขณะที่ น.ส.วิไลพร กล่าวว่า กลุ่มมิลเลนเนียลส์เติบโตมาพร้อมเทคโนโลยี สามารถทำงานทุกอย่างผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ เมื่อเข้ามาทำงานยังองค์กร หรือบริษัทจึงคาดหวังว่าจะต้องมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่สนับสนุนการทำงานเหมือนที่เคยใช้ หากบริษัทไม่ตอบโจทย์สิ่งดังกล่าวจะทำให้เด็กรู้สึกอึดอัดและไม่อยากทำงานต่อ ส่วนกลุ่มพนักงานผู้สูงอายุ ปัจจุบันเห็นว่าเริ่มขยายอายุงาน บ้างให้ทำงานเป็นครั้งคราวหรือฝึกเทคโนโลยีเพื่อรักษาบุคลากรที่มีความสามารถไว้ ส่วนกลยุทธ์ที่ต้องดึงดูดพนักงานรุ่นใหม่ให้อยู่กับบริษัทนั้น เนื่องจากลูกจ้างยุคใหม่มีความคาดหวังที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น บริษัทจึงต้องดูแลลูกจ้างเสมือนดูแลลูกค้าของบริษัทให้รู้สึกว่าเป็นบุคลากรที่มีคุณค่า รวมถึงออกแบบโปรแกรมลูกจ้างให้ตอบโจทย์การทำงานของคนรุ่นใหม่

นายสาธิต กล่าวว่า ส่วนอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ เนื่องจากมีความแตกต่างกับอุตสาหกรรมอื่น ส่วนใหญ่องค์กรการแพทย์จะเน้นความเชื่อมั่นของบุคลากร อาทิ จะรักษาอาการ กับแพทย์ที่มีอายุมาก เพราะมีประสบการณ์สูง ดังนั้น ความท้าทายของเฮลแคร์ คือ ต้องรักษาบุคลากรกลุ่มนี้ไว้ ด้วยการฝึกให้พวกเขาเป็นเหมือนกลุ่มมิลเลนเนียลส์ หรือทำให้สังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน (Social Organization Life) ให้ได้ ปัจจุบันกลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไป เริ่มเรียนรู้เทคโนโลยี ใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตและสื่อสารผ่านแอพพลิเคชั่นสมัยใหม่ พบร้อยละ 83 ส่วนองค์กรอื่น จำเป็นต้องให้กลุ่มพนักงานสูงอายุใช้อุปกรณ์ไอทีหรือเรียนรู้เทคโนโลยีให้ได้

“ไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้กลุ่มนี้สามารถเรียนรู้เทคโนโลยีกับบุคคลในครอบครัวได้ง่ายขึ้น เป็นยุคที่ไอทีเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ปัจจุบันกลุ่มเฮลท์แคร์ถูกแบ่งสายอาชีพเป็น 3 ส่วน คือ 1.กลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ หมอและพยาบาล 2.กลุ่มทรัพยากรบุคคลหรือไอที และ 3.กลุ่มทั่วไป มีพฤติกรรมการเปลี่ยนงานน้อยร้อยละ 1 ต่อปีเท่านั้น ไม่เหมือนกลุ่มงานอื่น” นายสาธิต กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image