พบสุสาน 3 พันปี ของกษัตริย์ ‘ไซเธียน’

(ภาพ-copyright Gino Caspari/University of Bern)

ทีมนักโบราณคดีจากสวิสและรัสเซีย นำโดย จิโน คาสปารี นักวิชาการด้านโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเบิร์น ในกรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประสบความสำเร็จในการค้นพบเนินฝังศพที่เป็นแบบฉบับของสุสานชนชาวไซเธียน ในพื้นที่บริเวณตอนใต้ของไซบีเรีย อายุมากกว่า 2,800 ปี ขนาดกว้างกว่าสนามฟุตบอล เชื่อว่าเป็นสุสานไซเธียนโบราณที่ใหญ่ที่สุด เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบกันมา และน่าจะเป็นสุสานของชนชั้นกษัตริย์ หรือเชื้อพระวงศ์

ชนชาติไซเธียน เป็นชนเผ่าเร่ร่อนบนหลังม้า เคยครองอำนาจในพื้นที่กว้างใหญ่ของทุ่งหญ้ายูเรเซียตอนกลางที่เรียกว่า สเต็ปส์ แอนด์ กราสแลนด์ ในช่วงราว 9 ศตวรรษก่อนคริสต์ศักราชเรื่อยมาจนถึงราว 1 ศตวรรษก่อนคริสต์ศักราช คนภายนอกเล่าขานกันว่า ชนเผ่าไซเธียนเป็นนักรบที่น่าหวั่นเกรง เฮโรโดตุส นักประวัติศาสตร์กรีก เคยบันทึกเอาไว้ในช่วง 5 ศตวรรษก่อนคริสต์ศักราช ว่าหลังจากทำศึกได้ชัยชนะ ไซเธียนจะถลกหนังเหยื่อมาใช้ทำเสื้อคลุม และใช้กะโหลกเป็นถ้วยเครื่องดื่ม

เมื่อเป็นชนเผ่าเร่ร่อน ชาวไซเธียนจึงไม่ได้สร้างสิ่งปลูกสร้างใดๆ ดังนั้น สิ่งที่หลงเหลืออยู่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็คือ เนินที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ฝังศพ ซึ่งเรียกกันว่า “คูร์กาน” โดยสร้างเป็นหลุมขนาดใหญ่ จากนั้นใช้ไม้ค้ำยันและคานกระจายเหมือนรัศมีจากศูนย์กลาง แล้วจึงทับด้วยหินและดินจนเป็นเนิน ใช้เป็นสุสานที่มีสิ่งของมีค่าที่ฝังร่วมกับศพ เช่น ทองคำ อัญมณี อาวุธ ถ้วยเครื่องดื่มที่ตกแต่งอย่างสวยงามล้ำค่า ฯลฯ เนื่องจากสุสานเหล่านี้สร้างขึ้นจากดินและหินในพื้นที่ซึ่งเป็นน้ำแข็งถาวร ศพและสิ่งของภายในจึงเหมือนถูกแช่แข็งไว้ผ่านกาลเวลาเนิ่นนาน จนกระทั่งถูกค้นพบ

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เรื่อยมามีการขุดค้นเนินสุสานหลายแห่งในพื้นที่หุบเขาอูยุค ในเมืองทูวา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมองโกเลียเพียงเล็กน้อย ซึ่งได้สมญาว่า “แวลลีย์ ออฟ เดอะ คิง แห่งไซบีเรีย” อุปมาเป็นเหมือนแหล่งสุสานพระศพฟาโรห์สำคัญในประเทศอียิปต์ เนินสุสาน คูร์กาน อาจมีเส้นผ่านศูนย์กลางได้มากถึงกว่า 100 เมตร ภายในอาจเต็มไปด้วยของมีค่า จึงมีการลักลอบขุดหาทรัพย์สมบัติกันมากมาย อย่างเช่น เนินสุสานที่เรียกว่าอาร์ซาน 2 ที่เคยมีการขุดค้นเมื่อราวต้นทศวรรษ 2000 ภายในมีหลุมฝังศพผู้ชายและผู้หญิงเคียงคู่กัน รายล้อมรอบโดยข้าวของที่ทำจากทองคำถึงกว่า 9,000 ชิ้น เป็นต้น

Advertisement

คาสปารีพบเนินสุสานแห่งใหม่ ระหว่างการตรวจค้นภาพถ่ายผ่านดาวเทียมความละเอียดสูงของหุบเขาอูยุค พบสิ่งปลูกสร้างทรงกลมอยู่ใจกลางหนองน้ำที่อยู่ขนานกับแนวลำน้ำอูยุค เมื่อนำทีมนักโบราณคดีสวิส-รัสเซียเดินทางไปตรวจสอบพื้นที่จริงเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา พบว่า เนินสุสานแห่งนี้น่าจะไม่เคยถูกลักลอบขุดมาก่อน เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งยากต่อการเข้าถึง อยู่ห่างจากแหล่งตั้งถิ่นฐานใกล้ที่สุดถึง 5 ชั่วโมงบนเส้นทางทุรกันดารที่ไม่มีถนนหนทางแต่อย่างใด

ในการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของเนินดินใหญ่ถึง 140 เมตร จากการนำเนื้อไม้ซุงที่ทำเป็นคานมาตรวจสอบอายุ พบว่ามีอายุย้อนหลังไปถึง 9 ศตวรรษก่อนคริสต์ศักราช ทำให้กลายเป็นสุสานเก่าแก่ที่สุดและใหญ่ที่สุด

ทีมงานกำหนดเวลาขุดค้นเต็มรูปแบบในปีนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้สุสานเกิดความเสียหายจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิเหนือพื้นที่ไซบีเรียอุ่นขึ้นทุกขณะนั่นเอง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image