สุจิตต์ วงษ์เทศ : สำเนียงหลวงยุคอยุธยา ปัจจุบันเรียกเหน่อ ตกค้างตามท้องถิ่นต่างๆ

สำเนียงโคราช เป็นสำเนียงอยุธยา ตกค้างอยู่ จ. นครราชสีมา (ภาพอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) อ.เมืองฯ จ. นครราชสีมา จาก http://www.koratstartup.com)

เหน่อสุพรรณ สร้างสรรค์ความเป็นไทย สมัยอยุธยา มีความหมายโดยสรุปว่ารัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ใช้ภาษาไทย (สำเนียงเหน่อลาวลุ่มน้ำโขง) ในตระกูลไต-ไท เป็นภาษากลางทางการค้าทางบกกับดินแดนภายใน สถาปนาภาษาไทยและความเป็นไทยในรัฐอยุธยา

กรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่แรกสถาปนา ใช้ภาษาเขมรเป็นหลักสืบจากรัฐละโว้ (ลพบุรี) ทั้งในราชสำนักและในคนทั่วไป นอกนั้นใช้ภาษามอญ, ภาษา มลายู, และอื่นๆ

สำเนียงหลวงจากสุพรรณ

ประชากรรัฐสุพรรณภูมิพูดภาษาไทย (ตระกูลตระกูลไต-ไท) เคลื่อนย้ายไปอยู่ในอยุธยาเป็นเจ้านาย, ขุนนาง, ข้าราชการ, พลไพร่ และประสมประสานกลุ่มคนดั้งเดิมที่อยู่มาก่อน ได้แก่ตระกูลมอญ-เขมร, ชวา-มลายู ฯลฯ

Advertisement

นับแต่นี้ไป สำเนียงเหน่อจากสุพรรณก็กลายเป็นสำเนียงหลวงอยุธยา มีพยานสำคัญได้แก่ เจรจาโขนด้วยลีลายานคางสำเนียงเหน่อ

สำเนียงหลวงยุคอยุธยา ตกค้างอยู่ถึงปัจจุบัน เรียกสำเนียงท้องถิ่นต่างๆ ได้แก่ สำเนียงโคราช, สำเนียงจันทบุรี, สำเนียงระยอง ฯลฯ ผมเคยบอกไว้ในหนังสือ โคราชของเรา สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2558 หน้า 180-183 จะสรุปมาดังนี้

สำเนียงโคราช, เพลงโคราช

Advertisement

สำเนียงโคราช กับเพลงโคราช มีพัฒนาการความเป็นมาโยกย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งในโคราชคราวเดียวกัน จากลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง

สำเนียงโคราช น่าจะมีรากเหง้าเค้าต้นจากสำเนียงหลวงกรุงศรีอยุธยาของคนต้นอยุธยาที่พูดเหน่อ (แบบลาว)

หลัง พ.ศ. 2000 อยุธยาสถาปนาเมืองนครราชสีมา และสร้างกำแพงอิฐ กว่าจะสำเร็จมั่นคงลงหลักปักฐานต้องมีกำลังคนของอยุธยาจำนวนไม่น้อยถูกเกณฑ์ให้เคลื่อนย้ายมาตั้งหลักแหล่งที่แม้จะต่างชาติพันธุ์ เช่น มอญ,เขมร, มลายู

แต่ต้องสื่อสารด้วยภาษาไทย (ในตระกูลภาษไทย-ลาว) ที่มีสำเนียงต่างจากคนไทยใช้พูดทุกวันนี้ ได้แก่สำเนียงสองฝั่งโขง ซึ่งแพร่กระจายอยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามาก่อนนานแล้ว ที่ปัจจุบันเรียกสำเนียงเหน่อ แต่ทางลุ่มน้ำมูลจะเรียกภายหลังว่าสำเนียงโคราช ใกล้เคียงสำเนียงระยองและจันทบุรีทางชายทะเลฝั่งตะวันออก

เพลงโคราชกับเพลงฉ่อยของคนภาคกลางเป็นกลุ่มเพลงเครือญาติ ที่มีต้นตอรากเหง้าเดียวกัน

เพลงโคราชเป็นเพลงโต้ตอบของหญิง-ชาย (ที่นักวิชาการสมัยหลังเรียกด้วยคำบาลี-สันสกฤตให้ยากขึ้นว่าเพลงปฏิพากย์) มีพัฒนาการคราวเดียวกับสำเนียงโคราช

ต่างกันแต่สำเนียงโคราชเป็นร้อยแก้ว ส่วนเพลงโคราชเป็นร้อยกรอง ประเภทกลอนหัวเดียว ฉันทลักษณ์เดียวกันกับเพลงฉ่อยของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง

ในบทไหว้ครูเพลงฉ่อย มีกล่าวถึงครูเพลงโคราชพาดควาย (หมายถึงเพลงโคราชกับเพลงพาดควายเป็นสองเพลง) ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับเพลงฉ่อย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image