จิตวิวัฒน์ โดย : ธัญลักษณ์ ศรีสง่า คุณค่าการอยู่ร่วม : วิถีทางของการสร้างประชาคมอาเซียน

การแสวงหาแนวทางการอยู่ร่วมอย่างเคารพซึ่งกันและกันของผู้คนในภูมิภาคอาเซียน มีความสำคัญมากขึ้น เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์การเคลื่อนย้ายในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มแรงงาน รายงานจากธนาคารโลกเรื่อง “การเคลื่อนย้ายสู่โอกาส การก้าวข้ามอุปสรรคของการเคลื่อนย้ายแรงงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” พบว่าระหว่างปี 2538-2558 มีการเคลื่อนย้ายแรงงานภายในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้น โดยในปี 2558 จำนวนแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคอาเซียน จากประเทศปลายทาง 3 อันดับแรก คือ ไทย (55%) มาเลเซีย (22%) สิงคโปร์ (19%) และจากประเทศต้นทาง 3 อันดับแรก คือ เมียนมา (33%) อินโดนีเซีย (18%) มาเลเซีย (17%) เหตุผลหลักของการเคลื่อนย้ายคือแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า และพบว่าการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติมีผลเชิงบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศปลายทาง เช่น กรณีของไทยหากไม่มีการจ้างงานแรงงานข้ามชาติจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ลดลงร้อยละ 0.75

ข้อมูลของสมาชิกเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และองค์กรที่ทำงานเรื่องแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ แสดงถึงความสำคัญของแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นรูปธรรม โดยพบว่าหลังประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 23 มิถุนายน 2560 แรงงานเมียนมา กัมพูชา และลาว เดินทางกลับประเทศต้นทางไม่ต่ำกว่า 200,000 ราย ซึ่งส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยตรง และทำให้รัฐบาลมีคำสั่ง คสช.ที่ 33/2560 กำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหานี้

เมื่อแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะแรงงานจากกลุ่มประเทศอาเซียนมีความสำคัญทั้งในระดับประเทศและในภูมิภาคอาเซียน ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญนอกจากเรื่องเศรษฐกิจ และกฎหมาย คือ การให้ความสำคัญกับ “คุณค่าการอยู่ร่วม” ระหว่างแรงงานข้ามชาติ และผู้คนในประเทศปลายทาง 15 ธันวาคม 2560 ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จัดวงเสวนาในกลุ่มนักวิชาการ ผู้แทนองค์กรที่ทำงานประเด็นแรงงานข้ามชาติ และผู้แทนแรงงานข้ามชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนถึงแนวทางการพัฒนาองค์ความรู้ด้านคุณธรรมในการอยู่ร่วมกันของผู้คนในภูมิภาคอาเซียน ผู้ร่วมเสวนาได้สะท้อนมุมมองที่น่าสนใจในหลายประเด็น

ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงคุณค่าการอยู่ร่วม โดยยกตัวอย่างสถานการณ์ที่โรงพยาบาลปฏิเสธการรักษาแรงงานข้ามชาติ ว่า เรื่องนี้มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ประเด็นสำคัญคือ ต้องเข้าใจความซับซ้อนของปัญหา และเห็นความสำคัญของการพึ่งพากัน ถ้ามองเฉพาะเรื่องการจัดการแรงงานจะไม่เข้าใจ

Advertisement

สิ่งสำคัญคือ ปรับเปลี่ยนมามองคุณค่าของการอยู่ร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เกิดคำถามใหม่ๆ เช่น ปัญหาอะไรที่เป็นความทุกข์ใจร่วมกัน และจะแก้ไขปัญหาอย่างไรให้ลงตัวกับทุกฝ่าย ซึ่งประเด็นเหล่านี้ทำให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างกันมากขึ้น เปิดให้ทุกคนเป็นเจ้าของเรื่องและนำไปสู่การทำงานเชื่อมโยงกันจากหลายภาคส่วน

คุณบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิจัยอิสระด้านแรงงานและประชาสังคม บอกเล่าประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาและกัมพูชาในพื้นที่สมุทรสาคร ปทุมธานี ชลบุรี และระยอง จากโครงการพัฒนารูปแบบและกลไกเพื่อการเข้าถึงนโยบายหลักประกันทางสังคมที่เหมาะสมสำหรับแรงงานข้ามชาติ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่าพบข้อเสนอที่น่าสนใจต่อการอยู่ร่วมกันของแรงงานไทย กับแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ย่านอุตสาหกรรมที่สามารถนำมาปรับใช้ในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านคุณธรรมในการอยู่ร่วมกันของผู้คนในภูมิภาคอาเซียน ดังนี้

1.การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระหว่างแรงงานข้ามชาติกับแรงงานไทยในพื้นที่ย่านอุตสาหกรรมนั้น บทบาทของสหภาพแรงงานไทยในพื้นที่ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานและด้านแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งองค์กรทางศาสนา เป็นกลไกสำคัญในการสร้างกิจกรรมที่ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์อันนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม

Advertisement

2.การอยู่ร่วมกันของแรงงานทั้งสองกลุ่ม ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์บนความสูญเสียของอีกฝ่าย เช่น การจ้างแรงงานข้ามชาติเข้ามาทดแทนแรงงานไทยในพื้นที่ และทำให้แรงงานไทยตกงาน ดังนั้น การสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อลดอคติด้านชาติพันธุ์ มีเวทีแลกเปลี่ยนของสหภาพแรงงาน และพื้นที่สำหรับสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่เป็นทางการ เป็นเงื่อนไขสำคัญในการคลี่คลายปัญหา

3.ความสัมพันธ์ทางสังคมที่อยู่บนพื้นฐานการแลกเปลี่ยนด้วยเงินตรา ไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญเสมอไปในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข แม้ว่าในทางผลประโยชน์ นายจ้างต้องการแรงงาน ส่วนแรงงานข้ามชาติต้องการรายได้ แต่พบว่ามีนายจ้างจำนวนหนึ่งพยายามจัดสวัสดิการให้แรงงานข้ามชาติ เช่น ที่อยู่อาศัยฟรี การดูแลบุตรหลานด้านการศึกษา การให้รางวัลช่วงเทศกาล ฯลฯ การจัดสวัสดิการเหล่านี้ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน เสมือนเป็น “ครอบครัวเดียวกัน”

4.การผสานระหว่างชุมชนดั้งเดิมกับแรงงานข้ามชาติผู้มาใหม่มิใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยเวลาและการปรับตัวของทุกฝ่าย ดังนั้น การมีกฎ กติกา หรือข้อตกลงร่วมกันของชุมชน ทั้งทางการเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่เป็นทางการรับรู้โดยทั่วไป โดยสมาชิกของชุมชนยินยอมพร้อมใจปฏิบัติตามกฎนั้น จะช่วยจัดการข้อขัดแย้งหรือปัญหาที่เกิดขึ้นภายในชุมชนได้เป็นอย่างดี

5.การสร้าง “สังคมคุณธรรม” ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพราะนโยบายที่ดีเท่านั้น แต่ต้องมาพร้อมกับการสร้างกระบวนการในระดับปฏิบัติการ รวมทั้งการมีพื้นที่สาธารณะของชุมชนเป็นพื้นที่เรียนรู้ระหว่างกันของคนในชุมชนกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เช่น ตลาด วัด สนามเด็กเล่น โรงเรียน สำนักงานองค์กรแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน

คุณสมพงษ์ สระแก้ว มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน Labor Rights Promotion Network) เล่าวิธีการทำงานของ LPN ว่า “คิดได้ก็ทำไปก่อน” ใช้ต้นทุนทางสังคมแปลงเป็นรูปธรรม สิ่งสำคัญของการทำงานช่วงแรก คือ ทัศนคติ ปรับความคิดให้คนคิดบวก เริ่มจากเชิญพี่น้องแรงงานข้ามชาติมาคุย เชิญนักข่าวมาคุย เน้นการทำงานต่อเนื่อง คุยกันระหว่างผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้บังคับใช้กฎหมาย

ธงหรือเป้าหมาย คือการอยู่ร่วมกันของผู้คนในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งการอยู่ร่วมกันมีคำใหญ่ที่ภาครัฐไม่ค่อยได้ใช้ คือ 1.หลักมนุษยธรรม หลักคุณธรรม 2.หลักสิทธิมนุษยชน 3.พหุวัฒนธรรม 4.หลักความมั่นคง/หลักกฎหมาย 5.หลักคุณค่าของมนุษย์/จิตอาสา ซึ่งทั้ง 5 ประเด็นนี้ประเทศไทยเกี่ยวข้องทั้งหมด

LPN พยายามพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นการสร้างมาตรฐานของการอยู่ร่วมกัน และตั้งเป้าหมายว่าภายใน 3 ปีจะมีจิตอาสาข้ามชาติ 1,000 คน และจะเป็นศูนย์เรียนรู้ (Learning Center) ปัจจุบัน LPN ทำหนังสือพิมพ์รายปักษ์ แจกฟรี ชื่อ Mynmar Live พิมพ์ครั้งละ 50,000 เล่ม มีภาคธุรกิจในไทยที่ต้องการเปิดตลาดกลุ่มแรงงานข้ามชาติให้ทุนสนับสนุน เช่น บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ บริษัทให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศ เนื้อหาในหนังสือพิมพ์เป็นเรื่องสาระบันเทิง โดยทีมแจกหนังสือพิมพ์มาจากฝ่ายการตลาดและอาสาสมัคร

คุณสมพงษ์เสนอทิศทางการพัฒนาองค์ความรู้ด้านคุณธรรมในการอยู่ร่วมกันของผู้คนในภูมิภาคอาเซียนว่า ควรเริ่มจากการศึกษาและรวบรวมองค์ความรู้จากองค์กรที่ทำงานในประเด็นนี้ ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย เพื่อหาจุดที่จะเชื่อมต่อการทำงาน โดยองค์ความรู้นี้สามารถนำไปสนับสนุนงานทั้งในเชิงนโยบาย และสื่อสารสาธารณะ

คุณ Min Tun ชาวเมียนมาที่ทำงานกับ LPN เล่าถึงงานที่ทำว่า ให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแรงงานชาวเมียนมาที่ทำงานในไทย ช่องทางการสื่อสารที่สำคัญ คือสื่อสังคมออนไลน์ หลักของ LPN คือสร้างกลุ่มขึ้นมาและให้คำปรึกษา เรียนรู้ร่วมกันจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์

คุณ Min Tun ตั้งข้อสังเกตว่าถึงแม้จะมีประเด็นปัญหาเกิดขึ้นหลายเรื่อง แต่แรงงานเมียนมายังคงมาทำงานในไทยอย่างต่อเนื่อง แสดงว่าต้องมีเรื่องที่ดี และเสนอว่าการเชื่อมโยงให้เห็นคุณค่าการอยู่ร่วมกันของแรงงานเมียนมาร์และคนไทยผ่านพื้นที่วัด น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่ง เพราะชาวเมียนมาให้ความสำคัญกับการเข้าวัดทำบุญ

เรื่องราวที่แลกเปลี่ยนจากวงคุยนี้จึงยืนยันถึงความสำคัญของคุณค่าการอยู่ร่วมกันในฐานะที่เป็นกระบวนการเสริมสร้างประชาคมอาเซียน ที่อยู่บนหลักของความเข้าอกเข้าใจ ความรู้สึกร่วมทุกข์ร่วมสุขของผู้คนในภูมิภาคนี้ ซึ่งการสร้างประชาคมในรูปแบบนี้มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และการเมือง

ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image