บทความวสิษฐ เดชกุญชร เรื่องพลังงาน พลังงาบ กับพลังเงียบ

ผมขอรับว่าผมเป็นผู้หนึ่งที่ไม่ค่อยสนใจกับข่าวการชุมนุมประท้วงของกลุ่มต่างๆ ในสมัยนี้นัก อาจเป็นเพราะว่าการชุมนุมมีมากและบ่อยเกินไป จำนวนผู้ชุมนุมก็น้อย แม้จะพยายามโฆษณาว่ามีเป็นร้อยเป็นพัน และเรื่องที่ชุมนุมนั้นผมก็เห็นว่าหยุมหยิมไม่มีสาระ ไม่เกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชน รวมทั้งปากท้องของผมด้วย

แต่การชุมนุมของเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ ที่เรียกย่อว่า คปป.นั้น เป็นที่สนใจสำหรับผมเสมอมา ที่สนใจก็เพราะว่าเลขาธิการของ คปป.คือพันโทแพทย์หญิงกมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี นั้นเคยร่วมกับผมต่อต้านระบอบทักษิณสามานย์มาด้วยกัน เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ผมนับถือและชื่นชมความกล้าหาญและเสียสละเพื่อส่วนรวมของท่าน

ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2558 คปป.ได้เป็นตัวตั้งตัวตีในการประท้วงและขอให้ยุติการแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ซึ่งกระทรวงพลังงานเป็นผู้ชิงตัดหน้าเสนอโดยตรงต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่รอผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติตั้งขึ้นเพื่อศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติทั้งสองฉบับ

เรื่องปิโตรเลียมหรือเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นที่จริงเป็นเรื่องใกล้ตัว ทุกคนทุกครัวเรือนต้องใช้น้ำมัน แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครสนใจที่จะรู้เรื่องเบื้องหลังนัก คปป.เป็นกลุ่มที่ติดตามและเปิดเผยเรื่องเบื้องหลังมาโดยตลอด ทำให้รู้ว่าปริมาณปิโตรเลียมในเมืองไทยนั้นมีมากกว่าที่รู้กัน คือในการขุดเจาะ 100 หลุมพบปิโตรเลียมถึง 39 หลุม มากพอที่จะสร้างความมั่งคั่งให้แก่เมืองไทยได้ แต่ปรากฏว่าผู้ที่ได้ประโยชน์จากปิโตรเลียมคือกลุ่มผู้ที่ได้รับสัมปทาน เช่น บริษัทเพิร์ลออย (ประเทศไทย) บริษัท เชฟรอนออฟชอร์ (ประเทศไทย) และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) เท่านั้น เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่าบริษัทเหล่านี้ บางบริษัทจดทะเบียนที่เกาะเวอร์จินและเกาะเคย์แมน สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นแหล่งฟอกเงินสากล

Advertisement

คปป.พบพิรุธหลายประการในร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ที่กระทรวงพลังงานเสนอคณะรัฐมนตรี เช่น มีการเสนอให้ลดภาษีปิโตรเลียมจากร้อยละ 50-60 เป็นร้อยละ 20 ซึ่งจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปเป็นแสนๆ ล้านบาท และจะทำให้กลุ่มผู้ได้สัมปทานกลุ่มเดิมได้ต่ออายุสัมปทาน นอกจากนั้นร่างกฎหมายใหม่นี้ยังประกาศเกณฑ์กำหนดพื้นที่จัดสรรปิโตรเลียมโดยถือการตรวจพบปิโตรเลียมที่รายงานโดยเอกชนซึ่งสูงผิดปกติ เพื่อมิให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตหรือจ้างผลิตที่จะทำให้รัฐได้ประโยชน์มากที่สุด อีกทั้งยังไม่มีข้อกำหนดที่จะทำให้ปิโตรเลียมเป็นประโยชน์แก่ประชาชน เช่น ไม่มีการกำหนดราคาน้ำมันและแก๊สที่ผลิตในประเทศที่ควรจะต่ำกว่าราคาในตลาดโลก และไม่มีการจัดสรรรายได้จากปิโตรเลียมให้เป็นผลประโยชน์แก่ประชาชนในรูปของรัฐสวัสดิการด้วย

อนึ่ง ในร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงานนั้น ปรากฏว่าได้มีการเพิ่มคำว่า “แบ่งปันผลผลิต” เข้าไปด้วย แต่ไม่ใช่ระบบแบ่งปันผลผลิตอย่างที่นิยมใช้กันทั่วโลก และร่างกฎหมายฉบับที่กล่าวยังไม่ส่งเสริมการแข่งขันอย่างแท้จริง ขาดความโปร่งใสในการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล ไม่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่สำคัญก็คือไม่ได้จัดให้มีการปรับปรุงจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อชุมชน และไม่แก้ไขอุดช่องโหว่ของกฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดินด้วย

การประท้วงของ คปป.ได้ทำเป็นรูปจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี มีผู้มีชื่อเสียงร่วมลงนามหลายคน อาทิ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิตและอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผมเองก็ได้ร่วมลงนามด้วย

Advertisement

หลังจากที่ได้รับจดหมายประท้วงแล้ว รัฐบาลได้ขอให้ คปป.ส่งประเด็นของการคัดค้านไปให้ และ คปป.ก็ได้ส่งเป็นหนังสือให้เมื่อวันที่ 1 เดือนนี้ (กุมภาพันธ์ 2561) แล้ว

ขณะที่เขียนเรื่องนี้ ยังไม่มีการพบและอภิปรายประเด็นของการคัดค้านระหว่างกระทรวงพลังงานและ คปป. อาจารย์หมอกมลพรรณกับแกนนำของ คปป.จำนวนหนึ่งยังนั่งและนอนคอยอยู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image