Why We Post : เหตุผลของโซเชียลมีเดีย : ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

หลังจากที่โลกอยู่กับเฟซบุ๊กมา 13 ปี, ยูทูบมา 12 ปี และทวิตเตอร์มา 11 ปี ก็ดูเหมือนว่าโลกจะพัฒนาความรู้ความเข้าใจที่มีต่อโซเชียลมีเดียจนถึงระดับหนึ่ง หากเปรียบเป็นปูน ก็คงเป็นปูนที่เริ่มแห้ง ความคิดเห็นที่โลกมีต่อโซเชียลมีเดียถูกตบซ้าย-ขวา-ขึ้น-ลง ผ่านทางเหตุการณ์ใหญ่ๆ อย่างอาหรับสปริงหรือการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา ตามผลลัพธ์และบริบทของสังคมในช่วงนั้นๆ วันหนึ่ง เราอาจเคยเชื่อว่าโซเชียลมีเดียเป็นผู้กุมธงที่เขียนคำว่าสิทธิเสรีภาพไว้ แต่อีกวัน เราก็กลับเห็นความจริงอีกด้านว่าโซเชียลมีเดียกลับเป็นผู้หักโค่นและฉีกธงผืนนั้นจนขาดวิ่นด้วยตนเอง

ผมเชื่อว่าหากให้คุณลองเติมประโยคว่า “สำหรับฉัน โซเชียลมีเดียนั้น…” แต่ละคนก็คงมีคำตอบแตกต่างด้วยเหตุผลหลากหลาย ตั้งแต่ “ทำให้คนแตกแยกกัน” “ทำให้เสียงส่วนน้อยมีที่ยืน” “เป็นเครื่องมือของระบอบทุนนิยม” “เปิดพื้นที่ให้ถกเถียงได้หลากหลาย” ไปจนถึง “ถูกทักษิณซื้อไปแล้ว!” (อันหลังนี่ไม่เกี่ยว), ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย, ทั่วโลกเองก็มีแนวโน้มที่จะต้องกลับมาทบทวนความสัมพันธ์ของสังคมกับโซเชียล
มีเดียอยู่เรื่อยๆ

นี่อาจเป็นสาเหตุให้เรามีงานวิจัยและงานศึกษาเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียมากมาย เพราะขณะที่โซเชียลมีเดียส่งผลต่อสังคม สังคมก็ส่งผลต่อโซเชียลมีเดียเช่นเดียวกัน การโต้ตอบสะท้อนกลับไปกลับมาเช่นนี้ย่อมมีผลกระทบต่างๆ ในแบบที่จับตรงไหน ทั้งในแกนของเวลา แกนของพื้นที่ และแกนของเรื่องราว มาพูด ก็ดูน่าสนใจ

ทีมนักวิจัยจาก UCL (University College London) พยายามศึกษาโซเชียลมีเดียอีกครั้งด้วยการให้นักสังคมศาสตร์ 9 คน ไปใช้ชีวิตอยู่ใน 9 สังคมทั่วโลกเป็นเวลา 15 เดือน 9 สังคมที่พวกเขาไปขลุกอยู่ด้วยนั้นประกอบด้วย ประเทศอังกฤษ อิตาลี ตุรกี อินเดีย ชิลี บราซิล ตรินิแดด จีนตอนเหนือ และจีนตอนใต้

Advertisement

ในงานวิจัยชื่อ Why We Post พวกเขาพบข้อสรุป 15 ข้อ ที่บางข้อก็น่าประหลาดใจและขัดกับความเชื่อที่มีอยู่เดิม ในขณะที่บางข้อก็ชวนให้เรามองในเรื่องที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ตัวอย่างข้อที่น่าสนใจ เช่น

โซเชียลมีเดียไม่ได้ทำให้เราเป็นปัจเจกมากขึ้น พวกเขาบอกว่า “ความเชื่อดั้งเดิมที่เป็นที่นิยมคือ การคิดว่าโซเชียลมีเดียจะทำให้เราเป็นปัจเจกและหลงตัวเองมากขึ้น” แต่พวกเขากลับพบข้อโต้แย้งว่า “อันที่จริงแล้วโซเชียลมีเดียกลับถูกใช้เพื่อทำให้ฐานสังคมแบบดั้งเดิมนั้นเหนียวแน่นขึ้น และสำหรับกลุ่มที่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน โซเชียลมีเดียก็ช่วยประสานสัมพันธ์ให้ด้วย ตัวอย่างเช่น คนงานเหมืองในชิลีที่ต้องทำงานห่างจากบ้านเป็นเวลานานๆ ก็ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อติดต่อกับครอบครัวและสังคมของพวกเขาอยู่เรื่อยๆ

ในตุรกีหรือในบราซิล ก็พบกรณีศึกษาที่โซเชียลมีเดียช่วยประสานสัมพันธ์ระหว่างคนที่ไม่พูดกันต่อหน้าในโลกจริง แต่ไปใช้โซเชียลมีเดียส่งข้อความถึงกันออนไลน์ด้วย หรือในจีนในพื้นที่ชนบท พวกเขาก็พบว่า “โซเชียลมีเดียเป็นกิจกรรมแบบกลุ่ม ที่คนหนุ่มสาวแบ่งปันกันใช้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน และมักจะแชร์พาสเวิร์ดซึ่งกันและกัน”

Advertisement

สำหรับบางกลุ่มแล้ว โซเชียลมีเดียไม่ได้มาแย่งความสนใจไปจากการศึกษา แต่มันคือการศึกษาเลยทีเดียว ในหลายโรงเรียนทั่วโลก (รวมถึงในประเทศไทย) มักมีความเชื่อว่าการใช้โซเชียลมีเดียนั้นเป็นคู่ตรงข้ามของการศึกษา และเพื่อการเรียนรู้ที่ดีแล้ว เราควรแบนโซเชียลมีเดียออกจากโรงเรียน แต่ในหลายประเทศ ทีมวิจัยก็พบว่าโซเชียลมีเดียกลับเป็นสื่อสำหรับศึกษาเลยทีเดียว เช่น ในบราซิลที่ใช้ยูทูบเป็นสื่อสำคัญเพื่อเรียนรู้ในด้านต่างๆ

ในภาคส่วนอุตสาหกรรมในจีน ทีมวิจัยพบว่าคนงานมักไม่สนใจในการศึกษาในสถาบัน แต่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นแหล่งการเรียนรู้ทักษะและแหล่งข้อมูล

ความเท่าเทียมบนโลกออนไลน์ไม่ได้เท่ากับความเท่าเทียมในโลกออฟไลน์ โซเชียลมีเดียถูกมองว่าเป็นเครื่องสร้างความเท่าเทียม ทำให้เสียงที่เคยแผ่วเบา ดังขึ้นจนมีคนได้ยิน แต่ทีมวิจัยก็พบว่าความเท่าเทียมบนโลกออนไลน์นี้อาจไม่ได้แปลผลเป็นความเท่าเทียมบนโลกจริง เช่น คนในอินเดียตอนใต้ที่เห็นค่าของโซเชียลมีเดีย แต่พวกเขาก็ไม่คิดว่ามันจะส่งผลอะไรต่อความเหลื่อมล้ำที่พวกเขาเผชิญนัก หรือในตุรกี ที่ผู้หญิงสามารถแสดงออกในโลกออนไลน์ได้มากขึ้น เพราะอยู่ไกลหูไกลตาครอบครัว แต่ว่าในโลกออฟไลน์ก็ยังไม่เห็นผลข้อนี้นัก ในตรินิแดดเอง โซเชียลมีเดียก็ทำให้เกิดการสร้างภาพ ว่าตนเป็นชนชั้นสูง (อาจคล้ายกับไทย ที่โพสต์รูปแสดงถึงสถานะร่ำรวย หรือใช้ชีวิตดีต่างๆ) แต่การโพสต์ภาพว่ารวย ก็ไม่ได้สะท้อนกลับมาทำให้รวย หรือเลื่อนชั้นได้ในชีวิตจริง

โซเชียลมีเดียสาธารณะนั้นเป็นอนุรักษนิยมเช่นกัน เราอาจคิดว่าโซเชียลมีเดียที่เป็น “สื่อใหม่” นั้นย่อมมีความคิดใหม่ๆ เป็นความคิดหัวก้าวหน้าไปด้วย แต่ทีมวิจัยพบว่า ในทางสาธารณะ (เช่น บนพื้นที่เฟซบุ๊กแล้ว) โซเชียลมีเดียทั่วโลกมักมีแนวโน้มไปทางอนุรักษนิยมมากกว่า ในขณะที่ในทางส่วนตัว (เช่น พื้นที่แชต อย่างไลน์ หรือ Whatsapp) นั้นอาจมีความคิดหัวก้าวหน้ามากกว่าพื้นที่สาธารณะ ทีมวิจัยเสนอว่า “พื้นที่โซเชียลมีเดียส่วนตัวนี้อาจถูกใช้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้จริง” ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นก็หมายความว่า การรณรงค์แบบ “ส่งต่อๆ กันในพื้นที่ส่วนตัว” อาจใช้ได้ผลกว่าการรณรงค์แบบแปะประกาศไว้ให้ทุกคนเห็นในหน้าวอลล์

ยังมีข้อสรุปจากงานวิจัยอีกหลายข้อที่น่าสนใจ เช่น ประเภทของเซลฟี่ (ที่ไม่ได้มีแบบเดียว) การทำหน้าที่เป็น ตำรวจจริยธรรม  “ของมีม และอื่นๆ”    ซึ่งผู้สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของงานวิจัย http://www.ucl.ac.uk/why-we-post

โซเชียลมีเดียศึกษาเป็นแขนงวิจัยที่มีพลวัตสูงมาก ข้อสรุปในวันนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ในวันรุ่งขึ้นเมื่อปัจจัยเปลี่ยนไป ผู้ทำงานกับโซเชียลมีเดีย (ซึ่งอันที่จริง ในยุคนี้ก็อาจหมายถึง ทุกคน”) จึงควรพร้อมปรับเปลี่ยนตัวเองให้เท่าทันต่อการแสดงความหมาย และการถอดรหัสบนพื้นที่แห่งนี้อย่างสม่ำเสมอ

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image