การแก้ปัญหาเงินบาทแข็ง ไม่ใช่เรื่องทำได้ง่าย : สมหมาย ภาษี

เงินบาทของไทยได้แข็งตัวขึ้นมามากนับตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว และมีทีท่าว่าจะแข็งยิ่งขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นปี 2561 นี้ จนเป็นเรื่องบ่นกันมากของบรรดาผู้ส่งออกทั้งหลาย ทำให้ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ และกระทรวงการคลังต้องปวดเศียรเวียนเกล้าไปด้วยถึงกับมีความเห็นต่างกันให้พ่อค้าประชาชนได้ยินได้ฟังเป็นระยะๆ ทำให้บรรดาผู้ส่งออกซึ่งอยู่วงนอกต่างฉงน แต่ก็ยังพยายามเรียกร้องให้ผู้รับผิดชอบแก้ไขโดยไม่รู้ว่าการแก้ไขค่าเงินบาทแข็งของไทยนั้นจะทำได้ยากง่ายอย่างไร

ทางแบงก์ชาติโดยผู้ว่าการหนุ่มนั้นก็พยายามออกมาตรการแก้ไขให้เห็นบ้าง เช่น มาตรการเพิ่มวงเงินให้เอกชนขนเงินไปลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น ซึ่งมาตรการนี้น่าจะเป็นมาตรการเดียวที่ทำได้ แต่ก็ทำเป็นอุบเอาฟอร์มว่ายังมีอย่างอื่นอีก ซึ่งจริงๆ แล้วไม่มีมาตรการใดๆ ของแบงก์ชาติที่จะทำในระยะสั้น หรือแม้ในระยะกลางช่วงหนึ่งปี ให้ทำได้อีกแล้ว

มาตรการให้เอกชนไทยขนเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นนั้น ว่าตามข้อเท็จจริงแล้วไม่ได้ผลในระยะสั้นหรือในหนึ่งปีได้เท่าใดนัก เพราะคนไทยไปลงทุนในต่างประเทศนั้นนับหัวได้มีไม่เท่าไหร่ราย และการขนเงินลงทุนตามตัวเลขที่แบงก์ชาติกำหนดโดยไม่ต้องไปขออนุญาตเป็นพิเศษนั้น ไม่ค่อยจะมีผลไปลดเงินทุนสำรองเท่าไหร่ แต่รายการลงทุนพิเศษเช่นไปซื้อทีมฟุตบอลแพงๆ หรือไปซื้อกิจการใหญ่ๆ ของต่างประเทศนั้นเอกชนที่จะไปลงทุนต้องใช้เวลาคิด ใช้เวลาจ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ตลอดจนระดมเงินทุนก็ใช้เวลาเป็นปีแล้ว กว่าจะทำเสร็จเงินบาทอาจจะหยุดแข็งเพราะปัจจัยอื่นจากภายนอกไปแล้วก็ได้

มาตรการที่แบงก์ชาติพอจะช่วยทำให้บาทอ่อนลงได้เป็นการชั่วคราวที่พอมีอยู่ก็คือการเข้าไปแทรกแซงโดยตรง โดยแบงก์ชาติต้องระบายเงินดอลลาร์สหรัฐหรือเงินตราต่างประเทศอื่นบางสกุลออกไปในตลาดเงินต่างประเทศ ซึ่งก็จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับแบงก์ชาติเอง ถ้ายิ่งไปทำในช่วงแบบนี้ก็จะโงหัวไม่ขึ้น ภาวะของแบงก์ชาติในขณะนี้
จึงกลืนไม่เข้าคายไม่ออก นอกจากนี้การเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทโดยตรงของธนาคารกลางนั้น พึงต้องระวังอย่างมากกับการเก็งค่าเงินบาทของนักค้าเงินทั้งหลายไม่ว่าไทยหรือเทศ ดีไม่ดีผู้รับผิดชอบจะเดือดร้อนแต่ผู้เดียว

Advertisement

สำหรับกระทรวงการคลังที่ทำตัวไปจุ้นจ้านในเรื่องบาทแข็งนั้น จริงๆ แล้วไม่เคยทำมาตรการที่ถูกต้องและดีได้เลย ถ้าจะพอมีหนทางบ้าง ก็ต้องทำเรื่องเสียๆ หายๆ ให้กระทบเศรษฐกิจไทยมากๆ หรือเรื่องอะไรก็ได้ที่ทำให้นักลงทุนต่างประเทศต้องเผ่นกระโดดหนีหายไปจากประเทศไทย นั่นแหละจึงจะทำให้เงินบาทอ่อนได้เร็วทันใจ

เพราะฉะนั้น ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงการคลังขออย่าได้เสนอหน้ามาพูดเรื่องบาทแข็งอีกเลย

ขอให้ท่านผู้อ่านหันมาดูต้นเหตุของบาทแข็งในเร็วๆ นี้กันบ้าง อย่างข่าวหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับที่ลงข่าวเมื่อวันที่ 23 มกราคมนี้ว่า การส่งออกปี 2560 ทุบสถิติถึง 2.36 แสนล้านบาท โต 9.9% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา คือนับตั้งแต่ก่อนที่จะมีรัฐบาล คสช.เสียอีก และส่งผลให้ในปี 2560 ที่เพิ่งผ่านไปนี้ประเทศไทยเกินดุลการค้าถึง 13,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดนั้นยิ่งเกินดุลมากกว่านี้อีกเยอะ ตอนนี้มีข่าวว่าปี 2560 ที่ผ่านมานี้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร่วม 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

Advertisement

สาเหตุของบาทแข็งนอกจากการส่งออกที่ดีขึ้น ที่เห็นกันชัดๆ อีกประการหนึ่งก็คือ การปรับตัวที่สูงขึ้นของตลาดหุ้นไทยทั้งในด้านราคาหุ้นและมูลค่าของซื้อขาย ท่านผู้อ่านคงจำได้ว่าดัชนีตลาดหุ้นของไทยได้ทำลายสถิติของตลาด โดยดัชนีได้ผ่าน 1.753 จุด ซึ่งเป็นจุดสูงสุดที่เคยได้ยินเมื่อวันที่ 4 มกราคม ปี 2537 แต่ในการซื้อขายหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 27 เดือนธันวาคม 2560 นี้เอง ได้มีการปรับตัวดีขึ้นของตลาดหุ้นไทยผ่านดัชนีสูงสุดเมื่อปี 2537 และที่เห็นตลาดมีดัชนีเหนือ 1,800 จุด ในช่วงมกราคมนี้ กล่าวได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากผลงานของ ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอีกส่วนหนึ่งมาจากการปรับตัวที่ดีขึ้นของตลาดหุ้นทั่วโลกโดยเฉพาะตลาดในภูมิภาคเอเชีย ที่พอจะให้เครดิตรัฐบาล คสช.ได้บ้าง คือ การประกาศวันเลือกตั้งใหญ่ในเดือนพฤศจิกายน 2561 แต่เพิ่งถูกเลื่อนออกไปอีก 3 เดือน เมื่อวันที่ 25 มกราคมนี้ ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นปั่นป่วนกันพอสมควร น่าจะแถลงมาให้ชัดว่าต้องเลื่อนออกไปอีกสักปี จะได้หยุดบ่นเรื่องบาทแข็งอย่างถาวรได้ให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย

นอกจากสาเหตุดีขึ้นของตลาดหุ้นแล้ว ปรากฏว่าตลาดตราสารหนี้ของไทยก็ดีขึ้นมาก เมื่อมาดูตัวเลขการถือครองพันธบัตรของรัฐบาลและของธนาคารแห่งประเทศไทยของนักลงทุนต่างชาติตามข้อมูลของสมาคมตราสารหนี้ไทย พบว่า ในสิ้นเดือนธันวาคม 2559 มียอดการลงทุน 543,065 ล้านบาท และในสิ้นเดือนธันวาคม 2560 มียอดการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 663,280 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 22% และยอดการลงทุนเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 นี้ ได้เพิ่มขึ้นเป็น 677,434 ล้านบาท ยอดการถือครองพันธบัตรของทางการไทยโดยนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะหลังนี้ ก็คือการไหลเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรของไทย โดยนักลงทุนต่างชาติที่เห็นว่าเมืองไทยได้เข้าสู่วงจรของการเลือกตั้งอย่างจริงจังประการหนึ่ง และเห็นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวจริง และค่าเงินบาทแข็งแถมอัตราดอกเบี้ยไม่ต่ำนักนั่นเอง

เงินตราต่างประเทศจึงไหลเข้าประเทศเรามาก เป็นการเพิ่มเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยอีกทางหนึ่ง จึงทำให้ค่าเงินบาทของไทยยิ่งแข็งขึ้นไปอีก

เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมามีการประชุมเรื่องเศรษฐกิจโลกครั้งสำคัญที่เรียกว่า “เวิลด์อีโคโนมิก ฟอรั่ม” (WEF) ซึ่งจัดขึ้นปีละครั้งที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในการประชุมนี้รัฐมนตรีคลังของสหรัฐอเมริกา นายสตีเวน มนูชิน ได้พูดชัดว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกำลังอยู่ในทิศทางที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งตัวประธานาธิบดีทรัมป์เองก็เคยกล่าวปราศรัยในหลายโอกาสว่าดอลลาร์กำลังแข็งค่ามากเกินไป ซึ่งผู้รู้ในเรื่องตลาดเงินหลายคนได้ตีความว่านี่คือสิ่งบ่งบอกหรือเป็นสัญญาณว่าต่อไปนี้สหรัฐจะเดินนโยบายดอลลาร์อ่อน เมื่อเห็นกันชัดเจนอย่างนี้ เงินบาทก็คงจะต้องแข็งค่าขึ้นไปอีกในอนาคตเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

มาถึงขั้นนี้ ท่านผู้อ่านที่รู้เรื่องเศรษฐกิจพอสมควรก็คงรู้และเข้าใจดีว่าบาทแข็งเกิดขึ้นเพราะเหตุใดมากน้อยอย่างไร จากปัจจัยหรือต้นเหตุของบาทแข็งที่กล่าวข้างต้น เริ่มจากการส่งออกที่ดีดตัวดีขึ้น ตลาดหุ้นที่คึกคักเพราะดัชนีตลาดหุ้นพุ่งขึ้นเหมือนวัวกระทิงเปลี่ยว และตลาดตราสารหนี้ที่ทุนต่างชาติแห่กันมาลงทุนเพิ่มขึ้นๆ ทุกเดือน ดังนั้นถ้าบรรดาผู้ส่งออกทั้งหลายอยากจะเห็นบาทอ่อน ก็อยากจะถามว่าท่านผู้ส่งออกทั้งหลายพร้อมจะยอมให้ปัจจัยที่ทำให้บาทแข็งทั้งหลายเปลี่ยนทิศทางไปในทางตรงกันข้ามหรือไม่ ให้การส่งออกลดต่ำลงเหมือน 3-4 ปีที่แล้ว ตลาดหุ้นซบเซาดัชนีเหลือแค่ 1,300-1,400 จุด ตลาดตราสารหนี้เฉาลงเพราะผู้ลงทุนต่างประเทศแห่กันขายทิ้ง ท่านยอมรับภาวะแบบนี้ได้ไหมครับ

ถ้ายอมรับไม่ได้ ก็อย่าได้ร้องแรกแหกกระเชอมากนัก ประเทศไทยเราไม่สามารถหามาตรการมาทำให้บาทแข็งง่ายๆ หรอก ถ้าหากรัฐบาลนี้ไม่ลากยาวโรดแมปออกไปอีก 1-2 ปีหรือถ้าหากไม่มีนายพลทหารบ้าบิ่นอยากดังที่คิดจะทำการปฏิวัติรัฐบาล คสช. เป็นต้น

ถ้าเชื่อว่าจะไม่มีสิ่งเหล่านี้อีกในช่วงขวบปีข้างหน้าที่คนไทยต้องรอคอยด้วยความอึดอัดและอารมณ์ขุ่นมัว ก็อย่าเพิ่งพูดมากหรือบ่นมากในเรื่องบาทแข็ง

ตามข้อเท็จจริงในอดีตประเทศเล็กๆ ไม่สามารถหากลไกมาบังคับหรือโน้มน้าวค่าเงินของตนเองได้ ยกเว้นประเทศมหาอำนาจที่เงินตราของเขามีอิทธิพลต่อตลาดการเงินของโลกมากเท่านั้น ขอยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น แม้เงินเยนของเขาไม่ได้ยิ่งใหญ่เท่าเงินดอลลาร์ของสหรัฐ แต่ด้วยนโยบายการบริหารการเงินที่ลึกซึ้งแยบยลของรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งแต่อดีตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจอย่างมากในการบริหารการเงินและการลงทุนของเขาให้เข้มแข็งด้วยนโยบายรักษาอัตราดอกเบี้ยต่ำ พร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมทุกรูปแบบอย่างจริงจังแบบต่อเนื่อง ไม่มีการขาดตอน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่จำต้องมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่ว่ารัฐบาลพรรคไหนขึ้นมาบริหารประเทศ

ขอเล่าสั้นๆ แบบสรุปให้ฟังว่า ประเทศญี่ปุ่นเขาทำได้อย่างไร รัฐบาลเขาทุกพรรคต่างเดินตามแนวทางการรักษาอัตราดอกเบี้ยต่ำเท่านั้นไม่พอ เขาสนับสนุนทุกวิถีทางให้บริษัทเอกชนของเขาไปลงทุนระยะยาวในต่างประเทศทั่วทุกมุมโลกอย่างยั่งยืน ซึ่งนับเป็นเงินลงทุนมหาศาลมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ การลงทุนในต่างประเทศของญี่ปุ่นนับถึงวันนี้ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญในการค้ำจุนเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด นอกจากการสนับสนุนภาคเอกชนแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นยังนำเงินเยนของตนไปลงทุนเองในต่างประเทศทั่วโลก ลงทุนอย่างไรครับ เพราะอัตราดอกเบี้ยของเงินเยนต่ำ ญี่ปุ่นจึงให้ภาครัฐผ่าน JETRO, JBIC หรือ OECF ในสมัยก่อน ไปให้ความช่วยเหลือและจัดเงินกู้ให้แก่ประเทศยากจนที่กำลังพัฒนาแทบทุกประเทศ

ดูของประเทศไทยเราจะสามารถเห็นกันได้ชัด สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานครทุกสะพานที่สร้างในช่วง 30 ปี ตั้งแต่ปี 2500-2550 สร้างด้วยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากญี่ปุ่นทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาด้านพลังงาน ด้านคมนาคมขนส่ง (เช่นสนามบินสุวรรณภูมิ) ด้วยเกษตรชลประทาน ตลอดทั้งด้านการศึกษาและสาธารณสุข ญี่ปุ่นจัดเงินกู้ให้ประเทศไทยเรามากกว่าทุกสถาบัน ไม่ว่าธนาคารโลก (IBRD) หรือธนาคารพัฒนาเอเซีย (ADB) ยังสู้ญี่ปุ่นไม่ได้ เขาให้กู้เป็นเงินกู้ระยะยาว 20-40 ปี ซึ่งไม่ใช่ให้เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ประเทศที่ความเจริญเติบโตช้าแบบประเทศไทย รัฐบาลญี่ปุ่นให้กู้แบบเดียวกัน

ให้กู้แล้วเงินกู้เหล่านี้ไปไหน ก็ต้องไหลกลับเข้าไปประเทศญี่ปุ่นทั้งต้นและดอกเบี้ยอย่างยั่งยืน

ทีนี้ก็มาวิเคราะห์ดูให้ลึก ประเทศญี่ปุ่นเขาก็จะมีความสามารถดูแลบริหารค่าเงินเยนของเขาให้เสถียรได้ไม่ยาก ยามที่เงินเยนแข็ง รัฐบาลเขาก็ผลักดันให้มีการจัดเงินกู้ออกไปให้มาก ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ส่วนในภาคเอกชนเขาก็จัดสนับสนุนให้เอกชนนำกำไรที่ทำได้นอกประเทศไปลงทุนอยู่ในเมืองนอกต่อไป ไม่ต้องนำกลับเข้ามา รวมทั้งเงินทุนใหม่ที่จะสามารถเพิ่มให้ได้ก็จะถูกผลักดันให้ไปลงทุนในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั่วโลกให้มากขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นเขาจึงสามารถดูแลค่าเงินเยนของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีศักดิ์ศรี

นโยบายเช่นที่กล่าวมาของญี่ปุ่นนี้ยังเป็นนโยบายสำคัญในการจ้างงานคนญี่ปุนและเพิ่มผลผลิตของสินค้าให้สามารถส่งออกไปขายยังต่างประเทศได้อย่างเสถียรและมีประสิทธิผล รัฐบาลญี่ปุ่นเขาจะทำให้ไปในทิศทางใดก็ได้ เพราะมีเครื่องไม้เครื่องมือดีที่ถูกวางรากฐานมานานอย่างต่อเนื่อง ผิดกับประเทศไทยเรา เกิดเรื่องการส่งออกตกต่ำก็แหกปากร้องลูกเดียว เกิดเรื่องเงินบาทแข็งก็เอาแต่ตะแบงไปวันๆ หนึ่ง ไม่มีใครสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ เพราะรัฐบาลเราไม่มีทั้งเครื่องมือหรือมาตรการมาแก้ปัญหา แถมยังไม่ค่อยมีปัญญาอีกด้วย

เมื่อเร็วๆ นี้ แจ็ก หม่า พูดถึงเมืองไทยว่า ทุกประเทศอยากให้สินค้าในบ้านตัวเองแพง เช่น อาหรับอยากให้น้ำมันแพง ญี่ปุ่นอยากให้เนื้อโกเบแพง ยกเว้นประเทศไทย อยากให้สินค้าที่ตนเองผลิตราคาถูก

สมหมาย ภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image