สาวออฟฟิศ ระวัง! ภัยเงียบ ‘เนื้องอกในมดลูก’

เมื่อได้ยินชื่อ “เนื้องอกในมดลูก” ก็อาจทำให้สาวๆ ทั้งหลายตกใจหรือมีความกังวลอยู่มิใช่น้อย แต่จริงๆแล้วโรคนี้ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะการตรวจพบตั้งแต่แรก ย่อมรักษาได้เร็วกว่าและปลอดภัยกว่า

พญ.จิติมา ติยายน นายแพทย์ชำนาญการงานมะเร็งนรีเวช กลุ่มงานสูตินรีเวชศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี อธิบายว่า เนื้องอกในมดลูกเป็นเนื้องอกธรรมดา ไม่ใช่เนื้อร้าย (มะเร็ง) เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการชัดเจน เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว มีขนาดเล็กและไม่อันตรายใดๆ พบมากในผู้หญิงวัยทำงาน อายุ 30-40 ปี หรือ 20-25% คิดเป็น 1 ใน 4 ที่ต้องเจออย่างแน่นอน อาทิ ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วแต่ยังไม่มีบุตร ผู้หญิงที่น้ำหนักตัวมาก เป็นต้น กลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงคือ 1.กรรมพันธุ์ ถ้าคนในครอบครัวเคยเป็นเนื้องอกในมดลูกก็มักจะมีโอกาสเป็นเพิ่มมากขึ้น 2.การรับประทานอาหารจำพวกเนื้อหรือเนื้อแดง (ตัวเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดเนื้องอกในมดลูกได้สูงขึ้น)

“โรคเนื้องอกในมดลูกมีอาการเด่นๆ คือ ปวดท้องประจำเดือนมากกว่าปกติ มีเลือดออกมากระหว่างรอบเดือน ปัสสาวะบ่อยขึ้นแต่ออกไม่มาก มีอาการท้องผูกผิดปกติ”

Advertisement

พญ.จิติมากล่าวอีกว่า ความรุนแรงของอาการไม่ส่งผลถึงขั้นเสียชีวิต แต่จะมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เลือดออกมากผิดปกติตอนมีประจำเดือน หรือถ้ามีการกดเบียดของก้อนเนื้อก็จะทำให้เกิดอาการปวดท้องขึ้นได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือรบกวนการทำงานได้

“ปัญหาของผู้ป่วยโรคนี้ คือ มักไม่ใส่ใจไปตรวจ เพราะคิดว่าเป็นแค่อาการปวดประจำเดือนธรรมดา และบางส่วนมีความเขินอายที่จะมาพบแพทย์เพื่อตรวจภายใน ถึงแม้ว่าอาการโรคเนื้องอกในมดลูกไม่มีอันตรายถึงชีวิต แต่จากสถิติผู้ป่วยที่เป็นนี้ 1,000 คน จะพบว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งได้ 1 คน ซึ่งส่วนมากมักพบในผู้หญิงอายุ 50-60 ปีขึ้นไป ดังนั้น สาวๆ ควรสังเกตอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง ควรตรวจสุขภาพ และตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ หรือเมื่อพบว่ามีความผิดปกติควรไปพบแพทย์ทันที”

ทั้งนี้ การรักษาโรคเนื้องอกในมดลูก อันดับแรกจะรักษาตามอาการ อาจจะด้วยการให้ฮอร์โมน แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น ก็จะทำการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลราชวิถีมีการพัฒนาเทคโนโลยี ด้วยการการผ่าตัดส่องกล้องผ่านทางช่องคลอด ทำให้คนไข้ไม่มีแผลหน้าท้องเลย ใช้เวลาในการพักฟื้น 2-3 วัน สำหรับการดูแลตัวเองหลังการรักษา ควรงดกิจกรรมหนัก 2 สัปดาห์ ดูแลแผลผ่าตัด และกลับมาตรวจติดตามอาการตามนัดของแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามผลการรักษา

Advertisement

สังเกตอาการ และอย่าอายที่จะไปพบแพทย์ เพราะรักษาแต่เนิ่นๆ ดีกว่าปล่อยให้ลุกลามจนแก้ไขไม่ได้

พญ. จิติมา ติยายน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image