จิสด้าสร้างดาวเทียมต้านภัยคุกคามประเทศ ไทยทำเองงบพันล้านเข้า ครม.พรุ่งนี้

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เดินทางมาตรวจเยี่ยมความพร้อมของจิสด้าด้านการจัดการภารกิจอวกาศของประเทศ ใช้เวลาประมาณ 1 ชม.

พล.อ.อ.ประจินให้สัมภาษณ์ว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 6 กุมภาพันธ์ จิสด้าจะเสนอแผนการสร้างดาวเทียมเพื่อความมั่นคงของประเทศ คือโครงการดาวเทียมเพื่อการพัฒนาระบบเฝ้าระวังวัตถุทางอวกาศ และภัยทางอวกาศของประเทศไทย ที่จะสร้างโดยฝีมือคนไทยขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อจัดการกับภัยคุกคามทางอวกาศ ทั้งเรื่องขยะอวกาศ วัตถุอวกาศ ที่มีนับแสนชิ้น และตกลงมาใส่ประเทศเรื่อยๆ มีทั้งเรื่องบังเอิญและจงใจ รวมทั้งมีแนวโน้มที่แต่ละประเทศจะมีการแข่งขันพัฒนาด้านอวกาศ รวมทั้งภัยคุกคามที่จะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาส เพราะต้องไม่ลืมว่าในอวกาศขณะนี้มีดาวเทียมเถื่อนที่ไม่รู้ว่าเป็นของใคร และประเทศไหนยิงขึ้นสู่วงโคจรมากกว่าพันดวง ที่สำคัญประเทศมหาอำนาจ เช่น รัสเซีย จีน สหรัฐอเมริกา ก็มีการยิงดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรโดยใช้รูปแบบทางทหารส่งขึ้นไปคุมดาวเทียมของคนอื่นถ้ารู้ว่าดาวเทียมดวงนั้นทำหน้าที่จารกรรมข้อมูลก็จะทำลายทันที ดังนั้นประเทศไทยต้องมีการพัฒนาเรื่องนี้ให้ทันกับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น

ประธานคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติกล่าวต่อว่า ดาวเทียมที่ไทยจะสร้างขึ้นจะมีขนาดไม่ใหญ่ น้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัม ยิงขึ้นสู่วงโคจรในระดับความสูง 500-600 กิโลเมตร งบประมาณในการดำเนินการประมาณ 1,000 ล้านบาท ใช้เวลาประมาณ 4 ปี จึงสามารถยิงขึ้นสู่วงโคจรได้ ถ้า ครม.เห็นชอบในหลักการจะสามารถดำเนินการได้เลย โดยดาวเทียมดวงนี้ยังสามารถพัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมด้านอวกาศให้เกิดขึ้นด้วย ขณะที่ความพร้อมของบุคลากรก็มีการเตรียมการรองรับอยู่แล้ว ขณะนี้จิสด้าร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ประเทศจีน ผลิตบุคลากรด้านสารสนเทศเพื่อรองรับทั้งดาวเทียมและบุคลากร พร้อมที่จะดำเนินการได้ภายในปี 2564

ด้านนายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่า ดาวเทียมเพื่อการพัฒนาระบบเฝ้าระวังวัตถุอวกาศฯเป็นดาวเทียมที่ยังไม่มีประเทศไหนทำ ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศนั้น ประเทศไทยจะต้องทำในสิ่งที่ยังไม่มีประเทศไหนทำ ซึ่งเวลานี้ประเทศไทยมีนวัตกรรมอวกาศ หลายอย่างที่ประเทศอื่นยังไม่สามารถทำได้ เช่น ระบบควบคุมดาวเทียมทั้งระบบที่สามารถมองเห็นทุกอย่างภายในหน้าจอเดียว หรือระบบ vossca ซึ่งนวัตกรรมนี้จะทำให้ลดความผิดพลาดในการควบคุมดาวเทียมได้ ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยากจะเห็นดาวเทียมฝีมือคนไทยภายใน 2-3 ปีนี้ และขณะนี้จิสด้าได้ร่วมกับกองทัพอากาศจัดทำระบบติดตามดาวเทียมที่ดอยอินทนนท์ แต่ยังถ่ายภาพได้ไม่ชัด ไม่สามารถถ่ายภาพการโคจรของดาวเทียมดวงอื่นได้ เพราะดาวเทียมบางดวงมีการเคลื่อนไหวเร็วมาก ดังนั้นดาวเทียมฝีมือคนไทยจะมีการพัฒนาเพื่อให้ถ่ายภาพการโคจรของดาวเทียมดวงอื่นให้ชัด เพื่อเฝ้าระวังการคุกคาม เชื่อว่าถ้าดาวเทียมดังกล่าวเกิดขึ้น จะทำให้ประเทศไทยมีบาทบาทในเวทีโลกเกิดขึ้นได้

Advertisement

ผู้อำนวยการจิสด้ากล่าวด้วยว่า นอกจากนี้เวลานี้จิสด้ายังได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นชื่อ บำเพ็ญ ใช้สำหรับบริหารจัดการ การปล่อยบั้งไฟ ตะไล และโคมลอย ที่สร้างปัญหาให้ระบบการบินมาก โดยเฉพาะโคมลอยที่สามารถปล่อยสูงจากระดับพื้นดินได้มากถึง 7-8 กิโลเมตร บั้งไฟ 9-10 กิโลเมตร ขณะที่เครื่องบินก็บินที่ระดับความสูง 9-10 กิโลเมตร ถือว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกันในบางช่วง และหลายครั้งโคมไฟก็เคยหลุดเข้าไปในเครื่องบินเพราะคนปล่อยกันจำนวนมาก และปล่อยไม่เป็นเวลา โดยไม่คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบการบินและชีวิตของผู้โดยสารเครื่องบิน ดังนั้นต้องมีการควบคุม จัดระเบียบโคมลอย บั้งไฟ และตะไล ว่าจุดไหน ควรปล่อยเวลาไหน โดยจะนำร่องที่ จ.ยโสธร ในเดือนมีนาคม ที่มีเทศการบั้งไฟ และจากนั้นจะรณรงค์ที่ จ.เชียงใหม่ ต่อ เนื่องจากปัจจุบันการปล่อยโคมลอยทำกันตลอดทั้งปี สร้างความกังวลให้ประชาชนผู้ใช้เครื่องบินโดยสารอย่างมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image