“กาแฟดอยช้าง”เจอสวมรอยแบรนด์ ขายเมล็ดกาแฟเกลื่อนตลาดราคาต่ำ พณ.แนะแจ้งเอาผิดเชือดไก่ให้ลิงดู

นายปณชัย พิสัยเลิศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดอยช้าง คอฟฟี่ ออริจินอล จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกาแฟตราดอยช้าง เปิดเผยว่า บริษัทได้พบเห็นว่ามีผู้แอบอ้างและสวมรอยนำแบรนด์ดอยช้างไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งแอบอ้างในลักษณะแขวนป้ายหน้าร้านขายกาแฟสด และอ้างว่าใช้เมล็ดกาแฟของดอยช้าง ซึ่งพบเห็นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น ยุโรป สหรัฐ จีน เป็นต้น ทั้งนี้ ต่อปีบริษัทสามารถผลิตเมล็ดกาแฟ (กาแฟสาร) ได้ประมาณ 2,000 ตัน จากสมาชิก 1,000 ครัวเรือน ที่เป็นชาวเขาปลูกบนดอยช้าง ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย แต่ที่พบเห็นและประเมินเบื้องต้นพบใช้กาแฟสารแบรนด์ดอยช้างในตลาดรวมถึง 4,000-5,000 ตัน

“เคยเดินทางไปต่างประเทศ แล้วเห็นกับตาว่า บางประเทศในยุโรป มีร้านกาแฟบางร้านขึ้นป้ายว่าขายกาแฟดอยช้าง เรารู้ว่าที่นี่ไม่ได้ส่งเมล็ดกาแฟไปขาย รวมถึงร้านกาแฟบางแห่งในจีน ในไทยเคยเข้าไปพูดคุยกับร้านกาแฟที่แอบอ้างใช้ชื่อและขอให้ถอดป้ายออก ซึ่งกาแฟสารของดอยช้างราคากว่า 1,000 กว่าบาทต่อกิโลกรัม แต่ที่แอบอ้างใช้ชื่อขายที่100-300 บาทต่อกิโลกรัม” นายปณชัย กล่าว

นายปณชัย กล่าวอีกว่า กาแฟดอยช้างเป็นกาแฟอราบิก้าชนิดพิเศษ (สเปเชียล คอฟฟี่) ที่ปลูกเฉพาะบริเวณดอยช้างเท่านั้น มีกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำได้มาตรฐานสากลและได้รับตรารับรองจากหลายแห่ง เช่น ได้รับการจดทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ในสหภาพยุโรป และเป็นสินค้าจีไอในไทยด้วย จึงเป็นห่วงว่าหากมีการแอบอ้างใช้ชื่อกาแฟดอยช้างทั้งในและต่างประเทศต่อไปเรื่อยๆ จะกระทบกับชื่อเสียงของบริษัท และอาจกระทบไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ที่อาจจะได้รับความเดือนร้อน ไม่ใช่เฉพาะกับกาแฟดอยช้างเท่านั้น กาแฟไทยหลายตัวหลายแบรนด์ของไทย ได้รับการยอมรับว่าเป็นกาแฟดีและมีคุณภาพ ซึ่งอาจมีคนอื่นแอบอ้างใช้ชื่อในลักษณะเดียวกันนี้ได้

ปัจจุบันการเพาะปลูกกาแฟของบริษัท ปลูกบนพื้นที่ดอยช้างประมาณ 30,000 ไร่ ให้ผลผลิตเป็นกาแฟสารเฉลี่ยปีละประมาณ 2,000 ตัน แต่คาดว่าปี 2561 ผลผลิตจะลดลงเหลือ 1,000 ตัน ซึ่งมั่นใจว่าจะไม่กระทบ การป้อนผลผลิตให้กับร้านขายกาแฟสดที่เป็นสาขาของบริษัทเอง และร้านกาแฟแฟรนไชส์ทั้งในและต่างประเทศ เพราะมีสต๊อกกาแฟสารของปีการผลิตก่อนหน้ารองรับกับความต้องการได้ ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายขยายร้านกาแฟแฟรนไชส์ดอยช้าง ให้ครบ 200 สาขา ภายใน 5 ปี จากปัจจุบัน มีร้านสาขาที่บริษัทดำเนินการเองในประเทศอยู่ 20 กว่าสาขา และปีนี้ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจะเปิดในธนาคารอีก 30-40 สาขา
ส่วนร้านแฟรนไชส์ที่เปิดแล้วทั้งในและต่างประเทศสาขามี 50 สาขา และจะเปิดสาขาในเกาหลีใต้อีก 30 สาขา ผลผลิตของกาแฟสารใช้ในประเทศและส่งออกอย่างละ 50% โดยได้ส่งกาแฟสารคั่วและกาแฟสารดิบให้กับร้านเครือข่าย และตัวแทนจำหน่าย ในต่างประเทศเช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ลาว กัมพูชา ญี่ปุ่น จีน และแคนาดา เตรียมจะขยายไปยังสหรัฐอเมริกา และยุโรปอีก

Advertisement

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เมื่อมีร้านไม่ได้รับสิทธิ์แอบอ้างว่าเป็นเมล็ดกาแฟดอยช้างที่เป็นสินค้าจีไปใช้ สิ่งแรกที่เจ้าของสิทธิ์หรือบริษัทควรต้องดำเนินการคือ แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในประเทศนั้นๆที่มีการละเมิดก่อน และหน่วยงานภาครัฐของไทยที่เกี่ยวข้องก็จะเข้าไปช่วยดำเนินการให้มีการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ยกตัวอย่างในไทย จะต้องมีการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพาตำรวจลงพื้นที่ไปยังร้านกาแฟที่แอบอ้างใช้จีไอกาแฟดอยคำ รวมถึงหากพบร้านแอบอ้างใช้เครื่องการค้าติดป้ายกาแฟดอยช้าง ทางเจ้าของสิทธิ์สามารถแจ้งไปยังร้านที่แอบอ้างให้ปลดป้ายลง อาจจะทำไม่กี่รายเพื่อให้เป็นตัวอย่างก่อน

นางประภาภรณ์ คัมภิรานนท์ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า บริษัท ดอยช้าง คอฟฟี่ ออริจินอล จำกัด เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ากาแฟดอยช้าง ร้านกาแฟที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายทางการค้านี้ก็จะไม่สามารถใช้ได้ จะต้องมีการทำบันทึกหนังสือไปยังเจ้าของร้านนั้นๆที่ไม่ได้รับอนุญาตในประเทศให้นำป้ายและตราสินค้าออก ส่วนในต่างประเทศต้องตรวจสอบสิทธิ์ก่อนว่ามีผู้ขอจดเครื่องหมายการค้านี้ก่อนหรือไม่ ส่วนการดำเนินการทางกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นกับแต่ละประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยสามารถให้คำแนะนำการดำเนินการได้ ส่วนกาแฟดอยช้างที่ได้รับจดเป็นสินค้าจีไอทั้งในไทยและในสหภาพยุโรปนั้นตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องได้รับการคุ้มครอง ผู้เป็นเจ้าของสิทธิ์สินค้าจีไอสามารถดำเนินการฟ้องร้องผู้ที่ละเมิดหรือแอบอ้างได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image