‘หมอธี’ ติดตามปัญหาอินเตอร์เน็ต ร.ร.

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตนได้ลงพื้นที่ประชุมติดตามการใช้อินเทอร์เน็ตในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ในพื้นที่จ.ระยอง จันทบุรี และตราด ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ ทั้งนี้ส่วนตัวต้องการเห็นสภาพจริงของปัญหา พร้อมรับฟังข้อเสนอและความต้องการการช่วยเหลือต่าง ๆ ซึ่งนอกจากจะมาในฐานะรัฐมนตรีแล้ว ยังมาในนามครม.ลงพื้นที่ก่อนการประชุม ครม.สัญจรด้วย ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินงานด้านการศึกษา และตนได้รายงานการปรับปรุงระบบอินเตอร์เน็ตในสถานศึกษาต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยได้รับความชื่นชมที่งานมีความก้าวหน้า และดีใจกับเด็ก ๆ ที่จะมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใช้ในทุกโรงเรียน ส่วนศธ.มีหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาของประเทศอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยในยุคนี้จะไม่สั่งอะไรจากส่วนกลาง ต้องการให้ผู้ปฏิบัติและพื้นที่มีส่วนร่วมช่วยกันจัดการศึกษา ส่วน ศธ.จะลดงานที่ไม่จำเป็น และจะไม่ทำตัวเป็นอุปสรรคขัดขวาง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงและการใช้อินเตอร์เน็ต ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุด คือการแก้ไขปัญหาตามหลักสากล จุดใดมีปัญหาก็แก้ตรงนั้น ดังเช่นการยกเเลิก MOENet พร้อม ๆ กับเปิดโอกาสให้สถานศึกษาได้เลือกเครือข่ายสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ดีและเหมาะสมกับบริบทได้เอง ส่วน ศธ.จะเร่งปรับปรุงระบบโครงสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ให้เข้าไปยังโรงเรียนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

“จากการรับฟังรายงานการใช้อินเตอร์เน็ตของสถานศึกษา สพฐ. ในสังกัด 7 เขตพื้นที่การศึกษา คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) จันทบุรี เขต 1-2, สพป.ระยอง เขต 1-2, สพป.ตราด, สพม.17-18 มีสถานศึกษา 560 แห่ง, ห้องเรียน 7,472, ครู 10,085 คน และบุคลากร 305 คน และมีนักเรียน 184,740 คน โดยใช้เครือข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตประกอบด้วย UNINet 237 แห่ง, TOT 378 แห่ง, CAT 47 แห่ง, 3BB 98 แห่ง, TRUE 15 แห่ง และอื่นๆ 6 แห่ง มีค่าใช่จ่ายรวมทั้งสิ้น 1,156,084.40 บาททั้งนี้ มีโรงเรียน 4 แห่ง ที่ยังไม่มีระบบอินเทอร์เน็ตให้ใช้ โดยโรงเรียนบ้านคลองครก เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ ซึ่งจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาล-ม.3 เดิมใช้อินเทอร์เน็ตระบบดาวเทียมต่อสัญญาณกับ MOENet แต่พบปัญหาสัญญาณไม่เสถียร การรับส่งข้อมูลล่าช้า ไม่สามารถใช้สื่อทันสมัยช่วยในการเรียนการสอน นักเรียนขาดการสืบค้นหาความรู้ใหม่ ๆ โรงเรียนจึงได้แก้ปัญหาเบื้องต้นโดยการกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากสมาร์ทโฟนของครู เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊ค ซึ่งมีค่าใช้จ่ายถึง 10,000 บาทต่อเดือน โดยขณะนี้โรงเรียนได้ร่วมกับทุกภาคส่วนในชุมชนเพื่อเดินสายไฟเบอร์ออฟติกและขอเช่าสัญญาณจากภาคเอกชนแล้ว”นพ.ธีระเกียรติกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image