ประชาชนกระเพื่อมแรงต้าน จับชีพจร คสช. ในวันที่ ‘คนอยากเลือกตั้ง’

สถานการณ์การเมืองภาคประชาชนกลับมาคุกรุ่นอีกรอบ หลังการเมืองในสภาส่งสัญญาณชัดว่ายังไม่พร้อมเลือกตั้งปลายปีตามที่สัญญาไว้

นำมาสู่การรวมตัวประท้วงส่งสัญญาณว่าประชาชนไม่เห็นด้วย

หลังการเลือกตั้งถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีก จนคิดว่าโรดแมปล่าสุดควรจะเป็น “โรดแมปสุดท้าย” ที่รัฐบาลนี้ให้คำมั่นสัญญา เมื่อเวลาล่วงเลยมาหลายปี

แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อเป็นที่ชัดเจนว่าการเลือกตั้งต้องขยายไปอย่างน้อย 90 วัน

Advertisement

สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับพูดว่า “ไม่เคยสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งวันใด แต่สัญญาว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เป็นไปตามโรดแมป” (29 มกราคม 2561)

ท่ามกลางความผิดหวังทั้งจากภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ที่หวังเห็นการเมืองที่มีเสถียรภาพช่วยดึงดูดการลงทุน

แม้จะมีเสียงท้วงติงจากนานาชาติทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรป ที่หวังเห็นเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2561 ตามที่สัญญาไว้ แต่ก็ไม่อาจทำให้การเลื่อนเลือกตั้งชะงักลงได้

กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยชุมนุมเรียกร้องเลือกตั้งที่สกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน (27 ม.ค.)

‘เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน’

นับแต่รัฐประหารพฤษภาคม 2557 ก็มีการส่งสัญญาณหรือให้คำสัญญาว่าจะมีการเลือกตั้งเรื่อยมา กลายเป็นโรดแมปที่เลื่อนแล้วเลื่อนอีก

โรดแมป 1 หลังยึดอำนาจ 1 สัปดาห์ พล.อ.ประยุทธ์แถลงว่าจะมีโรดแมป 3 ขั้น โดยระยะที่ 3 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายในปี 2558 แล้วจัดการเลือกตั้ง

เดือนกรกฎาคม 2557 สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ชี้แจงกับผู้แทนอียูว่าสามารถจัดการเลือกตั้งได้เร็วสุด ในเดือนตุลาคม 2558

พฤศจิกายน 2557 พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธกระแสข่าวว่าจะมีการเลื่อนเลือกตั้งไปกลางปี 2559 ยืนยันโรดแมปเลือกตั้งภายใน 1 ปี (2558)

โรดแมป 2 มิถุนายน 2558 วิษณุ เครืองาม เผยว่า เลือกตั้งน่าจะมีช่วงเดือนสิงหาคม 2559 หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ผ่านประชามติ

โรดแมป 3 กันยายน 2558 รัฐธรรมนูญร่างแรกถูก สปช.คว่ำ พล.อ.ประยุทธ์แจงต่อ บัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ว่าจะประกาศวันเลือกตั้งได้ภายในกลางปี 2560

มกราคม 2559 มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เผยว่าอาจเลื่อนเลือกตั้งไปปลายปี 2560 เหตุพิจารณากฎหมายลูกไม่ทัน

โรดแมป 4 เมษายน 2560 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ คำนวณตามกรอบเวลากฎหมายแบบเต็มเพดาน จะเกิดการเลือกตั้งกันยายน 2561 แต่ถ้าอยากให้มีเลือกตั้งช้า สนช.ตีตกกฎหมายลูกแล้วร่างใหม่ การเลือกตั้งจะเลื่อนได้ถึงปี 2562 หรือนานกว่านั้น

ส่วน “มีชัย ฤชุพันธุ์” ยืนยันว่าเลือกตั้งแน่ปลายปี 2561 “หากไม่เกิดสงครามโลกเสียก่อน”

ต้นเดือนตุลาคม 2560 หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์เข้าพบ โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างชื่นมื่น ก็เผยว่าจะประกาศวันเลือกตั้งใจปี 2561 อย่างแน่นอน

จากนั้นก็กลับมายืนยันว่า “ไม่ต้องการหน่วงเวลาอะไรทั้งสิ้น” จะประกาศเลือกตั้งมิถุนายน 2561 และเลือกตั้งพฤศจิกายน 2561 อันเป็นโรดแมปล่าสุดที่ให้สัญญามั่น

ที่สุดแล้ว แม้ไม่มีสงครามโลกอย่างที่ “มีชัย” บอก ในเดือนมกราคม 2561 สนช.ก็มีมติขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. ส่งผลให้เลือกตั้งเลื่อนไป 90 วัน

ณ เวลาปัจจุบัน เดือนกุมภาพันธ์ 2561 ปีที่ 4 ของการรัฐประหาร ประชาชนไทยยังไม่สามารถแน่ใจได้ว่า เดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะมีเลือกตั้งจริงหรือไม่ หลังมีการแก้ไข พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ส.ว.ส่อเค้าเป็นตัวแปรทำให้เลือกตั้งเลื่อนไปอีก

แสดงออกคัดค้านการดำเนินคดีกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่ลานหน้าสยามพารากอน

ดำเนินคดีเข้ม ‘กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง’

หลัง สนช.ยกมือให้ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ผ่านฉลุย กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ก็นัดรวมตัวประชาชนที่อยากเลือกตั้ง โดยมองว่า “เป็นมุขของ คสช.ในการเพิ่มเวลาหาเสียงของตัวเอง เพื่อจะได้สืบทอดอำนาจต่อ”

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มคนที่มาเป็นนักศึกษาและประชาชนกลุ่มเดิมที่เคลื่อนไหวต่อต้าน คสช. นับแต่การรัฐประหาร ซึ่งการนัดชุมนุมในระยะหลังมานี้มีบรรยากาศผ่อนคลายขึ้นบ้าง เมื่อสามารถจัดรวมตัวกันได้ ในการจับตาของเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบ โดยมาแสดงสัญลักษณ์แล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน

รังสิมันต์ โรม นักกิจกรรม บอกว่าออกมาแสดงพลังเพื่อส่งสัญญาณให้ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้รับรู้ว่าประชาชนไม่ต้องการให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปอีกแล้ว และการเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ตามที่ประกาศไว้

โดยมีอีกข้อเรียกร้องคือการปลด พล.อ.ประวิตร ดังที่ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ให้เหตุผลว่า เมื่อรัฐบาลบอกจะมาปราบโกง แต่กลับเกิดกรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร

“กรณีนี้ เป็นนักการเมืองในระบอบพูดแบบนี้ จะอยู่ต่อไปได้หรือไม่”

ต่อมา ฝ่ายกฎหมาย คสช.ได้แจ้งความดำเนินคดีแกนนำ 7 ราย คือ รังสิมันต์ โรม, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว, ณัฏฐา มหัทธนา, อานนท์ นำภา, เอกชัย หงส์กังวาน, สุกฤษฏ์ เพียรสุวรรณ และเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน และยุยงปลุกปั่น ตาม ป.อาญา มาตรา 116

พร้อมคำสัมภาษณ์ของ “ผบ.ตร.” ยืนยันชัดว่าอะไรที่ผิดกฎหมายต้องดำเนินการทั้งหมด จะจุดยืนเรื่องส่วนตัว รับงานใครมา ก็ต้องดำเนินการ และสั่งตรวจสอบ “ท่อน้ำเลี้ยง”

ที่เพิ่มเติมคือ มีการดำเนินคดีผู้ชุมนุมเพิ่มเติมรวม 39 ราย เหตุขัด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะและขัดคำสั่งคสช. โดยเตรียมเรียกอีก 66 คน รวมถึงมีการดำเนินคดี ม.116 กับวีระ สมความคิด และสมบัติ บุญงามอนงค์ เพิ่มในวันที่ผู้ชุมนุมเข้าพบพนักงานสอบสวน

ก่อนวันรายงานตัวของผู้ร่วมชุมนุม ณัฏฐา มหัทธนา มาแสดงออกที่ลานหน้าสยามพารากอน ปิดปากร้องเพลงชาติในความเงียบเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง คัดค้านการดำเนินคดีผู้ชุมนุม และแสดงความอึดอัดที่ถูกทำให้เงียบมากว่า 4 ปี

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความเคลื่อนไหวจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติการตั้งข้อหาผู้ชุมนุม และแสดงความกังวลในเสรีภาพการแสดงความเห็น อาทิ สภานักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, สโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์, สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา, สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, สภานิสิตจุฬาฯ

จนถึงองค์กรสิทธิมนุษยชน แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ แถลงการณ์ให้ยกเลิกการดำเนินคดีทันที

“การดำเนินคดีกับนักเคลื่อนไหวที่ประท้วงต่อต้านระบอบปกครองของทหารอย่างสงบโดยรัฐบาลทหารไทย แสดงให้เห็นว่าไม่มีความจริงใจที่จะผ่อนคลายการปราบปรามทางการเมือง”

และยังบอกว่า “ในแต่ละวันที่ผ่านไป ที่พลเอกประยุทธ์และรัฐบาลทหารพยายามสืบทอดอำนาจตนเอง ก็ยิ่งส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อประชาชนชาวไทยผู้ต้องสูญเสียสิทธิขั้นพื้นฐานของตนไป”

ผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดีมาขอเลื่อนวันรับทราบข้อกล่าวหา เพื่อรวบรวมหลักทรัพย์ประกันตัว แต่ไม่ได้รับอนุญาต และตำรวจเตรียมออกหมายเรียกครั้งที่ 2 (2 ก.พ.)
กิจกรรมเดินมิตรภาพ

‘วีวอล์ก’ ชี้ปัญหารอบด้าน

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่เกิดขึ้นควบคู่กันมา เมื่อ กลุ่ม People GO Network จัดกิจกรรม “We walk เดินมิตรภาพ” จากกรุงเทพฯ ถึงขอนแก่น 20 มกราคม-17 กุมภาพันธ์ ใช้การเดินเท้าเพื่อส่งเสียงให้เห็นว่ามีปัญหาใน 4 ประเด็น 1.สิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน 2.ความมั่นคงทางอาหารและการจัดสรรทรัพยากร 3.บัตรทอง หลักประกันสุขภาพ และรัฐสวัสดิการ 4.รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเครือข่ายที่รวมกลุ่มคนทำงานด้านต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก

หลังออกสตาร์ตที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตัวแทนกลุ่ม 8 คนก็ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

แต่ต่อมาศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยมิให้เจ้าหน้าที่ตำรวจขัดขวางการใช้เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ และให้อำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยแก่ผู้ร่วมชุมนุมจนถึงวันสิ้นสุดการชุมนุม

อย่างไรก็ดี คดีขัดคำสั่ง คสช.ของ 8 ตัวแทนกลุ่มยังคงอยู่ระหว่างการดำเนินการ

ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ หนึ่งในตัวแทนกลุ่มที่ถูกกล่าวหาขัดคำสั่ง คสช. เผยว่า กิจกรรมนี้ต้องการให้ประเด็นปัญหาที่ถูกหมักหมม ละเลย หรือทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน ได้เป็นที่สนใจในสังคมไทย

“หากสังคมไทยเห็นว่ามีความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาจะนำไปสู่การแก้ไข ผ่านการมีส่วนร่วมของคนที่เป็นเจ้าของปัญหาที่แท้จริง ไม่ได้เกิดจากการจินตนาการของคนกลุ่มเล็กน้อยและใช้อำนาจที่มีอยู่ในมือแก้ปัญหาไปตามอำเภอใจหรือตามที่ตัวเองคิดว่าใช่ ซึ่งตามจริงแล้วไม่ใช่ และที่ผ่านมามีการกีดกันคนที่เป็นเจ้าของปัญหาและคนที่เกี่ยวข้องออกไปจากการมีส่วนร่วมอย่างสิ้นเชิง” ผศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว

8 ตัวแทนเครือข่าย People Go Network เข้ารับทราบข้อกล่าวหาขัดคำสั่ง คสช. (31 ม.ค.)

แตะเบรกขาลง จับตา 10 ก.พ.

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ การเลือกใช้ “ไม้หนัก” จัดการกลุ่มผู้ชุมนุมถือเป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่ง ในห้วงที่รัฐบาลกำลังอยู่ในช่วง “ขาลง”

สัญญาณเด่นชัดจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่เตือนว่า “ขณะนี้นายกรัฐมนตรีใช้กองหนุนไปเกือบหมดแล้ว”

แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการจับกุมคุมขังผู้ต่อต้าน คสช.หลายคดี โดยเฉพาะในห้วงปีแรกของการรัฐประหาร แต่ระยะหลังมานี้บรรยากาศทางการเมืองเริ่มผ่อนคลายขึ้นบ้าง เมื่อกระบวนการร่างกฎหมายเดินมาถึงขั้นตอนท้ายๆ ก่อนจะนำไปสู่การเลือกตั้ง

แต่การดำเนินคดีผู้ที่ออกมาชุมนุมล่าสุดที่สกายวอล์กนี้ต่างไป เพราะนอกจากจะมีการดำเนินคดีแกนนำแล้ว ยังมีหางเลขไปถึง “ผู้ร่วมชุมนุม” หลายสิบคน ที่ส่วนใหญ่เป็น “ลุง-ป้า” ที่ตามเข้าร่วมกับกลุ่มนักศึกษาเรื่อยมา

ตั้งใจหรือไม่ ย่อมสร้างความหวาดหวั่นให้แก่ผู้ที่ตั้งใจจะมาร่วมชุมนุมครั้งต่อไป

แม้ข้อหาของผู้ร่วมชุมนุมจะไม่หนักเท่าแกนนำ แต่เชื่อว่าไม่มีใครอยากถูกดำเนินคดี

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ไม้หนัก” ครั้งนี้ ถูกมองว่าเป็นการ “แตะเบรก” ไม่ให้ขาลงนี้พุ่งแรงกว่าที่เป็นอยู่ จากการกระเพื่อมแรงต่อต้านภาคประชาชน

จับตาความเคลื่อนไหวสำคัญวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้ เมื่อฝ่ายอยากเลือกตั้งประกาศชัดว่าจะมีการรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

กลุ่มวายพีดีจัด Performance Arts “ตามใจป้อม” (2ก.พ.)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image