นายกฯคนนอก โดย วีรพงษ์ รามางกูร

แม้นายกรัฐมนตรีจะยังไม่ได้รับปากอย่างแข็งขันว่าจะรับเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก ซึ่งหมายถึงเป็นนายกฯโดยไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะลงเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต หรือ ส.ส.ตามบัญชีรายชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่จากการกระทำเช่น การออกตระเวนเยี่ยมราษฎร การอนุมัติจ่ายเงินทำโครงการต่างๆ หรือการพูดทีเล่นทีจริงว่าอยากเอารัฐบาลแบบนี้หรือแบบเก่า ย่อมจะสร้างการรับรู้กับประชาชนและสื่อมวลชนว่ายังต้องการเป็นผู้จัดรัฐบาลต่อไป หลังจากมีการเลือกตั้งแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่จะเป็นไปตามโรดแมปว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปภายในปี 2561 นั้น เป็นอันพับไปได้ ไม่มีแน่

แต่ที่น่าห่วงก็คือนายกฯบอกว่าแม้จะทำตามโรดแมปแต่ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยนายกฯลืมไปว่ากฎหมายในระบอบเผด็จการนั้นตนนั้นเองเป็นผู้ออก จะออก โดยตนเป็นผู้ลงนาม เช่น ประกาศตามมาตรา 44 หรือจะออกเป็นพระราชกำหนด หรือพระราชบัญญัติโดยทูลเกล้าฯถวายให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ก็ได้เหมือนกัน มีผลทางกฎหมายเท่าเทียมกัน ถ้าจะยกเลิกหรือแก้ไขก็ต้องเป็นพระราชบัญญัติเหมือนกัน เพราะเป็นองค์อธิปัตย์ตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศเหมือนกัน นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และอาจจะของโลกด้วยก็ได้ที่เกิดสถานการณ์เช่นนี้

เมื่อเป็นเช่นนี้จะอ้างว่าสภานิติบัญญัติกับคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัตินั้น แยกออกจากกันทั้งในทางกฎหมายและในทางความเป็นจริง de jure และ de facto ไม่ได้ ในทางปฏิบัติของสภานิติบัญญัติ วิปจะเป็นผู้กำหนดว่าสมาชิกรัฐสภาควรจะลงคะแนนเสียงในแต่ละวาระการประชุมอย่างไร วิปก็รับนโยบายมาจากนายกรัฐมนตรีนั่นเอง

เ มื่อสมาชิกเดินทางมาประชุม ก็จะต้องมาลงนามเข้าประชุมที่หน้าห้องประชุม พร้อมๆ กับรับซองขาวจากประธาน “วิป” เมื่อเปิดซองดูก็จะเห็นหนังสือแนะนำว่าเห็นควร “รับ” หรือ “ไม่รับ” ในแต่ละวาระ ซึ่งเรียกกันว่า “โผ” เมื่อเข้าประชุมแล้วก็จะมีการเข้าชื่อขออภิปราย ประธานก็จะจัดลำดับก่อนหลังให้อภิปราย แต่จะเตรียมสมาชิกไว้ท่านหนึ่งเป็นประจำให้ยกมือเสนอปิดประชุมและจะมีผู้รับรอง แต่จะมีการเล่นละครโดยมีผู้เสนอให้อภิปรายต่อไปจนต้องลงคะแนน ตอนลงคะแนนก็ต้องเป็นไปตาม “โผ” คือลงคะแนน “ไม่รับ” ในญัตติเสนอให้เปิดอภิปรายต่อไป เมื่อไปถึงวาระต่อไปก็ลงคะแนนเสียงตาม “โผ” ที่ประธานวิปออกให้ ก่อนออก “โผ” ประธานวิปก็จะประสานกับเลขาธิการคณะรัฐมนตรีก่อนการประชุมแล้วว่า จะให้อภิปรายอย่างไร จะให้ลงคะแนนอย่างไร

Advertisement

ดังนั้น หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. คณะรัฐมนตรีหรือ ครม. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. แม่น้ำ 3 สายในทั้งหมด 5 สายนั้น ซึ่งเป็นของอย่างเดียวกันในแง่ปฏิบัติ เพียงแต่ทำให้ดูสวยหน่อยเท่านั้นโดยการลอกแบบระบอบรัฐสภา แต่ไม่มีใครมาจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ทุกคนมาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช.ทั้งสิ้น รวมทั้งประธานและรองประธานและประธานวิปในรัฐสภาด้วย วิปจะรับนโยบายจากหัวหน้า คสช.ไปดำเนินการเลือกประธาน รองประธาน รวมทั้งประธานกรรมาธิการคณะที่สำคัญ เช่น ประธานกรรมาธิการงบประมาณ หรือประธานกรรมาธิการวิสาสามัญที่ทำหน้าที่พิจารณาการแปรญัตติในเรื่องสำคัญๆ

การปกครองระบอบเผด็จการจึงมีชื่อเรียกว่าเป็นระบอบเบ็ดเสร็จหรือ Totalitarianism ก็ได้ นอกจากเรียกว่าเป็นระบอบปกครองโดยบุคคลคนเดียวหรือ authoritarianism

แต่การที่เมื่อมีประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรซึ่งผ่านการลงประชามติแล้ว องค์อธิปัตย์ย่อมเปลี่ยนจากหัวหน้าคณะรัฐประหาร ซึ่งมีอำนาจทำอะไรก็ได้ จะตั้งผู้ใดหรือปลดผู้ใด จะสถาปนาสถาบันการเมืองใดหรือล้มเลิกสถาบันการเมืองใดก็ได้ถ้าต้องการ ก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นองค์พระประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกว่า constitutional monarchy ไม่ควรมีผู้ใดมีอำนาจเหนือกว่าหรือเป็นองค์อธิปัตย์อีกต่อไป มิฉะนั้นก็จะไม่เป็น “หนึ่ง” ขัดกับหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ จึงไม่เข้าใจว่านายกรัฐมนตรียังเชื่อว่าตนเป็นองค์อธิปัตย์อยู่ได้อย่างไร คงต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป เมื่อศาลวินิจฉัยเป็นอย่างไรจึงจะวิพากษ์วิจารณ์ต่อไปได้

Advertisement

ที่วิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์นี้หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ที่ผู้คนคาดหวังกันเอาไว้นั้น ใจหนึ่งก็ยังไม่ค่อยจะเชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นได้ภายในปี 2562 การจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก รัฐบาลทำได้ง่ายอย่างกับ “พลิกฝ่ามือ” เพราะ คสช. ครม.และ สนช.นั้นความจริงในระบอบเผด็จการเป็นอันเดียวกัน ถ้า สนช.ได้สัญญาณจากหัวหน้า คสช.ให้ “คว่ำ” หรือให้ “ดึง” ร่างกฎหมายฉบับใด “วิป” ก็จะออก “โผ” ให้ลงคะแนนเสียง “ไม่รับ” ร่างกฎหมายฉบับนั้นทันที โดยให้สมาชิกอภิปรายไม่รับอย่างนั้นอย่างนี้

ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างภาพด้วยว่า สภานิติบัญญัตินั้นเป็นอิสระจากรัฐบาลและ คสช.ทั้งๆ ที่เป็นการตกลงกันมาก่อน เมื่อร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยที่มาของ ส.ว.และ ส.ส.ไม่ผ่าน ก็ต้องเริ่มขบวนการกันใหม่ การเลือกตั้งก็ต้องเลื่อนออกไป

เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว การที่อดีตหัวหน้า คสช.จะได้รับเลือกจากรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นนายทหารทั้งที่ประจำการอยู่และที่อยู่นอกราชการ สมาชิกวุฒิสภาก็จะทำตาม “โผ” ที่วิปใส่ซองให้ตอนลงลายมือชื่อเข้าร่วมประชุม วุฒิสภาจึงเป็นสภา “ฝักถั่ว” อยู่แล้ว

แต่ในกรณี ผบ.ทบ.ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ความเสี่ยงจะสูงมาก เพราะทหารทั้งที่ประจำการและปลดประจำการแล้วมีแนวโน้มที่จะฟัง ผบ.ทบ.คนปัจจุบันมากกว่า เพราะถ้ามีการเปลี่ยนแปลงอีก ผบ.ทบ.ปัจจุบันจะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการจัดตั้งทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าเกิดมี 2 โผแล้วสมาชิกวุฒิสภาจะเลือกปฏิบัติอย่างไร เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยากไม่เหมือนระบอบประชาธิปไตยที่เราสามารถคาดการณ์เหตุการณ์ทางการเมืองได้มากกว่า เพราะประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การที่หัวหน้า คสช. นายกรัฐมนตรีและ ผบ.ทบ.ไม่ใช่คนคนเดียวกัน ความเสี่ยงเกิดขึ้นเสมอ

สำหรับสภาผู้แทนราษฎรอาจจะมีปัญหาน้อยกว่าวุฒิสภา แม้ว่าหน้าฉากจะมีการเอะอะโวยวาย วิพากษ์วิจารณ์โน่นนี่ แต่น่าจะควบคุมได้ง่ายด้วยปัจจัยอย่างเดียว การจะมาถึงวาระเลือกนายกรัฐมนตรีโดยรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญฉบับ “กลัวประชาชน” ที่บัญญัติให้ยุ่งยากจนไม่มีใครจำได้ว่าอะไรเป็นอะไร เอาไว้รอไปกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือก ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อก็พอ แล้วลงมานั่งฟังว่าจะ “จัดสรรปันส่วน” กันอย่างไร

จากนั้นก็รอจนเหตุการณ์ดำเนินไปถึงฉากที่เลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ต้องให้ที่ประชุมร่วม ส.ส.และ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีจากคนนอก ซึ่งหวังว่าน่าจะเป็นคนเดิม ถ้า ผบ.3 เหล่าทัพ ร่วมกับ ผบ.ตำรวจเห็นด้วย ถ้าไม่เห็นด้วยการลงคะแนนก็คงไม่ผ่าน ผ่านหรือไม่ผ่านไม่ได้อยู่ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่จะอยู่ที่สมาชิกวุฒิสภา

ส่วนสภาผู้แทนราษฎรนั้นไม่ค่อยจะมีปัญหา เพราะเมื่อเป็นที่รู้กันว่า ผบ.ทบ.เห็นควรว่าจะเลือกผู้ใดเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ทางพรรคการเมืองต่างก็วิ่งแข่งขันกันเข้าร่วมรัฐบาล ว่าที่นายกฯคนนอกดังกล่าวจึงเป็นผู้เลือกพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ใช่พรรคการเมืองจับมือกันเลือกนายกรัฐมนตรี

ส่วนคราวนี้จะเป็นอย่างไร พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคจะจับมือกันไม่ยอมลงคะแนนให้นายกรัฐมนตรีคนนอก ซึ่งเป็นคนเดิมได้หรือไม่ต้องคอยดู เพราะลูกพรรคทุกคนก็อยากเป็นรัฐมนตรีทั้งนั้น แม้ว่าหัวหน้าพรรคอาจจะต้องยอมไปเป็นรองนายกรัฐมนตรี หรือถ้าเคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วอาจจะต้องยืนอยู่ข้างนอกก็ได้ถ้าถือศักดิ์ศรีความที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อนแล้ว แต่ถ้าไม่ถือ ยอมรับไปเป็นรองนายกรัฐมนตรีก็ไม่มีใครว่าอะไร แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์เองก็ตาม

หลังการเลือกตั้ง (ถ้ามี) การกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง จึงอยู่ที่ ผบ.ทบ.ที่เป็นผู้กำกับวิปที่จะออก “โผ” ว่าจะให้ลงคะแนนเสียงอย่างไร ส่วน ส.ส.นั้น จำนวนเพียง 125 เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก

ความยากจึงอยู่ที่ว่ากองทัพจะให้ ส.ว.ลงคะแนนอย่างไร สมัยก่อนตอบได้ง่าย แต่สมัยนี้ตอบยาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image