คุรุสภาจ่อชงพัก-ถอนใบอนุญาตกว่า 100 ราย

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ นายสมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า ขณะนี้คนส่วนใหญ่ต้องการเข้ามาประกอบอาชีพครูมากขึ้น เห็นได้จากปัจจุบันมีผู้รับในอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ประมาณ 1 ล้านคน อยู่ในอาชีพครูจริง ๆ ประมาณ 7 แสนคน สาเหตุเพราะทุกวันนี้อาชีพครู มีความมั่นคง เงินเดือนสูงกว่าอาชีพอื่น ทำให้เกิดการแข่งขันค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันก็มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับจรรยาบรรณต่าง ๆ เข้ามาจำนวนมาก เฉพาะช่วงนี้คุรุสภา ดำเนินการตรวจสอบข้อร้องเรียนต่างๆ ทั้งที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามาและที่ปรากฎตามสื่อมวลชน รวมประมาณ 100 กว่าเรื่อง แบ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ได้รับความสนใจจากสังคม เช่นกรณีทางเพศที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรทางการศึกษาประมาณ 5-6 เรื่อง และเรื่องทั่วไป ประมาณ 100 เรื่อง เช่น การปลอมแปลงเอกสาร ปลอมลายเซนต์ผู้อำนวยการโรงเรียน ปลอมสำเนาปริญญาบัตร การใช้รองเท้าตีหัวเด็ก เป็นต้น

ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภากล่าวต่อว่า เรื่องเหล่านี้เลขาธิการคุรุสภาสามารถใช้อำนาจเบื้องต้น ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปหาข้อมูลควบคู่กับต้นสังกัดได้ แต่เมื่อได้ข้อสรุปหากมีมูลตามที่ถูกกล่าวหา กรณีจะเสนอพักใบอนุญาตฯ ชั่วคราวและตั้งกรรมการสืบข้อเท็จจริงต้องเสนอให้คณะกรรมการคุรุสภา ที่มีรัฐมนตรีว่าการศธ.เป็นประธานพิจารณา จากเดิมที่เป็นอำนาจของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) ซึ่งขณะนี้ไม่มี เนื่องจากได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ในมาตรา มาตรา 12 ว่าด้วยองค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารคุรุสภา ส่งผลให้มีการทบทวนของกมว. และมีการตั้งคณะอนุกรรมการมาตรฐานวิชาชีพขึ้นมาแทน ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ มีหน้าที่เพียงพิจารณาอนุมัติและต่อใบอนุญาตฯ เท่านั้น

“ยอมรับว่าเมื่อไม่มีกมว.แล้วการพิจารณาเกี่ยวกับการพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตฯ มีความล่าช้าลง เพราะต้องเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดคุรุสภา ที่มีรัฐมนตรีว่าการศธ.เป็นประธาน ทำหน้าที่แทนกมว.ขณะที่วาระการพิจารณาเรื่องอื่นๆ ก็มีจำนวนมาก ดังนั้นคิดว่าอนาคต จะต้องมีการปรับแก้ ซึ่งทิศทางการดำเนินการจะต้องเป็นไปในภาพรวม โดยขณะนี้คณะกรรมการอิสระพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับแก้พ.ร.บ.สภาครูฯ และพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542คาดว่าจะครอบคลุมมีองค์คณะเข้ามาทำหน้าที่พิจารณาเรื่องต่างๆ ได้เร็วขึ้น โดยขณะนี้ในส่วนของคุรุสภา ได้พัฒนาเปิดให้มีการส่งข้อร้องเรียนเกี่ยวกับจรรยาบรรณผ่านมางแอฟพลิเคชั่นส์ได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย “นายสมศักดิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คุรุสภาได้สรุปผลการดำเนินการประพฤติผิดจรรยาบรรณวิชาชีพตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554-2559 รวม 182 เรื่อง แบ่งเป็น ไม่รับเรื่องไว้พิจารณา 38 เรื่อง ยุติ 109 เรื่อง ยกข้อกล่าวหา/ข้อกล่าวโทษ 14 เรื่อง ตักเตือน 1 เรื่อง ภาคฑัณฑ์ 6 เรื่อง พักใบอนุญาตฯ 10 เรื่อง และเพิกถอนใบอนุญาตฯ 4 เรื่อง

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image