เคยเสียน้องเพราะซึมเศร้า ‘จ๋า’ ลุยโปรเจ็คต์เราเข้าใจ หวังทุกคน ไม่ต้องเจออย่างตัวเอง

ภาพจาก @vj_ja

“ยอมรับว่ามาจากเรื่องของน้องสาว” จ๋า ณัฐฐวีรนุช ทองมี เล่าแรงบันดาลในของการจัดงานโรคซึมเศร้า เราเข้าใจ ที่เธอเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ชวนทราย เจริญปุระ และใครต่อใคร มาร่วมพูดคุย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ากับผู้ที่สนใจ ในวันที่ 11 มีนาคมที่จะถึง

ทั้งนี้จ๋าบอกว่า ตอนแรกก็ไม่ได้คิดจะทำโครงการดังกล่าว แต่ตอนที่ศิลปินต่างชาติ รวมถึงอีกหลายๆคนฆ่าตัวตายในช่วงเวลาใกล้เคียงกันเพราะโรคซึมเศร้า แล้วเธอซึ่งสูญเสียน้องสาวซึ่งเป็นโรคนี้ และเลือกจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย ก็เขียนแสดงความคิดเห็น เล่าสิ่งที่เคยเจอ รวมถึงวิธีที่ควรจะรับมือ ปรากฏว่าความคิดเห็นนั้นมีคนแชร์ต่อไป 60,000-70,000 หมื่นครั้ง รวมทั้งมีคนส่งข้อความมาสอบถามอีกเยอะมาก และทุกคนที่สอบถามมา พูดตรงกันว่าอยากฆ่าตัวตาย เพราะรู้สึกว่าตัวเองหมดคุณค่า

“คนเหล่านี้เขาไม่มีที่พึ่ง พอเขารู้สึกว่าเราเข้าใจ ทุกคนก็พุ่งมาหา เลยคุยกับ พี่ด้วง ดวงฤทธิ์ บุนนาค แล้วก็ทราย ว่าถ้าอย่างนั้นก็คุยกับเขาแล้วกัน ก็จัดเล็กๆ แต่คนที่มาเป็นกันหมด จ๋าตกใจกับเรื่องนี้มาก แล้วก็เพิ่งเห็นอาการของคนที่เป็นจริงๆ หลายคนพร้อมกัน บางคนสมาธิไม่มี พยายามจะเรียบเรียงคำพูดตัวเอง คือเขาพูดวนไปวนมา บางคนพูดไปแป๊บนึง ก็หยุด ร้องไห้ แล้วก็ฮึดขึ้นมาใหม่ แล้วก็ร้องไห้ เลยได้รู้ปัญหาอีกว่า คนที่อยู่ต่างจังหวัด เขาเข้าไม่ถึงหมอ แล้วคนที่จะมารับฟังเรื่องนี้มันน้อยมาก ถามเพื่อนที่อยู่สาธารณสุข ว่าทำไมไม่เพิ่มหมอ ก็ได้คำตอบว่าคนเลือกเรียนจิตแพทย์น้อยมาก หมอที่มี ก็อยู่เอกชน คนไม่มีเงินก็เข้าไม่ถึง ก็ลองคุยกับเพื่อนว่าจะลองจัดโปรเจคต์ พยายามจะเชิญหมอมานั่งกับเราหลายๆคน”

“สิ่งนี้เป็นสิ่งที่พวกเราตั้งใจจะทำให้กับสังคม อยากจะเตือนคนที่มีคนรอบตัวที่อาจจะกำลังอยู่ในภาวะนั้นให้รู้ แต่ไม่ใช่การให้ความรู้แบบแพทย์ให้นะคะ เป็นการแชร์ประสบการณ์ แล้วมีข้อมูลอย่างผู้ที่ป่วยเอง อย่างคุณทราย เจริญปุระ ที่มีภาวะซึมเศร้า ก็จะมาแชร์ว่า ควรทำตัวอย่างไร ต้องเจอกับอะไรบ้าง อย่างจ๋าก็จะแชร์ว่า ถ้าเราเจอกับผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า เราต้องทำอย่างไร และอย่าทำอะไรบ้าง”

Advertisement

หนึ่งใน ‘อย่า’ นั้น ก็คือ “อย่าพูดว่า สู้ๆกับเขา”

เพราะแม้ “มันไม่ใช่ว่าจะเป็นการกดดัน แต่เขาจะรู้สึกว่าเราไม่เข้าใจเขาเลย”

Advertisement

“ผู้ป่วยเขาไม่ต้องการกำลังใจ”

“บอกว่าต้องไปทำสมาธิ เข้าวัด ทำบุญสิ อันนั้นยิ่งไม่ใช่ใหญ่”

“ต้องหาหมอ”

ยังเล่าด้วยว่า ข้อมูลที่เธอทราบมาคือ บ้านเรามีคนเป็นโรคนี้แล้ว 1 ล้านคน และมีที่เข้าข่ายอีก 3 ล้าน

“แล้วบางคนอาจจะไม่รู้ตัวว่าเป็นอะไร ทำไมเบื่อโลก ทำไมไม่อยากมีชีวิต ก็เลยคิดว่า ถ้าได้พูดคุย หรือมีช่องทางให้เขารู้ว่าเขาควรทำอะไร เราก็พยายามจะทำตรงนั้น”

ทั้งๆที่ “เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคซึมเศร้า แต่เขาคงอยากได้ที่พึ่งจริงๆ”

กับโปรเจ็คต์นี้จ๋าบอกว่าไม่รู้ว่าจะทำไปได้ขนาดไหน แต่ถ้าเป็นไปได้หลังจากงานวันที่ 11 มีนาคม ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างตกลงรายละเอียดเรื่องสถานที่และอื่นๆ ก็อยากทำต่อ

“มันเหมือนเป็นการกระตุ้นสังคม ว่าต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น เพื่อที่คนที่เรารักไม่ต้องมาเจอกับเรื่องที่จ๋าเจอ”

“อยากให้พลังในสังคมนะคะ ว่านี่เป็นมันโรคจริงๆ เขาคือผู้ป่วยจริงๆ ไม่ใช่ภาวะเครียด ไปเที่ยว ไปทำบุญ อย่างนั้นไม่หาย เป็นการช่วยได้แค่หากิจกรรมทำ แต่ไม่ได้รักษาโรค มันต้องกินยา ต้องทำการรักษา”

“ที่น่ากลัวคือคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็น เพราะฉะนั้นเป้าหมายของเราก็คือ อย่างน้อยเลย ให้รู้ว่าคุณเป็นหรือเปล่า แล้วถ้าเกิดคุณเข้าข่าย หรือเห็นว่าคนรอบตัวเข้าข่ายจะเป็น ต้องรับมือยังไง”

“อีกอย่างที่จ๋าอยากจะให้ไปถึง คืออยากให้รัฐบาลลงมาช่วย เพราะมันไม่ใช่ว่าบุคคลหนึ่งป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ฆ่าตัวตายแล้วจบนะ มันจะมีผลกระทบกับคนรอบข้าง คนรอบข้างสามารถเป็นโรคซึมเศร้าต่อได้ อย่างจ๋า ตอนแรกเพื่อนทุกคนห่วง กลัวจะเป็น แต่เราห่วงพ่อมากกว่า เพราะว่าพ่อดาว์น ดิ่งมาก พ่อต้องกินยาหลังจากที่น้องเสีย แต่เราไม่ต้อง และตั้งแต่นั้นมา เราก็ระวังตัวเองมากขึ้น”

“เราจึงมีเป้าหมายไว้ว่า ไม่ซึมเศร้านะ เราช่วยกัน อย่างก่อนที่น้องจะไป เขาเคยพูดอะไรทำนองนี้ แล้วเราผิดทาง”

“ก็ไม่อยากให้มีใครเป็นเหมือนเรา”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image