‘สุสานลินซินโกง’ เป็นสุสานของใครและเกี่ยวข้องกับพระเจ้าอุทุมพรอย่างไร?

ภาพวาดสีน้ำ ย่านชุมชนในเกาะเมืองอมรปุระ ค.ศ.1855 โดย Colesworthy Grant (1813-1880) ศิลปินชาวอังกฤษ ที่มา: https://commons.wikimedia.org

บทความนี้มาจากบทความเรื่อง “สุลานลินซินโกง” เมืองอมรปุระ ประเทศเมียนมา เป็นสุสานของใครและเกี่ยวข้องกับพระเจ้าอุทุมพรอย่างไร? : ข้อสังเกตบางประการ


1.ความเป็นมาของเรื่อง

“สุสานลินซินโกง” หรือที่แปลและเคยเข้าใจกันว่าเป็น “สุสานล้านช้าง” กลายเป็นชื่อสถานที่ที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป เพราะมีกระแสความเชื่อกันว่า อาจเป็นที่ตั้งของสถูปที่บรรจุพระบรมอัฐิ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (พระเจ้าอุทุมพร) กระนั้น ถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถสรุปชี้ชัดว่าใช่หรือไม่กันแน่?

โดยเฉพาะในสังคมไทยมีการถกเถียงและปฏิบัติการสืบค้นทางประวัติศาสตร์ในสุสานแห่งนี้มาเป็นเวลายาวนานกว่าสองทศวรรษแล้ว

หลักฐานหลักที่ใช้อ้างความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่แห่งนี้กับพระเจ้าอุทุมพร คือ ปะระไบ้ก์ (parabaik) หรือหนังสือบุดของเมียนมา เขียนขึ้นในรัชกาลของ พระเจ้ามินดง (ค.ศ.1853-1881) เมื่อมีผู้นำข้อมูลในปะระไบ้ก์มาตีแผ่ว่า พระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพรทรงมรณภาพในเมืองอมรปุระ และกษัตริย์เมียนมา คือ พระเจ้าปโดง (หรือที่เอกสารไทยออกเสียงว่าพระเจ้าปดุง) โปรดฯให้จัดพิธีปลงพระศพ ณ สุสานลินซินโกง ทำให้นักวิชาการอาศัยข้อมูลดังกล่าวสันนิษฐานและสถาปนาสถูปองค์หนึ่งที่อยู่ในสุสานลินซินโกง ซึ่งมีรูปทรงแปลกตาให้เป็นสถูปที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร แต่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้าน จนกลายเป็นประเด็นปัญหาเรื้อรังทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ถกเถียงกันมาอย่างไม่รู้จบสิ้น

Advertisement

การจะระบุฟันธงลงไปว่า สถูปดังกล่าวเป็นสถูปที่บรรจุพระอัฐิของพระเจ้าอุทุมพรจริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะขาดหลักฐานเอกสารชั้นต้นที่ยืนยันอย่างหนักแน่น

แต่ประเด็นที่นักประวัติศาสตร์สามารถสืบค้นได้ คือพื้นที่ชุมชนซึ่งสัมพันธ์กับบริบทประวัติศาสตร์ ดังนั้น ข้อเขียนขนาดสั้นนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่าชุมชนบริเวณพื้นที่สุสานลินซินโกงเป็นพื้นที่ที่มีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ของเมืองอมรปุระและยุคอมรปุระ

จาก “Indien: Handbuch Fur Reisende” โดย Karl Baedeker ตีพิมพ์เมื่อปี 1914 (www.lib.utexas.edu/maps/burma.html), การกำหนดพิกัด 1-4 เป็นของผู้เขียน

2.ปัญหาเรื่องชื่อของสุสาน

การถอดชื่อ “สุสานลินซินโกง” ออกเป็นภาษาไทยว่า “สุสานโคกล้านช้าง” เพราะอ้างอิงจากคำว่า “ลินซิน” ซึ่งในเอกสารประวัติศาสตร์เมียนมาใช้เรียกผู้คนและดินแดนของกลุ่มคนและอาณาจักรล้านช้าง แต่ภาษาเมียนมาปัจจุบันเรียกว่า “หล่าโอ” หรือ “ลาว” ตรงนี้มีคำถามหลัก คือชื่อของสุสานเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างไรกับกลุ่มคนล้านช้างในอดีต ต่อประเด็นคำถามข้อนี้ ที่ผ่านมามีการแปลชื่อ “ลินซินโกง” ว่า “โคกล้านช้าง” ทำให้นักวิชาการตีความพื้นที่บริเวณโดยรอบว่า เป็นพื้นที่ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกลุ่มคนล้านช้างและกลุ่มคนในบ้านเมืองที่อยู่ทางฟากตะวันออก ซึ่งเหมารวมอยุธยาและล้านนาเข้าไปด้วย

Advertisement

การนิยามความหมายและยึดถือเช่นนั้น ทำให้พื้นที่นี้ถูกยึดโยงว่าเป็นย่านที่อยู่อาศัยของเชลยล้านช้างและเชลยจากอยุธยาและยังถูกลากความไปเป็นสุสานของเจ้านายล้านช้างและเจ้านายอยุธยา ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ก็สนับสนุนข้อสมมุติฐานที่ว่า มีความเป็นไปได้อยู่เหมือนกันที่สถูปที่ทึกทักกันนั้นอาจเกี่ยวข้องกับเจ้านายอยุธยาตามที่เชื่อกัน

การสอบทานเทียบเคียงกับหลักฐานเอกสารแหล่งอื่นภายใต้กรอบเวลาและบริบทประวัติศาสตร์เมียนมา ทำให้ค้นพบข้อโต้แย้งของการกำหนดนิยามความหมายของชื่อสุสานแห่งนี้ กล่าวคือคำว่า “ลินซิน” ที่ใช้กันในสังคมเมียนมา ยุคอมรปุระ หาได้เป็นคำเรียกของคนท้องถิ่นที่หมายถึงลาวล้านช้างเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีความหมายถึง “คนกลุ่มอื่น” ซึ่งเริ่มเข้ามาในอาณาจักรเมียนมา ยุคอมรปุระอีกระลอกหนึ่ง เป็นจำนวนมากและยังคงสืบเชื้อสายมาจนถึงปัจจุบัน

ทะเลสาบต่องตะหม่าน บริเวณที่ติดกับสุสาน

3.’ลินซิน’ : สืบจากผ้าลูนตะหย่า

“ผ้าลูนตะหย่า” เป็นผ้าทอพื้นถิ่นที่มีชื่อเสียงในเรื่องลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นเมียนมา การศึกษาประวัติศาสตร์ผ้าลูนตะหย่าในสมัยราชวงศ์โกงบ่อง (คองบอง) เป็นวิธีหนึ่งที่สืบสาวได้ว่า คำว่า “ลินซิน” ใน ยุคอมรปุระมีที่มาอย่างไร

เมื่อมุ่งมองภายใต้บริบทประวัติศาสตร์การสงครามระหว่างเมียนมากับมณีปุระ พบว่านับตั้งแต่เปิดศักราชใหม่แห่งราชวงศ์โกงบ่องในรัชกาลของ พระเจ้าอลองพญา (ค.ศ.1752-1760) ต่อมาจนถึงรัชกาลพระเจ้าสิ่นผิ่วฉิ่น (ค.ศ.1763-1776) เมียนมารบชนะและกวาดต้อนชาวมณีปุระ ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ลินซินแอ๊ะกะบั๊ต” หรือเรียกอย่างลำลองว่า “กะแต” เข้ามาใส่ไว้ในอาณาจักรเป็นจำนวนมาก ชาวกะแตมีทักษะด้านการทอผ้าเป็นที่ยอมรับของคนเมียนมาโบราณ ราชสำนักเมียนมาคัดเลือกชาวกะแตที่มีทักษะฝีมือด้านการทอผ้าและจัดสรรให้ไปอยู่ในเมืองแปรและเมืองอังวะ กำหนดให้ช่างทอผ้าชาวกะแตถ่ายทอดวิธีการทอผ้าด้วยเส้นไหมให้กับช่างทอพื้นเมือง

ต่อมาในสมัยพระเจ้าพระเจ้าปโดง (ค.ศ.1782-1819) และสมัยพระเจ้าบ้ะจีด่อ (ค.ศ.1819-1837) เมียนมายังคงทำสงครามกับมณีปุระและกวาดต้อนเทครัว ชาวกะแตเข้ามาอีกเป็นระลอกๆ ต่อมาเมื่อพระเจ้าปโดงทรงย้ายเมืองหลวงจากอังวะมาที่เมืองอมรปุระได้จัดสรรให้ช่างฝีมือชาวกะแตอยู่อาศัยในเมืองอมรปุระ และมีกฎรับสั่งให้ช่างทอถ่ายทอดและสอนวิธีการทอลายโจเชะให้กับช่างทอผ้าเมียนมา การทอผ้าลายโจเชะได้รับความนิยมและพัฒนาการทอผ้า จนกลายเป็นอุตสาหกรรมการทอผ้าลูนตะหย่าที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วโลก

การใช้หลักฐานผ้าลูนตะหย่า เพื่อสืบหาความเป็นมาของชื่อ “ลินซิน” ทำให้ค้นพบว่า ชาวกะแตเป็นเชลยกลุ่มใหญ่ที่เข้ามา ในอาณาจักรเมียนมาหลายระลอก กลุ่มคนพวกนี้ในเอกสารประวัติศาสตร์เรียกว่า “ลินซินแอ๊ะกะบั๊ต” ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีคุณูปการต่อวงการทอผ้าของเมียนมา ชุมชนชาวกะแตมักมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ลินซินยัต” (ย่านชาวลินซิน) ปัจจุบันยังคงมีชุมชนชาวลินซิน อยู่อาศัยในเมืองอมรปุระ มันดะเล โดยเฉพาะที่เมืองสะกายยังมีย่านลินซินอยู่ในปัจจุบัน พิกัดชุมชนตั้งอยู่ใกล้กับชุมชนที่มีร่องรอยว่าอาจเคยเป็นชุมชนเชลยอยุธยาและล้านนา ซึ่งมีแลนด์มาร์กที่สำคัญเป็นอุโบสถวัดมหาเต่งด่อจี ในอุโบสถนี้มีภาพเขียนลวดลายอย่างอยุธยาและ/หรือล้านนา คนท้องถิ่นเรียกอุโบสถนี้ว่า “ยูนเต่ง” แปลว่า โบสถ์ไทยวนล้านนา

หลักฐานผ้าลูนตะหย่าได้ชี้ให้เห็นว่า “ลินซิน” ไม่ใช่ “ล้านช้าง” แต่เป็นชาวกะแตจากอัสสัมมณีปุระ ข้อสรุปดังกล่าวแย้งกับสมมุติฐานเดิมที่ว่า “ลินซิน” คือ กลุ่มคนทางฟากตะวันออกของอาณาจักรเมียนมา “ลินซินโกง” ในบริบทนี้ควรจะเป็น “โคกกะแต” เพราะพบชื่อย่านลินซินทั้งเมืองอมรปุระและทางฝั่งเมืองสะกายและยังคงมีชุมชนและชาวกะแตอยู่อาศัยสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน

ผ้าลูนตะหย่า

4.สุสานลินซินโกงในฐานะพื้นที่หลังความตายและการเชื่อมโยงกับพระเจ้าอุทุมพร

การศึกษาประวัติศาสตร์พื้นที่สุสานลินซินโกงจำเป็นต้องศึกษาความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้เชื่อมโยงกับพื้นที่อื่นภายใต้กรอบเวลาประวัติศาสตร์ เพราะเป็นพื้นที่ที่ถูกกล่าวถึงและถูกร้อยรัดเข้าเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์มิได้แยกเป็นเอกเทศ

ข้อมูลในปะระไบ้ก์ทำให้มองเห็นภาพส่วนย่อยในภาพใหญ่และช่วยอธิบายบริบทประวัติศาสตร์และที่มาของข้อมูลในปะระไบ้ก์ในส่วนที่กล่าวถึงพิธีปลงพระศพพระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพร ได้อย่างที่ควรจะเป็น

พื้นที่สุสานลินซินโกง ตั้งอยู่ริมทะเลสาบต่องตะหม่าน ใกล้กับสะพานไม้สักอูเป่ง สุสานแห่งนี้นอกจากใช้ประกอบพิธีศพของชาวเมียนมาแล้ว ยังใช้ประกอบพิธีศพของชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในกรุงอมรปุระด้วย ในสมัยพระเจ้าบ้ะจีด่อมีหลักฐานว่าโปรดฯให้ใช้เป็นที่ฝังศพของขุนนางชาวอาเมเนียนและชาวโปรตุเกสที่เข้ามารับราชการในราชสำนักแห่งกรุงอมรปุระ ซึ่งพบหลักฐานจารึกบริเวณหลุมฝังศพของขุนนางชาวโปรตุเกสภายในสุสานด้วย

การใช้สอยพื้นที่ในสุสานแห่งนี้มิได้กำหนดเฉพาะว่าเป็นพื้นที่สำหรับชาวเมียนมาและเฉพาะศาสนาพุทธเท่านั้น แต่ยังพบว่าพื้นที่นี้มีลักษณะเป็นสุสานนานาชาติ ชาวต่างชาติต่างศาสนาในสมัยอมรปุระสามารถประกอบพิธีกรรมหลังความตายได้ในบริเวณสุสานประจำเมืองแห่งนี้ เห็นได้จากหลักฐานหลุมฝังศพของขุนนางมุสลิม Abhisha Hussaini พระเจ้าปโดงแต่งตั้งให้ Abhisha Hussaini เป็นองค์จุฬาราชมนตรี เมื่อเสียชีวิตได้นำศพมาทำพิธีทางศาสนา ณ สุสานลินซินโกงและมีหลักฐานว่าพราหมณ์ในราชสำนักพระเจ้าปโดงตำแหน่ง Officer-in-Charge of Brahmins ก็ซื้อที่ดินในบริเวณสุสานแห่งนี้เพื่อใช้เป็นที่ฝังศพของตัวเอง

เมื่อมุ่งมองในบริบทเดียวกันนี้เทียบเคียงกับข้อมูลในปะระไบ้ก์ที่กล่าวถึงพิธีปลงพระศพพระเจ้าอุทุมพร ณ สุสานลินซินโกง เป็นข้อมูลที่ไม่ได้ตัดขาดจากข้อมูลแหล่งอื่น ซ้ำยังทำให้เห็นด้วยว่าอาจมีพิธีปลงพระศพพระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพรจริง ณ สุสานลินซินโกง เพราะสุสานแห่งนี้เป็นสุสานประจำเมือง อีกทั้งยังมีสถานะเป็นสุสานนานาชาติในสมัยอมรปุระ ดังนั้น ถ้าเชื่อตามปะระไบ้ก์ประกอบกับหลักฐานแวดล้อม ก็อาจจะกล่าวได้เหมือนกันว่า มีพิธีปลงพระศพพระเจ้าอุทุมพรในสุสานนี้จริง แต่ไม่สามารถชี้ชัดว่าตรงไหน อย่างไร และมีสถูปบรรจุอัฐิจริงหรือไม่

การมองประวัติศาสตร์พื้นที่ชุมชนที่มีการทับซ้อนในเรื่องของชื่อและนิยามความหมาย จำเป็นต้องสอบทานให้ลึกลงไปว่าพื้นที่ดังกล่าวถูกจัดสรรอย่างไร ใครเป็นผู้ใช้พื้นที่นั้นๆ บ้าง และในช่วงเวลาใด? เช่นเดียวกับพื้นที่ลินซินโกงก็เป็นชื่อเรียกกลุ่มอัสสัมมณีปุระที่เข้ามาในสมัยอมรปุระเป็นจำนวนมากและปรากฏหลักฐานการจัดสรรที่ดินให้อยู่อาศัย ดังนั้น ผู้ที่เข้ามาในบริเวณนี้ ในช่วงเวลานี้และเป็นผู้ใช้สอยพื้นที่โดยรอบนี้ ควรเป็นพวกมณีปุระมากกว่าจะเป็นชุมชนเชลยจากล้านช้างและอยุธยา เพราะไม่ไกลจากสุสานลินซินโกงก็มีร่องรอยชุมชนชาวโยดะยาอาศัยอยู่และยังคงมีพื้นที่และชื่อเรียกหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ “โยดะยาเซ” หรือย่านตลาดโยดะยา หมายถึงย่านชาวอยุธยา

การทำความเข้าใจประเด็นการจัดสรรพื้นที่ในบริเวณเกาะเมืองอมรปุระทำให้เห็นลักษณะเมืองหลวงของเมียนมาโบราณที่มีลักษณะการจัดสรรย่านชุมชนต่างๆ โดยจัดให้กลุ่มคนเชื้อชาติเดียวกันหรือกลุ่มที่ชำนาญการเฉพาะด้าน อาศัยอยู่รวมกัน ส่งผลให้พื้นที่ในเมืองอมรปุระแบ่งเป็นย่านชุมชนต่างๆ อันเป็นลักษณะของชุมชนเมืองโบราณ ดังนั้น ก็ไม่แปลกอะไรที่ในเอกสารปะระไบ้ก์จะใช้สอยพื้นที่ที่ถูกจัดสรรให้เป็นสุสานนานาชาติประจำกรุงอมรปุระ สำหรับจัดพิธีพระศพพระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพร

บริเวณภายในสุสานในปัจจุบัน มีป้ายห้ามผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้า
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image