นักวิชาการชี้ใช้ผลสอบครูภาค ก.ร่วมก.พ. ยาก

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ นายอดิศร  เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา กล่าวถึงกรณีที่ นายพินิจศักดิ์  สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) เตรียมเสนอให้คณะกรรมการ ก.ค.ศ พิจารณาแนวทางการจัดทำร่าง หลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วยใหม่  ปรับเนื้อหาการสอบสอบภาค ก. ความรอบรู้และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความประพฤติและการปฏิบัติของวิชาชีพให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับข้อสอบภาค ก. ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) โดยตัดเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพครูออกแล้วนำไปรวมในการสอบภาค ข. ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่งแทน หวังว่าอนาคตอาจจะมีการใช้ผลสอบภาค ก.ร่วมกับทาง ก.พ. ว่า จุดแข็งของก.พ. คือข้อสอบและการจัดสอบที่ได้มาตรฐาน สามารถวัดความรู้ความสามารถของคนได้ตรงตามวัตถุประสงค์  โดยส่วนตัวคิดว่า การสอบครูสามารถใช้ผลสอบภาคก. ของก.พ.วัดความรู้ทั่วไปได้ แต่ก.พ.จะใช้ผลสอบภาคก. ของก.ค.ศ. ด้วยหรือไม่นั้น คงตอบไม่ได้ เพราะการสอบเพื่อเข้ารับราชการ ต้องดูมาตรฐานทั้งข้อสอบและการจัดสอบ ซึ่งในส่วนของก.ค.ศ. การจัดสอบค่อนข้างกระจายตัว โดยมอบอำนาจให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เป็นผู้จัดสอบ ดังนั้นจึงควบคุมได้ยาก

“ส่วนตัวคิดว่า การใช้ผลสอบร่วมกับก.พ. เป็นเรื่องยาก เพราะคนที่เรียนสายครูส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สอบก.พ. แต่หากใช้ร่วมกันได้ก็จะเกิดประโยชน์  ผู้ที่เรียนครูสามารถมีโอกาสเป็นข้าราชการพลเรือนได้อีกช่องทางหนึ่ง ขณะเดียวกัน ผู้ที่ไม่ได้เรียนครู จะสามารถใช้ผลสอบก.พ. ในสมัครเป็นครูได้ด้วยหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ  โดยผลอยากให้ทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยึดหลักการสอบคัดเลือกครู ซึ่งผู้ที่สมัครเข้าคัดเลือกต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จึงจะสามารถสมัครได้ ไม่ใช่เปิดช่องให้สาขาอื่น มาเป็นครูได้ทั้งหมด  ยกเว้นเฉพาะสาขาขาดแคลน  ซึ่งศธ.ควรออกประกาศเป็นรายปี”นายอดิศรกล่าว

นายอดิศรกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามภาพรวมเห็นด้วยที่จะมีการปรับข้อสอบครูผู้ช่วยให้ได้มาตรฐาน แต่อยากเสนอให้ก.ค.ศ. ปรับวิธีการคัดเลือก โดยเปิดช่องทางให้สถานศึกษาที่มีความพร้อม สามารถคัดเลือกครูได้เอง  เพราะการสอบคัดเลือกโดยส่วนกลางเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้โรงเรียนคัดเลือกครูได้ตรงตามบริบทของแต่ละแห่ง  อย่างไรก็ตาม หากกังวลว่า วิธีการดังกล่าว อาจทำให้เกิดปัญหาใช้เส้นสายในการคัดเลือกนั้น  ทางก.ค.ศ. สามารถป้องกันได้ โดยเปิดให้ใช้ช่องทางนี้ได้เฉพาะสถานศึกษา ที่มีความพร้อมและผ่านการคัดเลือกจากก.ค.ศ.แล้วเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image