เมื่อโลกเคลื่อนสู่ยุค 5 จี เอเชียก้าวนำ-ไทยต้องตามให้ทัน!

เทคโนโลยี 5 จี มักถูกคำนึงถึงในแง่ของการก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้ใช้งานโครงข่าย เนื่องจากขีดความสามารถสำคัญในการส่งผ่านข้อมูลดิจิทัลของโครงข่ายไร้สายแบบใหม่นี้สูงมาก ซึ่งทำให้ภาพการใช้งานโครงข่ายของยูสเซอร์แต่ละรายแตกต่างไปจากเดิมอย่างชัดเจน และง่ายที่สุดต่อการบอกเล่าออกมาให้เป็นรูปธรรม

การมาถึงของโครงข่าย 5 จี ทำให้เราดาวน์โหลดภาพยนตร์ทั้งเรื่องได้ภายในไม่กี่วินาที, ความเร็วของ 5 จี จะสูงกว่าโครงข่ายไร้สายที่เราใช้กันอยู่ในเวลานี้อย่างน้อย 10 เท่า และอาจมากถึง 100 เท่า เป็นต้น

แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่เข้าใจกันได้ยากกว่าและตระหนักกันน้อยกว่าก็คือ นัยสำคัญที่เทคโนโลยีใหม่นี้มีต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อ “ขีดความสามารถในการแข่งขัน” ของแต่ละประเทศ

จนถึงขณะนี้มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ตระหนักและเข้าใจชัดเจนในเรื่องนี้ว่า ถ้าหากยังต้องการรักษาระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศเอาไว้ ก็จำเป็นต้องเริ่มคิดและดำเนินการเพื่อการปรับตัว ปรับโครงสร้างต่างๆ และเริ่มต้นก้าวย่างไปยังยุค 5 จี

Advertisement

อย่าลืมว่าประเทศที่ก้าวทันพัฒนาการทางเทคโนโลยี ไม่เพียงอำนวยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชาติดีขึ้น ง่ายขึ้น สะดวกขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศรุดหน้าไปสอดคล้องและเป็นส่วนหนึ่งของก้าวย่างของเศรษฐกิจโลกอีกด้วย

ต่อไปนี้คือไม่กี่ประเทศที่เริ่มต้นการขับเคลื่อนสู่ 5 จีอย่างเป็นรูปธรรม และได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำในการปรับตัวรองรับเทคโนโลยีใหม่ดังกล่าว

สหรัฐอเมริกา

Advertisement

คณะกรรมการกำกับกิจการสื่อสารแห่งรัฐบาลกลาง (เอฟซีซี) ของสหรัฐอเมริกา กำหนดเอาไว้ในระเบียบว่าด้วยขอบเขตคลื่นความถี่ (สเปกตรัม ฟรอนเทียร์ส ออเดอร์) ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องวางพื้นฐานทั้งหลายให้พร้อมสำหรับการใช้เทคโนโลยี 5 จีในสหรัฐอเมริกาให้ได้ภายในปี 2020

ย้อนไปกรกฎาคม 2016 เอฟซีซีก็ออกกฎเกณฑ์สำหรับเทคโนโลยี 5 จีออกมา ทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศแรกในโลกที่เปิดใช้ “ไฮ-แบนด์ สเปกตรัม” คลื่นวิทยุความถี่สูงสำหรับใช้งานกับเทคโนโลยี 5 จี

เนื่องจากเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายเจเนอเรชั่นใหม่นี้ จำเป็นต้องมีปริมาณคลื่นความถี่สำหรับการสื่อสารไร้สายมากขึ้นกว่าเดิม, ขนาดของเซลล์ไซต์เล็กลงกว่าเดิม, จำเป็นต้องมีการกล้ำสัญญาณ (โมดูเลชั่น สคีมส์) มากขึ้นกว่าเดิม

และเปิดให้ผู้ใช้อุปกรณ์ไร้สายจำนวนมากกว่าเดิมมากเข้าใช้งานคลื่นความถี่เดียวกันในคราวเดียวกัน เทคโนโลยี 5 จี ให้ความเร็วในการเชื่อมต่ออย่างน้อยที่สุดที่ 1 จิกะบิตต่อวินาที ลดความหน่วงลงเหลือสั้นที่สุด สั้นกว่าเทคโนโลยี 4 จีมาก นอกจากนั้นยังมีแบนด์วิธในระดับมิลลิเมตรเวฟ (mmW) เพื่อรองรับการใช้งานที่ต้องการช่องทางใหญ่มากๆ อีกด้วย

ปริมาณคลื่นความถี่ซึ่งสหรัฐอเมริกาเปิดใช้เมื่อปี 2016 มีปริมาณมากกว่าคลื่นความถี่ในปีก่อนหน้านั้นถึง 4 เท่าตัว และมีคลื่นความถี่ซึ่งไม่ต้องมีใบอนุญาต เพื่อความยืดหยุ่นในการใช้งานคลื่นความถี่มากกว่าเดิมถึง 15 เท่า

ในช่วงปี 2017 ผู้ให้บริการรายใหญ่ทั้งหลายของสหรัฐอเมริกา ทั้งเอทีแอนด์ที, เวอริซอน คอมมูนิเคชั่น อิงค์, สปรินท์ คอร์ป และทีโมบายล์ ยูเอส ล้วนลงมือพัฒนาและทดสอบองค์ประกอบของโครงข่าย 5 จีกันมาแล้ว แต่ยังไม่มีการประกาศใช้งานในเชิงพาณิชย์

เกาหลีใต้

เคที คอร์ป ผู้ให้บริการสื่อสารไร้สายของเกาหลีใต้ เตรียมแผนเปิดตัว 5 จีให้ใช้งานกันจริงๆ จังๆ ในระหว่างกีฬาโอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาวในปี 2018 นี้ และประสบความสำเร็จในการทดลองใช้งานระบบ 5 จีของเอ็นอีซี คอร์ป จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งใช้คลื่นวิทยุในความถี่สูงสุด (เอ็กซ์ตรีม ไฮ ฟรีเควนซี ระหว่าง 30-300 GHz) สำหรับการเชื่อมต่อที่ความเร็ว 3.2 จิกะบิตต่อวินาที

ระบบของเอ็นอีซี ใช้อุปกรณ์ “ไอแพโซลิงก์ เอ็กซ์” ระบบรับ-ส่งคลื่นไมโครเวฟขนาด “อัลตราคอมแพค” เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างสถานีฐานแอลทีอีเดิม เพื่อใช้ในการกระจายสัญญาณที่ 70-80 GHz ซึ่งเดินทางในอากาศได้ดีกว่าระบบอื่น และใช้ระบบการเข้ารหัสเพื่อให้สามารถส่งผ่านข้อมูลดิจิทัลได้มากขึ้น

สวีเดนกับเอสโทเนีย

เทเลีย คอมปะนี เอบี ผู้ให้บริการการสื่อสารไร้สายของสวีเดนกับฟินแลนด์ จับมือกับเทเลโฟนัคทีโบลาเกต แอลเอ็ม อีริคสัน, รัฐบาลของประเทศสวีเดนและรัฐบาลเอสโทเนีย เตรียมเปิดให้บริการสื่อสารไร้สาย 5 จี ทั้งในประเทศทั้งสองภายในปี 2018 นี้ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อนำเอาระบบการสื่อสารไร้สายไปใช้ในการปรับเปลี่ยนการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นระบบดิจิทัล และเพื่อเปิดการใช้งานอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) นอกเหนือจากการให้ความสำคัญกับประชากรในพื้นที่ชนบท ซึ่งยังไม่มีโครงสร้างใดๆ รองรับในเวลานี้ โดยจะได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ในแบนด์วิธที่สูงกว่า และมีศักยภาพในการสื่อสารสูงกว่า

ตุรกี

รูปแบบและการขับเคลื่อนไปสู่ 5 จีของตุรกี น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่องค์กรทางธุรกิจไม่เข้มแข็งและมีเงินทุนเพียงพอต่อการพัฒนาและทดลองเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เอง เพื่อผลักดันประเทศไปสู่ยุค 5 จีให้ได้ภายในปี 2020 ตุรกีจัดตั้งองค์กรที่รวมตัวกันเฉพาะกิจเพื่อการนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ เรียกว่า “5 จี ทีอาร์ ฟอรั่ม” ประกอบด้วย บริษัทที่ให้บริการโครงข่ายการสื่อสารเคลื่อนที่, สถาบันของรัฐที่เกี่ยวข้อง, องค์การเพื่อการพัฒนาของเอกชน (เอ็นจีโอ) และบรรดาผู้ผลิตอุปกรณ์ภายในประเทศ เป้าหมายก็เพื่ออำนวยความสะดวกและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค 5 จีให้ได้โดยเร็วที่สุด

“5 จี ทีอาร์ ฟอรั่ม” นำทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวความคิด เพื่อผลักดันให้ตุรกีกลายเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่นำเทคโนโลยีใหม่นี้มาใช้งาน ซึ่งเชื่อว่าจะก่อให้เกิดผลประโยชน์มหาศาลในแง่ของการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) นอกเหนือจากการเสริมขีดความสามารถของผู้ผลิตฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ภายในประเทศที่สามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ได้อีกด้วย

ญี่ปุ่น

เป้าหมายของญี่ปุ่นก็คือ เปิดให้บริการ 5 จีอย่างเต็มตัวในปี 2020 กระทรวงกิจการการสื่อสารของญี่ปุ่นได้ประชุมร่วมกับผู้ให้บริการรายใหญ่ของประเทศ ทั้งเอ็นทีที โดโคโมะ อิงค์, เคดีดีไอ คอร์ป และซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป คอร์ป รวมทั้งธุรกิจเอกชนที่ผลิตอุปกรณ์สื่อสารและสถานีฐาน อาทิ พานาโซนิค คอร์ป, ฟูจิตสึ ลิมิเต็ด, และชาร์ป คอร์ป มาหารือเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีมาตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าให้การสื่อสาร 5 จีของญี่ปุ่น เร็วกว่า 4 จี 10 เท่า และเร็วกว่าแอลทีอี 100 เท่าเป็นอย่างน้อย

เป้าหมายเฉพาะหน้าคือการรวมเอาบริการวิดีโอความละเอียดสูงระดับ 4 เค และ 8 เค ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าของเทคโนโลยีอยู่เข้าไว้ในบริการอินเตอร์เน็ต ซึ่งจำเป็นต้องใช้แบนด์วิธสูงมาก

จีน

จีนกำหนดให้เปิดบริการ 5 จีในเชิงพาณิชย์ให้ได้ภายในปี 2020 เช่นกัน ถึงแม้ว่าโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีลักษณะเฉพาะของจีนจะทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่ากระบวนการใช้ในทางปฏิบัติอาจล่าช้า เหมือนกับการใช้งาน 4 จีในจีนที่ล้าหลังเกาหลีใต้และญี่ปุ่นอยู่หลายปี แต่ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อจำเป็นต้องมีโครงสร้างที่รัฐบาลควบคุมทุกอย่างอยู่ในมือ ก็อำนวยให้มีได้ในทันทีได้เช่นเดียวกัน

เมื่อมิถุนายน 2017 ซีเอนา คอร์ป บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมของสหรัฐอเมริกา มอบหมายให้บริษัท อนาไลซิส มาสัน ทำสำรวจวิจัยเกี่ยวกับแนวโน้มการใช้งานเทคโนโลยี 5 จีจากบรรดาผู้ให้บริการในแต่ละภูมิภาคของโลก ได้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ผู้ให้บริการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากถึง 28 เปอร์เซ็นต์ คาดหวังว่าจะนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ภายในปี 2020 นี้ ตรงกันข้ามกับผู้ให้บริการในภาคพื้นยุโรป ที่มีเพียง 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่คาดว่าจะใช้งาน 5 จีภายในช่วงระหว่างปี 2018-2023 นี้ โดยมีการใช้งานในโอลิมปิกฤดูหนาวที่เกาหลีใต้ในปี 2018 และโอลิมปิกฤดูร้อนที่ญี่ปุ่นในปี 2020 เป็นตัวผลักดัน
สำคัญ

สอดคล้องกับการคาดการณ์ของหลายฝ่ายก่อนหน้านี้ว่า การใช้งานในเชิงพาณิชย์ของเทคโนโลยี 5 จี จะมีภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นแกนนำของโลก

ซึ่งนั่นหมายความว่า แม้แต่ประเทศอย่างไทยเราเองก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องก้าวตามให้ทัน เพื่อคงขีดความสามารถในการแข่งขันให้เทียบเคียงกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคได้ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image