ลมงวง-พายุงวง : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

 

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

อากาศที่หมุนวนเป็นลำงวงมักน่าสนใจ หากงวงใหญ่ก็ยิ่งน่าตื่นตาตื่นใจ (หรือแม้แต่น่าตื่นตระหนก) ผมขอนำลมงวง-พายุงวงหลากรูปแบบมาให้รู้จักกันครับ
ในวันที่ฟ้าใสแดดจ้า เหนือพื้นร้อนๆ อาจเกิดลมงวงหอบฝุ่นทรายสูงขึ้นไป ฝรั่งเรียกว่า dust devil (ดัสต์ดีวิล) หรือ dust whirl (ดัสต์เวิร์ล) ดูภาพที่ 1 ครับ สังเกตว่า ดัสต์เวิร์ลไม่มีเมฆอยู่ด้านบน คนอีสานจึงเรียกว่า ลมหัวกุด คนใต้เรียกว่า ลมหัวด้วน คนเหนือเรียกว่า ลมกิดกิว ลมบิดกิว หรือ ลมปลิดปลิว ส่วนคนภาคกลางเรียกว่า ลมบ้าหมู

ภาพที่ 1 : ดัสต์ดีวิล
7 กุมภาพันธ์ 09.30 น. โรงเรียนบ้านต้องโคกกะแซ ต.บ้านต้อง อ.เซกา จ.บึงกาฬ
ภาพ : ข่าว มติชนออนไลน์ https://www.matichon.co.th/news/454709

หากอากาศร้อนจัดเริ่มต้นจากไฟ (อาจเป็นไฟป่า ไฟจากฟ้าผ่า ไฟจากการทิ้งระเบิด) ก็อาจเกิดงวงไฟเป็นลำในแนวดิ่ง เรียกว่า fire devil (ไฟร์ดีวิล) หรือ fire whirl (ไฟร์เวิร์ล) บ่อยครั้งเรียกง่ายๆ ว่า fire tornado (ทอร์นาโดไฟ) หรือ firenado (ไฟร์นาโด) ดูภาพที่ 2 ครับ

ภาพที่ 2 : ไฟร์ดีวิล
ภาพ : US Fish and Wildlife Service

คราวนี้ดูพื้นผิวน้ำที่ค่อนข้างอุ่นบ้าง หากมีอากาศเย็นเคลื่อนที่ผ่าน ก็อาจเกิดลำอากาศรูปงวงหมุนวนขึ้นมาช้าๆ เรียกว่า steam devil (สตีมดีวิล) ดูภาพที่ 3 ครับ

Advertisement
ภาพที่ 3 : สตีมดีวิล
15 มกราคม ค.ศ.2009
ภาพ: Andy MacDougal

ส่วนในบริเวณที่มีหิมะและหนาวเย็นจัด หากมีลมพัดสอบเข้าหากันอย่างเหมาะเจาะ ก็จะทำให้หิมะถูกหอบหมุนวนสูงขึ้นเป็นลำ เรียกว่า snow devil (สโนว์ดีวิล) หรือ snowspout
(สโนว์สเปาต์) ดังภาพที่ 4

ภาพที่ 4 : สโนว์ดีวิล
28 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2009
มอนทรีออล แคนาดา
ภาพ : Pierre cb

น่ารู้ด้วยว่าเมฆฝนฟ้าคะนองจะมีกระแสอากาศเย็นพุ่งลงปะทะพื้นเกิดเป็นลมกระโชก (gust wind) หากลมกระโชกพัดเร็วกว่า 60 นอต (ประมาณ 111 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ก็อาจทำให้อากาศหมุนวนในแนวดิ่งดังภาพที่ 5 เรียกว่า gustnado (กัสต์นาโด) โดยเกิดในบริเวณที่ลมกระโชกปะทะกับอากาศที่อุ่นกว่าโดยรอบ

ภาพที่ 5 : กัสต์นาโด
3 เมษายน ค.ศ.2011 รัฐแคนซัส สหรัฐอเมริกา
ภาพ: Jefferson County Emergency Management

คราวนี้มาดูพายุงวงที่มีพลังทำลายล้างสูงสุดกันบ้าง พายุแบบนี้เกิดจากเมฆซุปเปอร์เซลล์ (supercell) ซึ่งเป็นเมฆฝนฟ้าคะนองที่มีกระแสอากาศภายในหมุนวนในแนวดิ่ง พายุงวงนี้จึงเรียกว่า supercell tornado (ทอร์นาโดที่เกิดจากเมฆซุปเปอร์เซลล์) ดูภาพที่ 6 ครับ

Advertisement
ภาพที่ 6 : ทอร์นาโดที่เกิดจากเมฆซุปเปอร์เซลล์
3 พฤษภาคม ค.ศ.1999 รัฐโอคลาโฮมา สหรัฐอเมริกา
ภาพ: Daphne Zaras

ในบ้านเรายังไม่หลักฐานว่ามีเมฆซุปเปอร์เซลล์ แต่เรามี “พายุงวงช้าง” หากพายุงวงช้างเกิดเหนือพื้นน้ำ เช่น ทะเลหรือทะเลสาบ จะเรียกว่า waterspout ภาษาไทยเรียกว่า นาคเล่นน้ำ หรือ พวยน้ำ น่าสังเกตว่าด้านบนของนาคเล่นน้ำจะมีเมฆก้อนขนาดใหญ่เสมอ ดูภาพที่ 7 ครับ

ภาพที่ 7 : นาคเล่นน้ำ
29 ตุลาคม 2557 จ.กระบี่
ภาพ: อรรณพ หอมกมล

แต่หากพายุงวงช้างเกิดเหนือพื้นดินอย่างภาพที่ 8 ก็จะเรียกว่า landspout หรือ แลนด์สเปาต์ ด้านบนของแลนด์สเปาต์จะมีเมฆก้อนขนาดใหญ่เช่นเดียวกับนาคเล่นน้ำ

ภาพที่ 8 : แลนด์สเปาต์
22 พฤษภาคม ค.ศ.2004 รัฐเนบราสกา สหรัฐอเมริกา

  หากได้เห็นลมงวงหรือพายุงวงที่ไหน ก็ลองเทียบกับตัวอย่างที่ให้ไว้ได้เลยนะครับ


ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ขอเชิญทดลองใช้เว็บชมรมคนรักมวลเมฆที่ www.CloudLoverClub.com


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image