จิตวิวัฒน์ โดย : จุมพล พูลภัทรชีวิน เมื่อจิตวิญญาณสหกรณ์ถูกเบียดและบดบัง ด้วยมาตรฐาน/เกณฑ์กำกับทางการเงินและการบัญชี

เมื่อจิตวิญญาณสหกรณ์ (ค่านิยม หลักการ และอุดมการณ์ของสหกรณ์) ถูกเบียดและบดบังด้วยมาตรฐาน/เกณฑ์กำกับทางการเงินและการบัญชี ที่เป็นสากลที่สถาบันทางการเงินกระแสหลักยึดถืออยู่ ขบวนการสหกรณ์ก็ถูกบิดเบือนและบังคับให้ดำเนินการตามแนวคิด แนวทาง และแนวปฏิบัติของสถาบันการเงินกระแสหลัก (เศรษฐกิจเสรี ทุนนิยม) ที่มุ่งเน้นการแข่งขันมากกว่าความร่วมมือ เน้นมาตรการที่แข็งตัวและอิงมาตรฐาน (สากล) ระหว่างสถาบันกับลูกค้า มากกว่าความยืดหยุ่นและเอื้ออาทรระหว่างสหกรณ์กับสมาชิกของสหกรณ์และระหว่างเพื่อนสหกรณ์ด้วยกัน

สหกรณ์มุ่งเน้นการช่วยเหลือและพึ่งพิงอิงกันใน 3 ระดับ

1.การช่วยเหลือตนเองระหว่างมวลหมู่สมาชิกด้วยกัน

2.การช่วยเหลือระหว่างเพื่อนสหกรณ์ด้วยกัน

Advertisement

3.การช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อสังคม

สหกรณ์มีสมาชิกเป็นเจ้าของ ผู้บริหารสหกรณ์ (คณะกรรมการดำเนินการ) อาสาเข้ามาทำงาน เลือกตั้งกันเองในหมู่สมาชิก มีวาระครั้งละ 2 ปี อยู่ติดต่อกันได้ไม่เกินสองวาระ บางแห่งไม่มีค่าตอบแทน บางแห่งมีค่าตอบแทนแต่ก็น้อยมากเรียกว่าค่าสมนาคุณ สหกรณ์หากพิจารณาจากเปลือกธุรกรรมการเงินภายนอก ก็คล้ายสถาบันทางการเงินทั่วๆ ไป แต่แก่นแกนภายใน (จิตวิญญาณ : หลักการ อุดมการณ์) แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง การนำมาตรฐาน/เกณฑ์กำกับเฉกเช่นเดียวกันกับธนาคารและสถาบันการเงินกระแสหลักมาใช้กับสหกรณ์จึงไม่เหมาะสม เพราะนอกจากหลักการและอุดมการณ์ที่แตกต่างกันแล้ว เป้าหมายของการดำเนินงานก็แตกต่าง

หากรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการส่งเสริมงานและขบวนการสหกรณ์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะ “กรมส่งเสริมสหกรณ์” ต้องเริ่มต้นจากการมีความรู้ ความเข้าใจ มีศรัทธาในหลักการและอุดมการณ์ของสหกรณ์ และการกระทำมาตรการต่างๆ ที่ออกมาก็ต้องสอดคล้องและสอดรับกัน หากจะมีเกณฑ์กำกับ ก็ควรเป็นเกณฑ์กำกับความสำเร็จในอนาคตมากกว่าเกณฑ์กำกับปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

Advertisement

การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นและผ่านไปแล้วกับการสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้น เป็นแนวคิดและมีแนวปฏิบัติที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

สหกรณ์ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือให้สมาชิกและเพื่อนสหกรณ์ด้วยกัน ได้รับความสำเร็จตามสภาพและศักยภาพของเขา หากพูดด้วยภาษาสมัยใหม่ก็เรียกว่าการบริหารความสำเร็จ สหกรณ์จึงให้ความสำคัญกับการ “บริหารความสำเร็จ” มากกว่า “การบริหารความเสี่ยง” ตามที่เข้าใจและทำกันอยู่ สหกรณ์ยอมที่จะเสี่ยงมากขึ้นหากเห็นโอกาสที่จะช่วยสมาชิกหรือเพื่อนสหกรณ์ให้เกิดความสำเร็จ เราคำนึงถึงผลกระทบระยะยาวและรอบด้าน มิใช่แค่ผลกระทบต่อสมาชิกหรือเพื่อนสหกรณ์หนึ่งใดเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือผลกระทบต่อขบวนการสหกรณ์ทั้งระบบในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคง พอเพียง และยั่งยืน

ขอยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงในวงการสหกรณ์ปัจจุบัน สหกรณ์แห่งหนึ่งถูกนายทะเบียนสหกรณ์สั่งยุบเลิกกิจการ สหกรณ์อื่นที่มีธุรกรรมทางการเงินกับสหกรณ์แห่งนี้ก็จะต้องตั้งค่าเผื่อหนี้/เงินฝากสงสัยจะสูญ 100% ตามมาตรฐานการบัญชีตามหลักความระมัดระวัง และถ้าทำเช่นนั้นก็จะทำให้สหกรณ์บางแห่งจ่ายเงินปันผลได้น้อยลงหรือไม่ได้เลย นี่คือมาตรฐาน (สากล) ถูกต้องตามหลักการและแนวปฏิบัติที่ใช้กันทั่วไปในสถาบันการเงินกระแสหลัก หากสหกรณ์ไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกผู้สอบบัญชีตั้งข้อสังเกต กรมตรวจบัญชีก็จะไม่รับรองงบ…แต่หากพิจารณาด้วยจิตวิญญาณสหกรณ์ (หลักการและอุดมการณ์ของสหกรณ์) พิจารณาความเป็นจริงและผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างรอบคอบและรอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบกับสหกรณ์และสมาชิกจำนวนมากที่เกี่ยวข้อง ทางเลือกที่พึงประสงค์ที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า มีความเหมาะสมกับสถานการณ์เฉพาะกรณีมากกว่าการยึดเกณฑ์มาตรฐานภายนอกแต่เพียงอย่างเดียวก็ย่อมเป็นไปได้

เพื่อให้เห็นภาพปัญหา การจัดการปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น ขอยกอุปมาอุปไมยดังต่อไปนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์ดังตัวอย่างที่กล่าวไว้ ถ้าเปรียบการทำงานสหกรณ์เหมือนการขับรถ ผู้ขับรถก็คือประธานกรรมการดำเนินการ ผู้ร่วมนั่งไปในรถก็คือคณะกรรมการดำเนินการทั้งชุด ประธานบางคนอาจจะขับรถซิ่งเพื่อให้ถึงจุดหมายเร็วสุด หรือด้วยความเพลิดเพลินจนขาดความระมัดระวัง เฉี่ยวชนบ้าง ฝ่าไฟแดงบ้าง เกิดอุบัติเหตุมากบ้างน้อยบ้าง ผู้โดยสารบางส่วนก็อาจจะคล้อยตามไปกับคนขับ บางคนก็ไม่กล้าพูดไม่กล้าท้วงติง เมื่อถูกใบสั่ง ในกรณีนี้คือคำสั่งของผู้กำกับสหกรณ์ คำสั่งก็มีระดับความรุนแรงแตกต่างกัน ระดับแรกคือสั่งยึดรถ ไม่ให้ใช้รถอีกต่อไป ในกรณีนี้คือการเพิกถอนหรือยุบเลิกกิจการสหกรณ์ ระดับที่สองเบาหน่อยคือสั่งปรับในกรณีนี้คือการสั่งให้ตั้งค่าเผื่อหนี้/เงินฝากสงสัยจะสูญ

คำสั่งลงโทษทั้งสองประเภท ผู้รับผลกระทบโดยตรงคือสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งมิใช่ผู้กระทำผิดโดยตรง ไม่ได้เป็นคนขับรถ แต่ต้องรับการลงโทษ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนน้อยลงหรือไม่ได้เลย หรือไม่ได้ใช้บริการของสหกรณ์อีกต่อไปเพราะสหกรณ์ถูกยกเลิกกิจการ

มาตรการการกำกับและการลงโทษควรมุ่งไปที่ผู้ขับรถและผู้ร่วมนั่งไปกับรถ (ประธานและคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์) มากกว่าสมาชิกของสหกรณ์หรือขบวนการสหกรณ์โดยรวมใช่หรือไม่?

หากผู้กำกับสหกรณ์มีจิตวิญญาณสหกรณ์ พิจารณาผลกระทบอย่างรอบคอบรอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบต่อสมาชิกและขบวนการสหกรณ์โดยรวม การวินิจฉัย การจัดการปัญหา และการสั่งการก็น่าจะตรงจุด ตรงประเด็นมากขึ้น ส่งผลกระทบทางบวกต่อสหกรณ์มากขึ้น

หากผู้บริหารสหกรณ์มีความรู้ ความเข้าใจ มีศรัทธาและยึดมั่นในหลักการและอุดมการณ์ของสหกรณ์ สมาชิกสหกรณ์มีความรู้ มีความเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง คอยตรวจสอบ สอดส่องดูแลการทำงานของสหกรณ์อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ สหกรณ์แต่ละแห่งและขบวนการสหกรณ์ก็จะเจริญเติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้องดีงาม

ที่นำเสนอมาทั้งหมดก็เพื่อจะบอกว่าจิตวิญญาณสหกรณ์ไม่ใช่และไม่เหมือนจิตวิญญาณธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินทั่วไป จึงไม่ควรที่จะนำมาตรฐานและเกณฑ์กำกับของธนาคารมาใช้กับสหกรณ์ เพราะนอกจากจะไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมแล้ว ยังเป็นการทำลายจิตวิญญาณของสหกรณ์ให้หมดไป เหลือเพียงการเป็นสถาบันการเงินเฉพาะด้าน เฉพาะกลุ่ม (รากหญ้า) และเฉพาะพื้นที่เท่านั้น

จุมพล พูลภัทรชีวิน
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image