แม้ นสพ.จะลดความนิยม แต่สังคมต้องมีนักวารสารศาสตร์ เสียงสะท้อนจากนิสิตนิเทศฯ มน.

ท่ามกลางการเติบโตของสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะ “โซเชียลมีเดีย” ที่ทำให้ประวัติศาสตร์การสื่อสารในทุกระดับของมนุษย์บนโลกใบนี้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ส่งผลให้สื่อมวลชนที่เคยมีบทบาทสำคัญต่อข้อมูลข่าวสารและความคิดผู้คน

อาทิ สื่อวิทยุ โทรทัศน์ ที่ว่ารวดเร็วแล้วกลับดูเชื่องช้าล้าสมัยไป ขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์ตกอยู่ในสถานการณ์ที่วิกฤตยิ่งกว่า ใช่หรือไม่ว่าสื่อกระดาษกำลังจะหมดภาระหน้าที่ในการให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และความบันเทิงกับผู้คนในสังคมแล้วจริงๆ ?

การปิดตัวของหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร และสำนักพิมพ์ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นดัชนีชี้วัดอย่างดีว่าสื่อสิ่งพิมพ์กำลังนับถอยหลังเข้าสู่ภาวะล้มหายตายจาก สอดประสานกับสถาบันระดับอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศหลายแห่งที่ทยอยปิดตัวสาขาวารสารศาสตร์

บ้างก็ยุบสาขาเพื่อผนวกรวมกับสาขาอื่นๆ ที่ผุดขึ้นมาใหม่ เช่น สื่อใหม่ หรือสื่อดิจิทัล เป็นต้น ก็ยิ่งเป็นหลักฐานประจักษ์ชัดว่าภูมิทัศน์สื่อในแบบวารสารศาสตร์นั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอนแล้ว พร้อมกับการเกิดขึ้นของเว็บและเพจข่าวสารที่น่าเชื่อถือที่พร้อมเข้ามา “แทนที่” สื่อเก่าอีกมากมาย

Advertisement
เอกนาถ วิชนี

แต่กลับมีกลุ่มนิสิต-นักศึกษาในอีกหลายสถาบันที่ยังมีความมุ่งมั่น และเชื่อมั่นว่าวารสารศาสตร์ยังเป็นศาสตร์ที่สังคมขาดไม่ได้ และเป็นศาสตร์ที่ต้องปฏิบัติพันธกิจรับใช้สังคมต่อไป เช่นที่นายเอกนาถ วิชนี นิสิตปี 3 ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ และการสื่อสาร (BEC) มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ในฐานะบรรณาธิการคนใหม่หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ “ร่มเสลา” ยืนยันว่าวารสารศาสตร์ยังมีความสำคัญ และจำเป็นต่อสังคม

“ผมขอเปรียบการทำหน้าที่ของ 2 อาชีพ หากคุณเป็นพนักงานดับเพลิง คุณก็ทำหน้าที่ใส่ชุดใส่หมวกใส่เครื่องป้องกันอันตรายและออกไปดับเพลิง แต่หากคุณเป็นนักข่าว หรือนักวารสารฯ คุณมีหน้าที่ที่จะต้องไปค้นหาข้อเท็จจริงด้วยตนเอง หรือร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายอื่นๆ เพื่อกลับมาแจ้งกับสาธารณชนให้ได้ว่า คนที่ถือไม้ขีดไฟมาวางเพลิงนั้นเป็นใคร ทำไปเพื่ออะไร ใครได้ใครเสียจากเหตุการณ์แบบนี้ และควรจะป้องกันหรือเยียวยากับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างไร แค่รายงานว่าควบคุมไปได้แล้วยังไม่พอ นี่คือความสำคัญของการทำหน้าที่ค้นหาและแจ้งข้อมูลข่าวสารในยุคนี้ ซึ่งก็รวมไปถึงการพยายามที่จะเปิดเผยเรื่องสำคัญที่สาธารณชนควรจะได้รับรู้ แต่คนที่มีอำนาจในสังคมพยายามที่จะปกปิดมันด้วย”

“ผมมองว่าวารสารฯเป็นศาสตร์มหัศจรรย์ เพราะมันอยู่กับปัจจุบัน และปรับตัวเองให้พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้ แม้เราๆ จะไม่เปลี่ยนได้เร็วเท่า แต่วารสารฯปรับตัวให้อยู่รอดได้ ดังนั้น หากจะมีส่วนที่น่าเป็นห่วงและเอาตัวไม่รอดในยุคนี้น่าจะหมายถึงตัวคนผลิต หรือคนทำงานด้านวารสารฯ ไม่ใช่วารสารศาสตร์”

Advertisement

ขณะที่การปรับตัวของสื่อหนังสือพิมพ์และความรู้ในด้านวารสารศาสตร์ เอกนาถบอกว่า จากการเข้าไปสำรวจหลักสูตรนิเทศศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน ก็พบว่าหลายแห่งนั้นเริ่มปรับปรุงวารสารศาสตร์ให้มีมิติของสื่อใหม่หรือสื่อออนไลน์หลอมรวมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นการปูแนวทางให้วารสารศาสตร์ได้มีที่อยู่ที่ยืน และยังคงก้าวต่อไปเพื่อทำหน้าที่บริการข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือและโปร่งใสเพื่อสาธารณชนได้ โดยไม่จำเป็นว่าพันธกิจเหล่านั้นจะต้องอยู่ในรูปของสื่อกระดาษอีกต่อไป

พิมวลัย นิ่มรองนาม

นอกจากเอกนาถแล้ว เพื่อนๆ ในกองบรรณาธิการ “ร่มเสลา” อีก 10 คน ส่วนใหญ่ก็มีจุดยืน โดยเฉพาะที่มาที่ไปในการเลือกเรียนวารสารศาสตร์ที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะเป้าหมายในการฝึกปฏิบัติการทำงานข่าว ที่เริ่มมาจากการเป็นคนอ่านมาก่อน ก่อนที่จะหลงรักในเรื่องการคิดและเขียนข่าวในเวลาต่อมา

เช่น นางสาวพิมวลัย นิ่มรองนาม ที่บอกว่า หลงใหลตัวหนังสือมาตั้งแต่สมัยประถม และก็อยากจะเป็นผู้เขียน เพราะตัวหนังสือนั้นมีพลังที่ร่ายมนตร์ได้ เช่นเดียวกับนางสาววนิชา ประทุมทอง ที่ชอบงานวารสารฯ เพราะมีพื้นฐานมาจากการเขียนนิยายตั้งแต่สมัยเรียนประถม

ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ “ร่มเสลา” ภายใต้รายวิชาสัมมนาวารสารศาสตร์ ได้เปิดพื้นที่เพิ่มเติมนอกเหนือจากการผลิตหนังสือพิมพ์ โดยให้นิสิตเปิดเว็บไซต์ข่าวสาร thesalao.com รวมถึงการทำแฟนเพจ the salao เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ติดตามข่าวสารในมหาวิทยาลัยนเรศวร ท้องถิ่นพิษณุโลก และจังหวัดใกล้เคียงโดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่าง

ภายใต้การดูแลของอาจารย์ทิฆัมพร เอี่ยมเรไร และอาจารย์สรรเสริญ เหรียญทอง โดยในช่วงปลายภาคการศึกษาเดือนเมษายน กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติจะร่วมกันผลิตหนังสือพิมพ์ฉบับ free copy เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับนิสิตและผู้สนใจต่อไป

วนิชา ประทุมทอง
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image