ผู้เชี่ยวชาญ “สปาฟา” ยกย่องกรมศิลป์สุดทุ่มเทขุดเขาศรีวิชัย เผย 20 ปีเจอของเป็นตัน ลั่นพร้อมร่วมมือศึกษา

สืบเนื่องกรณีการขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากที่เขาพระรายณ์ หรือเขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งสันนิษฐานว่าคือรัฐโบราณ ‘พันพัน’ ในเอกสารจีนร่วมสมัยยุคศรีวิชัยเมื่อราว 1,300 ปีก่อน โดยโบราณวัตถุสำคัญคือ ‘จักรสัมฤทธิ์’ ซึ่งพบเป็นครั้งแรกของประทศไทย โดยนักโบราณคดีสันนิษฐานว่า อาจเป็นจักรของพระวิษณุ หรือพระโพธิสัตว์ในลัทธิมหายาน กระทั่งมีการเรียกร้องให้ศึกษาอย่างละเอียดพร้อมจัดแสดงให้ชาวบ้านในท้องถิ่นได้ชมนั้น

ดร. วัณณสาส์น นุ่นสุข ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ภายใต้องค์การรัฐมนตรีศึกษาธิการแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO SPAFA) หรือ ‘ซีมีโอ สปาฟา’ กล่าวว่า จักรสัมฤทธิ์ดังกล่าวน่าสนใจมาก อย่างไรก็ตาม ตนไม่เชื่อว่าเป็นจักรของพระวิษณุ หรือใช้ประกอบกับประติมากรรมใดๆ ส่วนตัวเชื่อว่าใช้ในพิธีกรรมในพุทธศาสนามหายาน ลัทธิ ‘ตันตระ’ และอาจไม่ได้เก่าถึง 1,300 ปี

“จักรเป็นสิ่งที่มีความเป็นสากล ถูกใช้ในหลายศาสนา เป็นสัญลักษณ์มงคลที่มีมาก่อนพุทธกับพราหมณ์ด้วยซ้ำ สำหรับจักรสัมฤทธิ์ที่พบล่าสุดนี้ เชื่อว่าอายุน่าจะอยู่แค่ 1,100-1,200 ปี ไม่ถึง 1,300 ปี แต่ไม่ว่าจะเก่าใหม่อย่างไรก็สำคัญ โดยอาจเกี่ยวกับพุทธมหายานซึ่งในยุคดังกล่าวเน้นการทำพิธีกรรมที่ซับซ้อน ใช้อุปกรณ์เยอะ เช่น พวกระฆัง เลยคิดว่าเป็นจักรที่ใช้ประกอบในพิธีกรรม ไม่ใช่การนำมาประกอบประติมากรรม หรือวางให้เคารพในศาลธรรมดา อย่างไรก็ตาม เขาศรีวิชัย ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า หัวเขาบน มีการผสมผสานกันอยู่ทั้งพุทธและพราหมณ์ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทั้ง 2 ศาสนาไม่แยกออกจากกัน ที่นี่อาจไม่ได้แยกด้วยซ้ำว่าศาสนสถานไหนเป็นของศาสนาใด คงจะใช้คู่กันด้วยซ้ำ” ดร.วัณณสาส์นกล่าว

จักรสัมฤทธิ์

ดร.วัณณสาส์นกล่าวอีกว่า การวิจัยที่ผ่านมาของกรมศิลปากรในแหล่งดังกล่าวมีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ความร่วมมือระดับนานาชาติยังไม่ชัดเจน ควรร่วมมือกับกับนักวิชาการนานาชาติที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยไม่จำเป็นต้องทำเอ็มโอยูกับสถาบันใดสถาบันหนึ่ง สำหรับ ‘สปาฟา’ ก็มีความยินดีหากจะมีการพูดคุยถึงการร่วมศึกษาในประเด็นดังกล่าวระดับภูมิภาค ซึ่งควรมองภาพของศรีวิชัยในความเป็น ‘น่านน้ำ’ และไม่ลืมที่จะมองภาพเชื่อมโยงกับอ่าวไทยด้วย

Advertisement

“กรมศิลป์ทุ่มเทกับแหล่งนี้มานานมาก นักโบราณคดีก็ทำงานกันอย่างตั้งใจ เจอโบราณวัตถุเป็นตันๆ เชื่อว่ายังต้องศึกษากันอีกชั่วอายุคน สำหรับความร่วมมือระดับนานาชาติยังไม่เห็นชัดเจนในขณะที่แหล่งใกล้เคียงอย่างเขาสามแก้ว เขาเสก และภูเขาทองในจังหวัดชุมพรมีความร่วมมือกับฝรั่งเศส ความร่วมมือเชิงวิชาการโบราณคดียุคนี้ ควรเชื่อมโยงหลากหลาย ตั้งต้นจากคนที่คุยกันรู้เรื่อง ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มีเยอะ ทั้งฝั่งสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ส่วนนักวิชาการไทยก็อย่าลืมคนจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ไม่จำเป็นว่าต้องจากมหาวิทยาลัยศิลปากรเท่านั้น สปาฟาเองก็ยินดีถ้ามีการพูดคุยเปิดประเด็นศึกษากัน เราควรดูภาพของความเป็นเครือข่ายน่านน้ำ และการเข้ามาผสมผสานของศาสนา ไม่ควรไปผูกกับทวารวดีมากนัก แม้จะเกี่ยวข้องกัน แต่ไม่ใช่ว่าทวารวดีลงมาถึงภาคใต้ด้วย และเมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่มองภาพเชื่อมกับอ่าวไทย จะไม่เห็นภาพที่เกี่ยวกับผู้คนรอบอ่าว” ดร.วัณณสาส์นกล่าว

จักรสัมฤทธิ์ หลังผ่านการทำความสะอาดและอนุรักษ์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image