มหิดลจับมือ 24 สถาบัน ผนึกกำลังสร้างมหาวิทยาลัยยั่งยืน

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาเพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน “From Green to Sustainable University” ณ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ โดยระดมองค์ความรู้จากนักพัฒนาและนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและการศึกษาจาก 24 สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศไทยร่วมงาน หวังเป็นพลังขับเคลื่อนร่วมกันนำสถาบันการศึกษาของประเทศไทยไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืน และเป็นต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืนแก่ภาคส่วนอื่น ๆ ของสังคม

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลและเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืน (Sustainable University Network of Thailand : Sun Thailand) ได้ร่วมกันส่งเสริมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยสู่ความยั่งยืนเพื่อแก้ปัญหามลภาวะของโลก โดยมีการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและดำเนินสู่การสร้างให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่างๆ

ภายในงาน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้บรรยายพิเศษเรื่อง “มหาวิทยาลัยไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยกล่าวว่า ยั่งยืน คือการรักษาในอยู่ในสภาพที่ดีที่สุด แล้วยังสามารถส่งต่อให้ผู้คนรุ่นต่อไปได้ ซึ่งคำว่ายั่งยืนไม่ใช่กระแสหรือแฟชั่นแต่คือสิ่งสำคัญที่ควรตระหนัก เพราะโลกกำลังเผชิญอยู่ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่จำนวนประชากรมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณในพื้นที่ที่มีขนาดเท่าเดิม จึงต้องมีการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนที่ก่อประโยชน์และเกิดความสุข พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ตรัสว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม พระองค์ท่านเน้นการดูแล ดิน น้ำ ลม ไฟ บนพื้นฐานของความถูกต้อง ก็คือธรรมะ ซึ่งเป็นสิ่งที่นำพวกเราไปสู่ความยั่งยืน พระองค์ท่านไม่เคยใช้คำว่ามั่งคั่ง ร่ำรวย แต่ใช้คำว่า ประโยชน์สูงสุด

“ฉะนั้นเราควรมองสิ่งแวดล้อม เป็นธรรมะ คือธรรมชาติ (nature) เป็นประโยชน์ที่ควรรักษา เพราะหากเรามองเป็นทรัพยากร (resource) ก็จะเห็นแต่ทรัพย์ราคาเท่านั้น เราจึงควรปลูกฝังการมองสิ่งรอบตัวอย่างเป็นธรรม ซึ่งสามารถเริ่มได้ในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะของปัญญา แต่อย่าทำให้ยุ่งยากซับซ้อน แก้ไขปัญหาเรื่องธรรมชาติอย่างง่ายๆ ธรรมดาจะนำไปสู่ความยั่งยืนได้” ดร.สุเมธ กล่าว

Advertisement

ด้าน ศาสตราจารย์ แท ยุน ปาร์ค ประธาน Korean Association for Green Campus Initiative (KAGCI) จากมหาวิทยาลัยยอนเซ ประเทศเกาหลีใต้ บรรยายพิเศษว่าด้วยประสบการณ์จากเกาหลีสู่แนวทางเริ่มต้นสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว ซึ่งมหาวิทยาลัยยอนเซ นั้นมีบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ดีทั้งด้านกายภาพและการเรียนการสอน จนติดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชีย โดยมีการบริหารจัดการภายในมหาวิทยาลัยทั้งด้านเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยลดพื้นที่จอดรถ ตลอดจนการลดขยะจากอาหาร การใช้พลังงานทดแทน หรือการบำบัดน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่

“ในด้านการสร้างความยั่งยืนให้โครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาและการวิจัย ก็มีหลักสูตรและการวิจัยเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การพัฒนาวิชาที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยสีเขียว การทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนในท้องถิ่น และในอนาคตจะเพิ่มการติดตั้งและการใช้พลังงานทดแทนในสิ่งอำนวยความสะดวก การดำเนินโครงการบริโภคอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยสีเขียวในประเทศอาเซียน” ศาสตราจารย์ แท ยุน ปาร์ค จากมหาวิทยาลัยยอนเซ กล่าวเพิ่มเติม

นอกจากนี้ในงานเสวนาเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืน ได้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “การดำเนินการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมหาวิทยาลัยในประเทศ” นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รักษาการแทนในตำแหน่งรองอธิการบดี ฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้กล่าวว่า ทั่วพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตรังสิต ได้มีการติดตั้งโซลาร์รูฟ “ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคาร” ซึ่งสามารถลดค่าไฟได้ถึง 10% และได้นำมาประยุต์ใช้กับรถบัสพลังงานไฟฟ้า (EV) เพื่อช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้กำลังดำเนินเกี่ยวกับ การเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำ การใช้กระบอกน้ำแทนขวดน้ำ ส่งเสริมการปฏิเสธพลาสติกบางประเภทที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง พร้อมให้ความรู้ที่มีคุณภาพในการศึกษาวิจัยที่เน้นให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านบริหารทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ เริ่มจากนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียว คือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การประหยัดพลังงาน การแยกขยะ การสร้างพื้นที่สีเขียว และนำไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องของคนและสิ่งแวดล้อมที่จะต้องเปลี่ยนแปลงให้เกิดความยั่งยืน โดยเข้าไปสู่กระบวนการเรียนการสอนและการวิจัยให้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันจึงจะยั่งยืน ด้วยการสร้างเครือข่ายและการตระหนักรับรู้ เพราะหัวใจหลักคือ นิสิต คณาจารย์ และบุคลากร เพื่อนำสู่ประชาคมรอบนอก

สำหรับ ศาสตราจารย์ ดร.ชนิตา รักษ์พลเมือง ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสยาม เข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนเมื่อไม่นาน แต่ได้มีการดำเนินงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย โดยเน้นการพัฒนาเชื่อมโยงกับทั้ง 54 ชุมชนในเขตภาษีเจริญ เพื่อให้เติบโตไปด้วยกันเป็นต้นแบบให้แก่ชุมชนเขตอื่นๆ อาทิ โครงการวิจัยแนวทางการพัฒนาพิพิธภัณฑ์เสมือนบนฐานการมีส่วนร่วมของชุมชนว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงการดำเนินศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน ซึ่งจะมีกิจกรรมหลากหลายที่ทำร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง

ปิดท้ายที่ รองศาสตราจารย์ ดร. กิติกร จามรดุสิต  รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า “สถาบันการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ ผ่านกระบวนการศึกษา และวิจัย เราจึงต้องร่วมมือกันในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการสร้างให้เกิดเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืน จะเป็นส่วนสำคัญของการยกระดับมหาวิทยาลัยภายในประเทศ และเป็นต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืนแก่ภาคส่วนอื่น ๆ ของสังคม”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image