ภาพที่ไม่มีวันบันทึกจบสิ้น ‘ผู้ลี้ภัย’ ปัญหาย้ำซ้ำบนเส้นเวลาประวัติศาสตร์โลก

ระห์มัน โรสลัน - ค่ายอิโดเมนี กรีซ ปี 2559 พ่อผู้ลี้ภัยกำลังปลอบลูกสาวภายนอกเต็นท์ท่ามกลางอากาศช่วงเช้าที่หนาวเย็น

“ผู้ลี้ภัย” เป็นปัญหาที่สังคมไทยเริ่มทบทวนมากขึ้น และยิ่งคืบใกล้เข้ามาจากปัญหาโรฮีนจาล่าสุด ที่คนไทยจำนวนมากแสดงออกว่าไม่อยากให้คนต่างชาติเข้ามาพักพิง แม้เขาจะเจอเรื่องเลวร้ายสาหัสมาก็ตาม

ไม่ใช่เรื่องเหนือคาดหมาย เมื่อผู้คนต่างคิดถึงความมั่นคง และการจัดสรรทรัพยากรจากรัฐ เช่นเดียวกับในยุโรปที่ผู้คนบางส่วนเริ่มคิดว่าการรับผู้ลี้ภัยอาจไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ

อย่างไรก็ดี ในไทยมีผู้ลี้ภัยอยู่ 1.3 แสนคน ส่วนใหญ่อยู่ในค่ายพักพิงชายแดนมาหลายสิบปี และอีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ลี้ภัยในเมืองอยู่ในกรุงเทพฯ จากปากีสถาน เวียดนาม โซมาเลีย อิรัก ปาเลสไตน์ ซีเรีย ฯลฯ

หากเลือกได้ ไม่มีใครอยากเป็นผู้ลี้ภัย แต่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเผชิญปัญหานี้ เมื่อผู้คนทั่วโลกต่างเป็นเจ้าของปัญหาร่วมกัน

Advertisement

เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันถึงปัญหาผู้ลี้ภัย “Visioncy” องค์กรสนับสนุนด้านวัฒนธรรมในประเทศมาเลเซียได้จัด นิทรรศการภาพถ่าย Exodus-Déjà Vu ซึ่งเป็นนิทรรศการสัญจรที่จัดแสดงมาแล้วในประเทศอื่นๆ และคราวนี้ก็เดินทางมาถึงประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจาก UNHCR, สถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย, หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร, Asylum Access Thailand และ Amnesty International Thailand

จิลส์ การาชง

จิลส์ การาชง เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย กล่าวว่า โลกตอนนี้มีผู้พลัดถิ่นกว่า 65 ล้านคน และส่วนหนึ่งเป็นผู้ลี้ภัย จากสาเหตุหลายรูปแบบ

“เรามีงานอีกมากที่ต้องทำกัน เราต้องตระหนักถึงเรื่องผู้ลี้ภัยมากกว่านี้ เมื่อเกิดความสูญเสียขึ้นในทุกที่ จึงต้องคำนึงในมิติการร่วมใจกัน ภาพถ่ายในนิทรรศการนี้มีพลังด้านเนื้อหามาก ทำให้เห็นวิกฤตจากทั่วทุกมุมโลก เมื่อปัญหานี้เข้มข้นขึ้นทุกวันโดยเฉพาะล่าสุดที่ในเมียนมา ที่ผู้ลี้ภัยอพยพไปยังบังกลาเทศ” จิลส์กล่าว

Advertisement
โจชคุน อารัล, ระห์มัน โรสลัน, สุเทพ กฤษณาวารินทร์, โรลองด์ เนอเวอ, วิเวียน ทัน UNHCR

ภาพที่นำมาแสดงสะท้อนและฉายภาพวิกฤตผู้ลี้ภัยทั่วโลก จากหลายเหตุการณ์ หลายช่วงเวลา ผ่านสายตา 7 ช่างภาพ จาก 7 ประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีช่างภาพจากประเทศไทยด้วย

โรลองด์ เนอเวอ-เมืองนิมิต กัมพูชา ปี 2522 หญิงคนหนึ่งหยุดพักจากการเดินเท้าในอากาศร้อนชื้นของฝนมรสุม เหลือการเดินอีกเพียงหนึ่งวันก่อนจะถึงทางรอดที่ชายแดนไทย

1.โรลองด์ เนอเวอ ช่างภาพชาวฝรั่งเศส เริ่มต้นอาชีพด้วยการถ่ายภาพการประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนามและเป็นหนึ่งในช่างภาพข่าวตะวันตกอายุน้อยไม่กี่คนที่อยู่ร่วมเหตุการณ์เขมรแดงที่พนมเปญในปี 2518 โรลองด์นำภาพผู้ลี้ภัยกัมพูชาที่เดินทางมายังพรมแดนฝั่งตะวันตกเพื่อหนีภัยยุคเขมรแดงมาจัดแสดงครั้งนี้

เกือบ 20 ปี ที่โรลองด์เดินทางไปในพื้นที่สงครามทั่วโลกเพื่อถ่ายภาพส่งให้นิตยสารชื่อดังอย่างไทม์ และนิวส์วีค จากชื่อเสียงในฐานะช่างภาพข่าวทำให้เขาเป็นที่ยอมรับในวงการภาพยนตร์ จนมีโอกาสได้ร่วมงานกับผู้กำกับชื่อดังหลายคน

เขาเล่าว่า การจัดแสดงครั้งนี้เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มช่างภาพที่รู้จักกันจากการไปแสดงงานในประเทศต่างๆ จึงชวนกันมาแสดงงานในเรื่องเดียวกัน คือเรื่องผู้ลี้ภัยซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“วันนี้เรามีผู้ลี้ภัย 65 ล้านคนทั่วโลก ในอนาคตอาจแตะ 100 ล้านคน และเป็นปัญหาที่แก้ยาก แม้ผู้ลี้ภัยบางคนอาจหาข้อดีจากการโยกย้ายประเทศได้ เช่น การแต่งงานกับชาวต่างชาติและได้รับสิทธิต่างๆ ในชีวิตใหม่ แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่เป็นอย่างนั้น ผู้คนจะคิดว่าผู้ลี้ภัยเข้ามาแย่งงาน แย่งบ้าน แต่ขณะที่ในยุโรปตะวันตกมีตำแหน่งงานจำนวนมากไม่มีคนทำ เป็นงานที่ต้องใช้แรงงานคน ซึ่งเข้ามาช่วยเสริมด้านเศรษฐกิจได้” โรลองด์กล่าว

โจชคุน อารัล-ชายแดนอิรัก ปี 2534 ของถูกแบกบนบ่า ภรรยาอุ้มลูกน้อยเดินเป็นวันๆ ข้ามภูเขาโดยไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้า หวังเพียงสังคมโลกจะหยุดความทรมานของพวกเขาได้

2.โจชคุน อารัล เริ่มอาชีพช่างภาพข่าวกับหนังสือพิมพ์ในตุรกี เมื่อปี 2517 ต่อมาเป็นผู้สื่อข่าวประจำสำนัก SIPA ในปารีส มีผลงานปรากฏในไทม์และนิวส์วีค และได้รางวัลจำนวนมากจากการสัมภาษณ์สลัดอากาศจี้เครื่องบินเมื่อ 14 ต.ค. 2523 นับจากนั้นโจชคุนเข้าไปถ่ายภาพในพื้นที่สนามรบและเขตความขัดแย้งเกือบทุกพื้นที่ พบเห็นวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยนับครั้งไม่ถ้วน

ครั้งนี้เขานำภาพผู้ลี้ภัยชาวเคิร์ดที่เดินทางข้ามภูเขาหนีภัยอาวุธเคมีของซัดดัม ฮุสเซน ไปชายแดนอิรัก เมื่อปี 2534 มาจัดแสดง

“ผมถ่ายภาพคนจากยุโรปตะวันออกจำนวนมากที่เดินทางไปสู่สวีเดนและเยอรมนี พวกเขากลายเป็น ‘ผู้ลี้ภัย’ ในเวลารวดเร็ว สิ่งที่ผมพบคือเราสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในเวลารวดเร็วมากอย่างน่ากลัว และผู้ลี้ภัยไม่ได้มีแค่นี้แน่นอน แต่ใครก็เป็นผู้ลี้ภัยได้” โจชคุนกล่าว

อิซซา ทูมา-สงครามในอเลปโป ปี 2555 หลังสงครามเหลือเพื่อนบ้านเพียง 10% จากที่เคยมี และคน 10% นี้พร้อมที่จะฆ่าคนอีก 90% ที่เหลือ

3.อิซซา ทูมา เป็นศิลปินที่น่าจับตาในแวดวงศิลปะซีเรีย โดยเริ่มอาชีพช่างภาพในยุค 1990 ก่อตั้งแกลเลอรี่ภาพถ่ายของตัวเองในเมืองอเลปโปเมื่อปี 2534 แต่ต้องปิดตัวลงหลังจากนั้น 4 ปี จากนั้นเขาก่อตั้งหอศิลป์ “เลอ ปงต์” เป็นองค์กรรณรงค์เสรีภาพการแสดงออกและส่งเสริมศิลปะท้องถิ่นผ่านการจัดกิจกรรมระดับนานาชาติ

ในครั้งนี้เขานำภาพถ่ายชุด “สงครามในอเลปโป” มาแสดงให้เห็นภาพช่วงปี 2555 ที่สงครามทำให้อเลปโปเป็นเมืองร้างท่ามกลางความสูญเสีย

เกร็ก คอนสแทนทีน-บังกลาเทศ ก.ย.2560 หญิงโรฮีนจาวัย 25 เล่าว่าเธอและหญิงสาว 3 คนถูกทหารข่มขืนซ้ำๆ หลังหมู่บ้านในเมืองมองดอถูกโจมตี จากนั้นเธอใช้เวลา 7 วันเดินผ่านป่าไปยังบังกลาเทศ

4.เกร็ก คอนสแทนทีน ช่างภาพสารคดีชาวอเมริกัน-แคนาเดียน ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมุ่งถ่ายภาพในประเด็นสิทธิมนุษยชน ความไม่เสมอภาคและความอยุติธรรม โดยใช้เวลา 11 ปี ในโครงการ Nowhere People บันทึกภาพชีวิตของคนไร้รัฐใน 19 ประเทศทั่วโลก และเริ่มถ่ายภาพโรฮีนจา ตั้งแต่ปี 2549

“Exiled To Nowhere: Burma’s Rohingya” หนังสือภาพของเกร็ก ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในหนังสือภาพแห่งปี 2555 จากนิตยสาร Photo District News และ The Independent on Sunday และหนังสือ “Nowhere People” ได้รับยกย่องเป็น 1 ใน 10 หนังสือภาพแห่งปี 2558 จากนิตยสาร Mother Jones

เกร็กนำภาพการอพยพของชาวโรฮีนจาที่เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้วมาให้ชมในนิทรรศการ จากวิกฤตมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นในเมียนมา จนผู้คนหลั่งไหลเข้าบังกลาเทศ

เซอเก โพโนมาเรียฟ-ปี 2558 ผู้อพยพทางเรือมาถึงหมู่บ้านสกาล่าบนเกาะเลสบอส กรีซ

5.เซอเก โพโนมาเรียฟ เป็นหนึ่งในช่างภาพข่าวชาวรัสเซียรุ่นใหม่ที่มีผลงานโดดเด่น จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมอสโกและมหาวิทยาลัยแรงงานและสังคมสัมพันธ์ เป็นที่รู้จักจากการถ่ายภาพข่าวสะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวรัสเซีย รวมถึงภาพเหตุการณ์สงครามและความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซีเรีย กาซา เลบานอน อียิปต์ และลิเบีย เซอเกเคยเป็นช่างภาพประจำสำนักข่าวเอพีเกือบ

สิบปี ปัจจุบันเป็นช่างภาพอิสระ

เขาได้รับรางวัลด้านการถ่ายภาพทั้งระดับประเทศและนานาชาติจำนวนมาก ล่าสุดคือรางวัลชนะเลิศภาพข่าวทั่วไปในการประกวดภาพถ่ายเวิลด์เพรสเพื่อวิกฤตผู้ลี้ภัยในยุโรป และได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ สาขาภาพข่าวด่วน ปี 2559 และชนะเลิศภาพข่าวเด่นในการประกวดภาพถ่ายอิสตันบูล และได้รับเลือกเป็นกรรมการประกวดภาพถ่ายอิสตันบูล ปี 2560

เขานำภาพการเดินทางของผู้ลี้ภัยในยุโรปช่วงปลายปี 2558 มาจัดแสดงครั้งนี้

สุเทพ กฤษณาวารินทร์-ระนอง ปี 2552 ผู้ลี้ภัยโรฮีนจาแสดงรอยแผลเป็นจากการทารุณกรรมโดยกองทัพเรือเมียนมา เมื่อเรือที่หลบหนีถูกตรวจแล้วปล่อยมาพร้อมคำเตือนว่าจะถูกฆ่าถ้ากลับมาพม่า

6.สุเทพ กฤษณาวารินทร์ ช่างภาพชาวไทยที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติจากการนำเสนอภาพประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และมนุษยธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเกือบ 2 ทศวรรษ โดยเชื่อว่าในการทำงานต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทั้งระดับในประเทศและระดับโลก

สุเทพติดตามประเด็นโรฮีนจามาตั้งแต่ปี 2552 บันทึกภาพการเดินทางของโรฮีนจาจากเมียนมาและบังกลาเทศมายังไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย

เขาเผยว่าเข้ามาร่วมโปรเจ็กต์นี้เพราะเห็นว่าเรื่องผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องสำคัญที่คนทั่วโลกควรรับรู้ เพราะเป็นปัญหาใหญ่ของโลกที่มาจากการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม สงคราม และความขัดแย้ง

“ขอบคุณเพื่อนช่างภาพทุกคนที่ช่วยให้คนทั่วไปได้เห็นในสิ่งที่ไม่มีโอกาสได้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นในแต่ละปรากฏการณ์”

สุเทพเผยอีกว่า โรฮีนจากระจายไปที่ต่างๆ ทั่วโลก เฉพาะในตะวันออกกลางก็มีอยู่นับล้านคนที่เข้าเมืองผิดกฎหมายและจะถูกผลักดันออกเมื่อไหร่ก็ได้ กลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลก

“แล้วไทยในฐานะเพื่อนบ้านจะช่วยเหลืออย่างไร ที่ผ่านมาอาเซียนไม่เคยทำอะไร เห็นแต่ประโยชน์ทางการค้า การจะทำการค้าโดยไม่แก้ปัญหาร่วมกันนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อมีผู้อพยพเข้าประเทศมาเราก็ต้องรับปัญหาด้วย การจะผลักดันอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียวได้ต้องแก้ปัญหาผู้อพยพด้วย” สุเทพกล่าว

ระห์มัน โรสลัน – ค่ายอิโดเมนี กรีซ ปี 2559 พ่อผู้ลี้ภัยกำลังปลอบลูกสาวภายนอกเต็นท์ท่ามกลางอากาศช่วงเช้าที่หนาวเย็น

7.ระห์มัน โรสลัน ช่างภาพจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย สนใจในการถ่ายภาพสังคมและผู้คน โดยผลงานของเขาถ่ายทอดทั้งเรื่องอารมณ์และวิธีคิด

ระห์มันเป็นหนึ่งในช่างภาพเอเชียรุ่นใหม่ที่ร่วมอบรมในเทศกาลภาพถ่ายอังกอร์ โดยมีผลงานหลายชิ้นตีพิมพ์กับสำนักข่าวชื่อดังระดับโลกหลายแห่ง ปัจจุบันกำลังศึกษาค้นคว้าประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างอิสลามกับผลกระทบที่มีต่อวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเขานำภาพผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในค่ายอิโดเมนี เมื่อปี 2559 มาจัดแสดง

เขาเผยว่า คนมาเลเซียเจอผู้ลี้ภัยตั้งแต่สมัยคนเวียดนามอพยพเข้ามาทางเรือ มาถึงวันนี้ก็ได้เผชิญปัญหาโรฮีนจาอย่างใกล้ชิด จากการอพยพมาทางเรือ

เขาตระหนักดีถึงความยากลำบากและปัญหาจากการโยกย้ายไปอยู่ในดินแดนอื่น เช่นมุสลิมโรฮีนจาที่เข้ามาอยู่ในมาเลเซียที่คนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมเช่นกัน แต่ก็มีปัญหาด้านความแตกต่างทางวัฒนธรรม ที่แม้รัฐบาลมาเลเซียจะให้การสนับสนุนช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในหลายรูปแบบ แต่ปัญหามีความซับซ้อนและจะไม่จบสิ้น

“สิ่งสำคัญคือเราจะทำอย่างไรกับปัญหานี้?”

ไม่ใช่เพียงคำถามสำหรับชาวมาเลเซีย แต่เป็นคำถามถึงทุกประเทศที่เผชิญปัญหานี้ร่วมกัน

ระห์มันเล่าอีกว่า จากการที่ได้เจอผู้ลี้ภัยซีเรียในยุโรป หลายคนเป็นหมอหรือวิศวกร แต่ต้องมาพักอยู่ในเต็นท์ของค่ายพักพิง ทิ้งอาชีพและบ้านตัวเองมาเพราะภัยต่างๆ ต่างจากภาพที่คนมาเลย์มักคิดว่าผู้ลี้ภัยเป็นคนจนหรือไร้โอกาส

“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย วันหนึ่งคุณอาจต้องเผชิญกับมัน โดยไม่ได้คาดคิดมาก่อนก็ได้” ระห์มันกล่าว

นิทรรศการ “Exodus-Déjà Vu” จัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จนถึง 18 กุมภาพันธ์นี้

โจชคุน อารัล-ชายแดนอิรัก ปี 2534 เด็กหญิงอายุ 3-4 ขวบ ไม่แม้แต่จะร้องไห้จากความหิวและความหนาวเย็น จนเหมือนว่าเธอโตพอจะเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น
สุเทพ กฤษณาวารินทร์-ย่างกุ้ง ปี 2552 หญิงโรฮีนจาซ่อนตัวตนและขอร้องชาวมุสลิมคนอื่นที่มัสยิดใกล้เจดีย์สุเล หวังเงินเพียงพอซื้ออาหารให้ลูก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image