เสน่ห์สุดงดงาม! อ.เผ่าทอง เล่าวิวัฒนาการ ชุดไทย สมัย ร.1-9

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ในฉลองพระองค์สมัยต้นรัชกาลที่ 5 - สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในฉลองพระองค์สมัยรัชกาลที่ 5

เปิดงานอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว” ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ หน่วยราชการในพระองค์ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัดงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว” เพื่อพระราชทานความสุขให้กับประชาชน และเผยแพร่ความงดงามของความเป็นไทยในรูปแบบต่างๆ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระลานพระราชวังดุสิต และสนามเสือป่า

บรรยากาศภายในงานอบอวลไปวิถีชีวิตและสถาปัตยกรรมตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 9 สร้างความสุขให้กับประชาชนที่แต่งชุดไทยในสมัยต่างๆ ทั้งนุ่งโจง ห่มสไบ แม้กระทั่งชุดไทยพื้นเมืองภูมิภาคต่างๆ ของไทย ก็สวมใส่กันมาแบบไม่มีเคอะเขิน

ต่างบันทึกภาพประทับใจกับบรรยากาศในงาน ดอกไม้นานาพรรณที่ประดับประดาอย่างงดงาม รวมทั้งชมนิทรรศการต่างๆ ทุกคนต่างมีใบหน้าที่ยิ้มแย้มและเปี่ยมไปด้วยความสุข

อ.เผ่าทอง ทองเจือ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและประวัติศาสตร์ ได้มาเล่าถึงวิวัฒนาการของชุดไทยให้ผู้สนใจอยากแต่งไทยไปร่วมงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว ได้ศึกษาก่อนหยิบชุดไทยขึ้นมาใส่เฉิดฉายไปถ่ายรูปเก๋ๆ ในงานอย่างมีความสุข ณ พระลานพระราชวังดุสิต และสนามเสือป่า

Advertisement

ชุดไทยสมัย ร.1.4

ชุดไทยในยุคนี้ สำหรับเจ้านายฝ่ายใน ไม่ว่าจะเป็นพระเมเหสี พระเทวีต่างๆ เจ้าจอม พระราชธิดา ส่วนใหญ่จะนุ่งซิ่น จีบหน้านาง ผ้าถุงยาว โดยใช้ผ้าลายอย่างจากอินเดีย ห่มทับท่อนล่าง ส่วนท่อนบนห่มสไบแพรจีนเปิดไหล่หนึ่งข้าง หรือใส่เสื้อคอตั้งผ้าไหมจีนผ่าอก ติดขัดดุม (ติดกระดุม) แขนกระบอก โดยแขนกระบอกจะฟิต ทั้งนี้ ถ้าใส่เสื้อจะมีสไบห่มทับเสมอ โดยจะห่มสไบทับอัดกลีบ หรือไม่อัดกลีบก็ได้

สมัยก่อนการแต่งกายเป็นเครื่องจำแนกความแตกต่างทางสังคม เช่น การอัดกลีบสไบก็เป็นการแสดงความแตกต่างจากสามัญชน โดยทำให้ประณีตขึ้น นอกจากนี้ยังมีการห่มสไบ 2 ชั้น หรือเรียกว่าห่มสไบทรงสพักตร์ อย่างไรก็ตาม พระราชนิยมสมัย ร.1-4 จะเป็นการนุ่งจีบหน้านาง จะเห็นฝ่ายในใส่โจงกระเบนบ้าง แต่ไม่เป็นพระราชนิยม

ชุดไทยสมัย ร.5

ในระยะแรกช่วงต้นรัชกาล จะเห็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นพระมเหสีในรัชกาลที่ 5 เช่น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงชุดไทยจีบหน้านาง แต่ต่อมาพระราชนิยมนุ่งโจงกระเบนกลายมาเป็นที่แพร่หลาย โดยจะนุ่งโจงกระเบน ใส่เสื้อแพรจีนแขนกระบอก ห่มทับสไบ

กระทั่งมีอิทธิพลจากตะวันตกเข้ามา จากเสื้อแพรจีนก็เปลี่ยนมาเป็นเสื้อแหม่มแบบฝรั่ง โดยได้รับอิทธิพลจากราชสำนักรัสเซียและออสเตรีย เสื้อแบบฝรั่งที่นิยมใส่ก็เป็นผ้าลูกไม้จีบระบายต่างๆ ทั้งปลายแขน รอบอก รวมทั้งเสื้อแขนหมูแฮม โดยต้นแขนจะจีบฟองขึ้นฟู และค่อยๆ แคบลงมาถึงข้อมือ

เมื่อเปลี่ยนเป็นเสื้อฝรั่ง เพื่อโชว์เสื้อลูกไม้ ก็เปลี่ยนมาจับหน้าสไบให้แคบลง โดยพับตามยาวให้หน้าสไบแคบลงเหลือประมาณครึ่งเดียว แล้วนำมาสะพายเฉียงไหล่ซ้ายลงมาที่เอวขวา แล้วเอาชายทั้งสองของสไบผูกเป็นโบทิ้งชายสั้นๆ อยู่บริเวณสะโพกขวาด้านหลัง

แต่การผูกโบทำให้ปมใหญ่ไม่สวย ต่อมาจึงเปลี่ยนเอาชายสไบมาทบสะโพกขวาด้านหลัง แล้วใช้เข็มกลัดติดทิ้งชายยาวการแต่งกายแบบนี้เป็นพระราชนิยมตลอดรัชกาล

ชุดไทยสมัยรัชกาลที่ 6

ชุดไทยสมัย ร.6 

รูปแบบการแต่งกายของสุภาพสตรีไทยโน้มเอียงไปทางตะวันตกมากขึ้น เสื้อแขนหมูแฮม เสื้อลูกไม้ สมัยรัชกาลที่ 5 ยังใส่มาถึงตอนต้นของรัชกาลที่ 6 ต่อมาพระองค์โปรดให้เปลี่ยนจากนุ่งโจงมานุ่งซิ่น แต่ไม่โปรดให้เป็นผ้าซิ่นที่เป็นลายอย่างแบบต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่โปรดให้เป็นผ้าหลากหลาย เช่น ผ้าซิ่นลายต๋าจากภาคเหนือ มาใส่กับเสื้อฝรั่ง หรือผ้ายกจากนครศรีธรรมราช จากลำพูน เอามาใส่กับเสื้อลูกไม้ โดยผ้าซิ่นจะถูกนุ่งให้สั้นลงประมาณครึ่งแข้ง จะมีลักษณะผ้าซิ่นทรงกระบอก คล้ายๆ กระโปรงทรงแส็ก

วิวัฒนาการต่อไป สมัยนี้เปลี่ยนจากการสวมเสื้อแบบสมัย ร.5 มาเป็นเสื้อแบบที่เราเรียกกันว่า “แก๊สบี้” คือตัวเสื้อยาวลงไปจนถึงเข่า และนิยมใช้ผ้าบางเบา ส่วนใหญ่เป็นเสื้อคอปาด แขนล้ำ

(แขนกุด) เครื่องเพชร ถ้าไม่ใส่สร้อยยาวลงไปถึงสะดือ ก็จะสร้อยสั้น ติดคอ เรียกกันว่าโชกเกอร์ ซึ่งคนไทยสมัยนั้นเรียกสร้อยแบบนี้ว่าปลอกคอหมา และบางครั้งนิยมเอาสร้อยเพชรมาคาดทับผม หรือคาดหน้าผากเลยก็มี เป็นแบบแก๊สบี้ “ฝรั่ง” เลย

ชุดไทยสมัย ร.7-ร.8

รูปแบบการแต่งกายยังเลียนแบบสมัย ร.6 อยู่ แต่กระโปรงจะเป็นกระโปรงที่สั้นมาถึงใต้เข่า จากนั้นเริ่มเป็นชุดเดรสหรือชุดเสื้อกับกระโปรงติดกัน ซึ่งเกิดขึ้นปลาย ร.6 ต้น ร.7 โดยมีสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ทรงเป็นผู้นำแฟชั่นสมัยนั้น โดยมีห้องเสื้อลองแวงจากปารีสเป็นผู้ทำฉลองพระองค์ถวาย สะท้อนให้เห็นว่าราชสำนักมีความเป็นสากลมาก

ส่วนสมัยรัชกาลที่ 8 พระองค์ไม่มีพระมเหสี ขณะที่เจ้านายฝ่ายในชั้นสูงส่วนใหญ่ประทับต่างประเทศ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า แม้จะประทับในประเทศไทย แต่ก็ยังทรงแต่งกายตามพระราชนิยมสมัย ร.5

ชุดไทยศิวาลัย-ชุดไทยจักรพรรดิ-ชุดไทยจักรี-ชุดไทยอมรินทร์

ชุดไทยสมัย ร.9

ช่วงต้นรัชกาล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ยังทรงแต่งชุดไทยตามพระราชนิยมต่อเนื่องจาก ร.7 กระทั่งเสด็จฯอเมริกา และยุโรป ถึงได้มีการประดิษฐ์ชุดไทยพระราชนิยมขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับวาระโอกาสที่จะต้องออกงาน ประเทศไทยก็จะมีชุดไทยพระราชนิยม 8 แบบ ได้แก่ ชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยดุสิต ชุดไทยอัมรินทร์ ชุดไทยจักรี ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยศิวาลัย และชุดไทยจักรพรรดิ ซึ่งเป็นแบบอย่างของการแต่งกายชุดไทยสืบมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับผู้ชายนั้น อ.เผ่าทองเผยว่า การแต่งกายจะไม่มีรูปแบบมากเท่าผู้หญิง โดยในสมัย ร.1-4 ใส่เสื้อไม่มีลายกับโจงกระเบน ส่วนในสมัย ร.5 เสื้อราชปะแตนกับโจงกระเบน ในสมัย ร.6 เสื้อราชปะแตนกับกางเกงแพร

ย้อนอดีต’งานฤดูหนาว’ เริ่มครั้งแรกสมัยร.5

อ.เผ่าทองเผยว่า สำหรับพระราชนิยมในรัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานย้อนยุค อุ่นไอรัก คลายความหนาว ซึ่งงานฤดูหนาวมีเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงกลางรัชกาลที่ 5 และมีต่อเนื่องมาถึงรัชกาลที่ 6 โดยสมัยนั้นเรียกว่างานฤดูหนาววัดเบญจมบพิตร รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้มีการออกร้านจากหน่วยงานต่างๆ คล้ายกับการจัดงานเอ็กซิบิชั่น งานโอท็อป เพราะสมัยนั้นราษฎรผลิตอะไรออกมาก็ไม่มีใครทราบ ก็จะมารู้จักในงานตรงนี้ หรือหน่วยงานราชการต่างๆ ทำอะไรก็นำมาจัดแสดงให้ประชาชนได้รู้ถึงความก้าวหน้าของแต่ละหน่วยงาน รายได้จากการจัดงานนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยเสด็จพระราชกุศลเพื่อช่วยเหลือพสกนิกรผู้เดือดร้อนต่างๆ

“รัชกาลปัจจุบันทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ ตามพระบรมราชบุพการี พระองค์ทรงรื้อฟื้นกิจกรรมที่สมเด็จพระบรมราชบุพการีได้เคยทรงดำเนินไว้อย่างดีแล้ว”

ขอบคุณภาพชุดไทยพระราชนิยมจาก Vanus Couture – วนัช กูตูร์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image