แรงกระทบ ‘5G’ โรงหมอ-แท็กซี่ ถึงจุดเปลี่ยน?

หมายเหตุ – นายโชติ เหรียญกิตติวัฒน์, CFA เศรษฐกรปฏิบัติการระดับกลาง สำนักบริหารและจัดการเลขหมายโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช. เขียนบทความแสดงความคิดเห็นถึงกรณีเทคโนโลยี 5G เกิดขึ้น และจะมีผลต่อธุรกิจต่างๆ อาทิ โรงพยาบาล แท็กซี่ ฯลฯ

เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงทราบเป็นเบื้องต้นว่า เทคโนโลยี 5G คืออะไรกันมาบ้างแล้ว วันนี้เราจะมาพูดถึงการคาดคะเนความเป็นไปได้ ของการใช้งาน 5G ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในการใช้ชีวิตและการดำเนินธุรกิจว่าจะมีด้านใดได้บ้าง จะส่งผลกระทบอย่างไร และเราควรปรับตัว หรือหาโอกาสที่จะใช้ประโยชน์ในการทำงานและการดำเนินธุรกิจอย่างไรในอนาคต

โดยแก่นแท้ของเทคโนโลยี 5G คือการพัฒนาความเร็วและความเสถียรของการรับส่งอินเตอร์เน็ตของโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้มีมากยิ่งขึ้น ประมาณคร่าวๆ ไว้ว่าจะดีกว่าเทคโนโลยี 4G ในปัจจุบัน 30-100 เท่า

ทั้งนี้ อินเตอร์เน็ตที่เร็วขึ้นไม่ได้ส่งผลแค่การโหลดหนัง หรือวิดีโอในยูทูบได้เร็วขึ้นเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงที่ 5G มีศักยภาพนำไปใช้งาน อาจจะส่งผลลึกซึ้งต่อหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจในอนาคต

Advertisement

ประเทศไทยมีชื่อเสียงในด้านของการให้บริการทางการแพทย์แก่ชาวต่างชาติมาอย่างยาวนาน เป็นหนึ่งใน medical tourism hub ของโลก แต่ยังประสบปัญหาของการขาดแคลนแพทย์ในพื้นที่ห่างไกลจนถึงทุกวันนี้

แม้ทางรัฐบาลและคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะสร้างโครงการเน็ตชายขอบเพื่อเพิ่มศักยภาพในกระบวนการรักษาทางไกลหรือที่เรียกกันว่า tele-medicine ในพื้นที่ชนบทห่างไกล แต่ในปัจจุบันคงเป็นเพียงแค่การตรวจโรคพื้นฐาน ที่อาศัยคนไข้กับหมอสื่อสารผ่านภาพและเสียงกันเท่านั้น การรักษาโรคซับซ้อน หรือการผ่าตัดที่ยุ่งยากนั้น ยังไม่สามารถทำหรือแก้ปัญหาได้

แต่ในอนาคตเมื่อเทคโนโลยี 5G มาถึง การรักษาทางไกลจะไม่จำกัดอยู่เพียงแค่การตรวจอีกต่อไป 5G สามารถทำให้เกิด tactile internet หรือ อินเตอร์เน็ตสื่อสัมผัสŽ ที่การส่งข้อมูลจะมีการส่งที่มากกว่าภาพและเสียง หากรวมถึงการสัมผัสด้วย

Advertisement

ลองนึกภาพดูก็เหมือนกับจอยบังคับเครื่องเล่นใน play station ที่มีระบบสั่นในรูปแบบต่างๆ เมื่อตัวละครในเกมประสบเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง

ในที่นี้ระบบสั่นของจอยบังคับจะแปลสภาพเป็นการสร้างระบบสัมผัสให้กับผู้บังคับเชื่อมต่อกับหุ่นยนต์ผ่านอินเตอร์เน็ต 5G ซึ่งเราจะสามารถนำหุ่นยนต์มาใช้ในการรักษา เช่น การผ่าตัดทางไกล tele-surgery ที่ควบคุมโดยแพทย์นั่งอยู่ในโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตสื่อสัมผัสดังกล่าว

นอกจากจะเป็นการขยายการบริการสาธารณะสุขในพื้นที่ห่างไกลแล้ว เทคโนโลยี 5G ยังเปิดโอกาสให้โรงพยาบาลชั้นนำในเมืองขยายธุรกิจไปยังต่างแดนได้อย่างคาดไม่ถึง

ถ้ายกตัวอย่างเชื่อมโยง เช่น โรงพยาบาลเอกชนอันดับหนึ่งของไทยที่มีจุดอ่อนเรื่องการขยายสาขา ทำให้ปัจจุบันโรงพยาบาลดังกล่าวมีแค่แห่งเดียวในสุขุมวิทใจกลางเมือง เป็นอุปสรรคในการขยับขยายในการใช้ประโยชน์จากแบรนด์ไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลกสร้างรายได้ให้ก้าวกระโดด

แต่เมื่อใดเทคโนโลยี 5G เข้ามาถึง โรงพยาบาลดังกล่าวไม่จำเป็นต้องขยายสาขาเลยก็เป็นได้ เพียงแค่สร้างศูนย์การรักษาทางไกลทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยที่ยังใช้บุคลากรการแพทย์หัวกะทิที่นั่งทำงานในกรุงเทพฯที่ให้บริการการรักษาผ่านอินเตอร์เน็ตสื่อสัมผัส

นี่เท่ากับเป็นการเพิ่มศักยภาพของแบรนด์ชั้นนำของไทยให้ก้าวไกลได้ยิ่งขึ้น

อีกการประยุกต์ใช้ที่ถูกคาดหมายว่าจะสามารถทำให้เป็นจริงได้เมื่อโลกเข้าสู่ระบบ 5G ก็คือ ระบบขนส่งอัจฉริยะ Intelligent Transport System (ITS) ที่ครอบคลุมถึงรถยนต์ไร้คนขับ autonomous driving

ในที่นี้จะเป็นการประยุกต์ใช้ IoT หรือ Internet of Things เพื่อเชื่อมโยงการสื่อสารของอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เซ็นเซอร์ตามท้องถนนและตัวรถ เพื่อการวางแผนเส้นทางการเดินทางให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในส่วนของระบบขนส่งมวลชนของประเทศ เช่น การปรับปรุงเส้นทางเดินรถของรถเมล์ หรือความถี่ในการเดินรถไฟฟ้า เป็นต้น

เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาเต็มที่ก็อาจจะสามารถฝันถึงการใช้รถยนต์อัจฉริยะไร้คนขับที่ต้องอาศัยอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่ออย่างมีประสิทธิภาพและมีความเสถียรอย่าง 5G จึงจะสามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ แน่นอนว่าถ้าสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริง การจราจรในกรุงเทพฯก็คงคล่องตัวเป็นอย่างมาก เพราะมารยาทในการขับขี่ของผู้ใช้รถยนต์ยังเป็นปัญหาอยู่ในเวลานี้ จะถูกแทนที่ด้วยการใช้หุ่นยนต์มาควบคุมรถแทน

ในส่วนของรูปแบบธุรกิจนั้น ตัวอย่างของการนำมาใช้ที่ชัดเจนนั้นคงต้องกล่าวถึงตัวอย่างนอกประเทศ นั่นก็คือ วิสัยทัศน์ของมหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่นเลือดเกาหลี Masayoshi Son ที่เป็นผู้บริหารค่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง Soft Bank ที่มีประวัติในการลงทุน start up เทคโนโลยีต่างๆ เป็นระยะเวลายาวนาน รวมถึงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นคนแรกที่กล้าให้ทุนกับแจ๊กหม่าสร้าง Alibaba ให้เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเอเชียในวันนี้

ในเวลานี้ Masayoshi มีกองทุน start up ที่ชื่อ Vision Fund ที่เป็น Venture Capital fund ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีเม็ดเงินเกือบหนึ่งแสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3 ล้านล้านบาท อยู่ภายใต้การบริหาร

ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา Masayoshi ยังกว้านซื้อหุ้นลงทุนในบริษัทให้บริการแท็กซี่บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลกทั้ง Uber ในอเมริกา DiDi ในจีน และ Grab ในอาเซียน ใช้เม็ดเงินเดิมพันอย่างน้อยสองหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือหกแสนล้านบาท

สาเหตุที่ Masayoshi ทุ่มทุนอย่างมโหฬารในกิจการดังกล่าวเพราะเชื่อว่าในอนาคตเมื่อนำเทคโนโลยีสมองกลอัจฉริยะ Artificial Intelligence (AI) ที่บริษัทในเครือกำลังพัฒนาประกอบกับโครงข่ายอินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในอนาคตมาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่ติดบนถนนและในตัวยานยนต์ที่เชื่อมต่อข้อมูลเข้าด้วยกันผ่านอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงและเสถียรอย่าง 5G ที่ปกคลุมทั่วเมือง หรืออาจจะทั่วโลกผ่านการให้สัญญาณจากดาวเทียมตามวิสัยทัศน์ของเขาแล้วจะสามารถสร้างระบบยานยนต์ไร้คนขับที่มีการประมวลผลแบบเรียลไทม์ตลอดเวลา เป็นระบบครบวงจรกลายเป็นระบบขนส่งอัจฉริยะที่เชื่อมโยงในกันในชั่วพริบตา

การใช้รถยนต์ไร้คนขับจะช่วยแก้ปัญหาสำคัญที่ทำให้ Uber ขาดทุนอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งก็คือแบ่งรายได้จำนวนมากให้กับคนขับรถที่มาให้บริการ

แนวโน้มอาจเป็นไปได้ว่าอาชีพคนขับแทกซี่ การให้บริการเช่ารถ หรือแม้แต่การซื้อขายรถยนต์สูญพันธุ์ไปเลย

ในเมื่อเราสามารถเรียกใช้บริการรถยนต์ไร้คนขับไปที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ผ่านแอพพลิเคชั่นในมือถือ จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีขับรถหรือการครอบครองรถยนต์อีกต่อไป

และสุดท้ายที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยคือการที่ 5G สามารถนำ augmented reality (AR) และ virtual reality (VR) หรือการสร้างโลกเสมือนจริง มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งสองอย่างนี้ไม่เหมือนกันสักทีเดียวนัก AR คือการขยายความจริงเพิ่มเติมสรรพสิ่งในโลกขึ้นมาใหม่ ตัวอย่างที่เคยเป็นที่โด่งดังที่ผ่านมาก็คือ Pokemon Go ซึ่งเป็นเกมบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ทำให้เรามองเห็นตัวละครภาพเสมือนบนสภาพแวดล้อมบนโลกจริงๆ ได้ผ่านกล้องของโทรศัพท์เคลื่อนที่

ในขณะที่ VR คือการสร้างโลกเสมือนจริงขึ้นมาใหม่ทั้งหมดโดยไม่อิงสิ่งแวดล้อมเดิม แน่นอนว่าทั้งสองอย่างจะช่วยปฏิวัติให้วงการเกมและสื่อเปลี่ยนไปในอนาคต เพราะผู้เล่นและผู้รับชมจะสัมผัสได้ถึงประสบการณ์ที่สมจริงยิ่งขึ้นผ่าน VR และ AR นี้

นอกจากนี้แล้ว AR และ VR อาจจะทำให้วงการการค้าปลีกเปลี่ยนไป

จากการสำรวจของธนาคารยูบีเอส UBS กับกลุ่มผู้บริโภคกว่า 5,000 คนในอาเซียน พบว่าปัจจุบันอี-คอมเมิร์ซเป็นที่แพร่หลายในระดับหนึ่งในภูมิภาคนี้ แต่มักจะจำกัดอยู่กับสินค้าที่ไม่ต้องการการจับต้องหรือการเห็นตัวอย่างจริงนัก เช่น เสื้อผ้าทั่วไปหรือเครื่องสำอาง เป็นต้น

การเลือกซื้ออาหารสดหรือการซื้อเครื่องประดับหรือสินค้าที่มีแบรนด์ เช่น เสื้อผ้าราคาแพงยังคงต้องอาศัยประสบการณ์ตรงของผู้ซื้อในการเลือกสินค้าจากทางร้านอยู่ แต่เมื่อ VR และ AR เข้ามา เราอาจจะสร้างโลกเสมือนจริงในการทดลองใช้สินค้า และมองเห็นตัวสินค้าจริงๆ ผ่านอินเตอร์เน็ตเมื่ออยู่ที่บ้านโดยไม่ต้องเข้ามาที่ร้านเลยก็ได้ ยิ่งเป็นการเสริมให้อี-คอมเมิร์ซเติบโตได้เป็นทวีคูณในอนาคต

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การบริการของ Ule.com ซึ่งเป็นอี-คอมเมิร์ซ ดาวรุ่งพุ่งแรงของจีนที่เกิดจากการร่วมทุนของการไปรษณีย์จีน หรือ China Post กับมหาเศรษฐีชาวฮ่องกง ลีกาชิงŽ จัดระบบสมัครสมาชิกร้านขายของชำทั่วมณฑลเจ้อเจียง เพื่อใช้บริการอี-คอมเมิร์ซที่ผู้คนในพื้นที่ห่างไกลสามารถเลือกสินค้าบนมือถือและให้ไปรษณีย์จีนมาส่งสินค้าที่ร้านขายของชำท้องถิ่นในวันถัดมา

ลูกค้าสามารถมารับสินค้าที่ร้านขายของชำและชำระเงินได้ ซึ่งวิสัยทัศน์ของ Ule คือการสร้าง virtual Wal Mart หรือห้างเสมือนจริง ในทุกที่ผ่านเครือข่ายร้านขายของชำหรือร้านโชห่วยที่เป็นเหล่าสมาชิกนี้

บริษัทแม่ไม่ต้องลงทุนไปขยายสาขาในที่ห่างไกลเลย ซึ่งถ้านำเทคโนโลยี AR หรือ VR ผ่าน 5G มาใช้ ก็อาจจะสามารถสร้างประสบการณ์ที่เหมือนจริงในการเลือกซื้อสินค้าได้เลย โดยไม่ต้องมีตัวห้างในหมู่บ้าน แต่ชาวบ้านได้ประโยชน์เหมือนการเลือกซื้อสินค้าในห้างจริงๆ ที่สามารถสั่งและรอรับของได้ในวันถัดไป

การประยุกต์แนวคิดนี้กับ 5G ถือเป็นการพลิกโฉมหน้าของการค้าปลีกในอนาคต

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า 5G ที่เป็นอินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่ความเร็วสูง จะสามารถนำเทคโนโลยีการประยุกต์ใช้ ทั้งอินเตอร์เน็ตสื่อสัมผัส Internet of Things และ Virtual Reality ที่ 4G ไม่สามารถทำได้มาใช้ในอนาคต

แน่นอนว่าผลกระทบเรื่องการแพทย์ การขนส่ง และการค้าปลีกที่ได้กล่าวมานั้นยังเป็นวิสัยทัศน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่ก็ถือว่ามีโอกาสและความเป็นไปได้ ทั้งนี้ วิเคราะห์จากแผนการลงทุน หรือวิสัยทัศน์ของผู้นำธุรกิจในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าโลกในอนาคตจะเป็นไปในรูปแบบที่คิดในปัจจุบันเสมอไป แต่หวังว่าจะช่วยให้ผู้อ่านได้เห็นภาพของโลกอนาคตยุคที่มี 5G เป็นอย่างไร

และควรจะเตรียมพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงหรือหาโอกาสสร้างความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่นี้เพื่อไม่ให้เราหลุดกระแส

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image