นายกฯชูสิทธิมนุษยชน เป็นวาระแห่งชาติ อจ.หวั่นแค่คำพูดหรู

หมายเหตุ – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษเพื่อประกาศ “วาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ขณะที่นักวิชาการ และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ความเห็นกรณีดังกล่าว



พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

การประกาศวาระแห่งชาติ มีมุ่งหมายสำคัญ 4 ประการประกอบด้วย 1.การส่งเสริมนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ให้ขับเคลื่อนไปได้ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 2.รัฐบาลมีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังผ่านรัฐธรรมนูญในมาตราสี่ ที่กล่าวถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองทั้งนโยบายของรัฐบาล 3.เป็นการแสดงเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นร่วมมือกันกับคนในชาติในการส่งเสริมสนับสนุนและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 4.เป็นการเพิ่มศักยภาพการขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่สาม จะหมดวาระลงในปี 2561 เป็นการวางรากฐานประกาศให้ 10 ใช้แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในฉบับที่ 4

เราต้องพูดให้ครบ เรื่องการมีสิทธิเสรีภาพ เราจะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ถือเป็นเรื่องสำคัญ จะต้องคำนึงถึงหลักปฏิญญาสากล สิทธิมนุษยชนในฐานะที่เราเป็นสมาชิกภาคีของสหประชาชาติ ที่ผ่านมารัฐบาลปัจจุบันไม่เคยละเลยการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชน รัฐธรรมนูญมีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจน และทุกวันนี้มักไปอ้างในรัฐธรรมนูญ แต่อย่าลืมว่ายังมีกฎหมายลูกอีกจำนวนมากภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพ มี พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องหลายฉบับจึงขอความกรุณาช่วยศึกษากันให้รอบคอบด้วย ไม่เช่นนั้นความขัดแย้งจะเกิดขึ้น

ผมไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้นำที่ดีที่สุด แต่มีเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศนี้ให้ได้ นี่พูดกับผู้มีเกียรติทั้งหลายที่เป็นชาวต่างประเทศ ฉะนั้นต้องสื่อสารด้วยกันทั้งสองทาง มีเรื่องก็แจ้งมาจะตรวจสอบให้ กฎหมายกระบวนการยุติธรรมว่าอย่างไรไปว่ามา ไม่ว่าเจ้าหน้าที่หรือใครก็ตาม รัฐบาลจะลงโทษสถานหนักกับผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ขอให้แยกให้ออกว่าอะไรคือการละเมิดกฎหมายหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้อื่น เส้นตรงนี้มันบางๆ ใกล้กัน ขอฝากให้ช่วยกันดูแลด้วยจึงจะแก้ปัญหาได้

Advertisement

ขอเน้นคำว่า การใช้สิทธิต่างๆ ต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นด้วย ในรัฐธรรมนูญเขียนไว้มีสิทธิเสรีภาพ แต่มี พ.ร.บ.หลายฉบับต้องไม่ละเมิดด้วย สิ่งเหล่านี้ต้องนำไปพิจารณาด้วยในเรื่องของสิทธิมนุษยชน ฝากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ด้วย หากมองประเด็นใดประเด็นหนึ่งจะไม่สงบไม่ยั่งยืน จะมีปัญหาแน่นอนในวันหน้าต่อไป ประเทศต้องมีประชาธิปไตยอยู่แล้ว ขอให้ศึกษากฎหมายลูกทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญด้วย เราต้องดูแลกลุ่มผู้เปราะบาง การเมืองก็คือการเมือง ถามว่าออกมาเคลื่อนไหวการเมืองกันไหมก็ออกมาทุกวัน แล้วจะปล่อยให้ไม่มีกฎหมายเลยได้หรือไม่ก็บานปลายไปเรื่อยๆ พอดำเนินการตามกฎหมายปล่อยตัวออกมาก็เคลื่อนไหวกันอีก ถามทุกประเทศจะแก้ปัญหานี้อย่างไร สิ่งสำคัญเรื่องการเมืองจะทำอย่างไรให้การเมืองกับกฎหมายเกิดความสมดุล ไม่ให้สังคมเกิดความวุ่นวายมีปัญหาในการที่จะเป็นประชาธิปไตย จากการตรวจสอบพบว่าประชาชนที่ถูกดำเนินคดีไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้เลยว่าอะไรผิดอะไรถูก

ใครคิดว่าประเทศไทยแก้ปัญหาไม่ถูกต้อง ช่วยแนะนำผมด้วย เพราะการเคลื่อนไหวนี้มีเจตนามุ่งหมายเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่เจตนาที่บริสุทธิ์ อนุโลมทุกวันไปเรื่อยๆ ถ้าสังคมโอเครับแบบนั้น ถ้าวุ่นวายก็แล้วแต่เลือกเอา อย่าให้คำว่าสิทธิเสรีภาพหรือสิทธิมนุษยชนไปล้มทุกอย่างก็จะเป็นปัญหากับเจ้าหน้าที่ รัฐบาล กสม. อัยการ และศาล ปัญหาเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีกแล้วในโลกนี้ ไม่อย่างนั้นจะเกิดการสู้รบ สำหรับการแก้ปัญหาภาคใต้ก็เช่นกัน จะเอาสูตรสำเร็จจากที่อื่นมาแก้ก็ไม่ได้ จึงต้องตัดเสื้อของเราเพื่อให้แก้ปัญหาได้สบายตัว ทุกคนพอใจมีความสุข


 

Advertisement

เตือนใจ ดีเทศน์
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

กรณีที่นายกฯประกาศเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ ถือเป็นเจตนารมณ์ที่ดีของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นเจตนาในทางบวก ขอให้มีการนำแนวคิดและหลักการที่ประกาศเป็นวาระแห่งชาตินั้นไปปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสิทธิทางการเมืองและสิทธิความเป็นพลเมือง เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ซึ่งทางกรรมการสิทธิฯเพิ่งมีข้อเสนอแนะไปเรื่องของ Strategic Lawsuits Against Public Participation (SLAPPs) หรือการฟ้องปิดปาก

ช่วงหลังๆ ภาคเอกชนหรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีการดำเนินคดีฟ้องร้องกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือการเลือกตั้ง ดังนั้น จึงอยากเห็นรัฐบาลได้ปฏิบัติตามเจตนารมณ์วาระแห่งชาติสิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0

บนเวทีปาฐกถาท่านนายกฯก็พูดในเรื่องของสิทธิชุมชน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไว้สมดุลและยั่งยืน ตามหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืน การแก้ปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ซึ่งถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี แต่ส่วนตัวอยากเห็นการปฏิบัติจริง การติดตามผลและการประเมินผล โดยเฉพาะเรื่องการฟ้องปิดปาก คือทำให้แกนนำนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ต้องได้รับการคุ้มครอง เพราะเขามุ่งที่จะปกป้องประโยชน์ส่วนรวม


 

สุขุม นวลสกุล
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ผมคิดว่ามันอยู่ในสถานะลำบาก รัฐที่ไม่ให้ประชาชนเลือกตั้ง จะมาพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนก็จบตั้งแต่ต้นแล้ว เหมือนกับท่องจำมาพูด แต่ไม่ได้มีภาพของการปฏิบัติ เรารู้จัก ผมเองก็รู้จักสิทธิมนุษยชน แต่ในฐานะผู้ปกครองยังให้ไม่ได้ ภาพของรัฐบาลปัจจุบันจึงเป็นภาพที่ไม่ไว้ใจประชาชนให้มีสิทธิมนุษยชน

ถามว่าช้าไปหรือไม่กับการยกสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ ผมว่าเป็นไปตามกระแสมากกว่าความตั้งใจจริง ไม่ได้เป็นการเคารพจริง เมื่อเขามีกัน เราก็มี เราพยายามพูดให้เห็นว่าเรารู้ว่าเป็นอย่างไร แต่เหมือนไทยเรายังไม่พร้อม ต้องเข้าใจปัญหาภายในของเราด้วย เหมือนกับบอกให้รู้ ไม่ใช่ว่าเราไม่รู้จัก เพียงแต่มันไม่มีของจริงก็เท่านั้น ใจความสำคัญของสิทธิมนุษยชนมันขาดไป ซึ่งสิทธิมนุษยชนเป็นของทุกคนทุกผู้ แต่นี่เหมือนเป็นสิทธิมนุษยชนของรัฐ ไม่ใช่ที่เป็นปฏิญญาสากล

สิทธิมนุษยชนของรัฐที่ว่านี้หมายถึงว่า รัฐเป็นคนกำหนดว่าคืออะไรบ้าง ไม่ได้หมายถึงสิทธิมนุษยชนที่เป็นแนวคิดของสากล เพราะฉะนั้นกลายเป็นว่าเราทำอะไรได้บ้าง ต้องถามรัฐ เพราะรัฐเป็นคนกำหนดว่าทำอะไรได้

ทางที่ดีมันควรเป็นของสากลที่ทุกคนยอมรับ เช่น อย่างน้อยที่สุดที่เราเห็นในบ้านเมืองนี้คือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น วันนี้มันถูกตัดไปเยอะ คุณแสดงความคิดเห็นได้ทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องเกี่ยวกับรัฐ


 

สุรพงษ์ กองจันทึก
ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ

อย่างแรกต้องขอชื่นชมที่รัฐบาลประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ ที่ผ่านมานายกฯได้พูดเรื่องสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศหลายครั้ง ซึ่งก็ออกมาในคำพูดที่สวยงาม เป็นประโยชน์ในการสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศไทยในระดับสากล แต่ที่ผ่านมาการดำเนินการให้เป็นไปอย่างที่พูดยังค่อนข้างเป็นปัญหามาก แม้แต่คำพูดนายกฯเองในบางครั้งก็ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐ

คนจำนวนมากในสังคมไทยยังไม่เข้าใจในหลักสิทธิมนุษยชน ยังมองคนไม่เท่าเทียมกัน มีการรังเกียจ เดียดฉันท์ มีทั้งการแสดงออกและความพยายามกำจัดฝ่ายที่คิดไม่ตรงกัน หรือกระทำการบางอย่าง สังคมต้องทำความเข้าใจว่าทุกคนมีคุณค่าเท่ากัน ไม่ควรมีใครที่พยายามกำจัดใครออกไป

สำหรับไทยแลนด์ 4.0 การทำงานหลายเรื่องต้องพัฒนาให้ทันโลก ซึ่งพัฒนาไปมากแล้ว อย่างประเด็นสิทธิมนุษยชน มีวิธีการขับเคลื่อนเพื่อลดช่องว่างของคน สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญ แต่คนไทยจำนวนมากยังไม่ตระหนัก

คำว่าสิทธิมนุษยชนจึงยังเป็นแค่คำพูดสวยๆ หรูๆ ที่ออกมา แต่การปฏิบัติยังไม่ได้เป็นไปตามนั้น และบางครั้งก็เป็นการแปลเจตนาผิดพลาด กลายเป็นการนำไปตีความเอื้อประโยชน์ให้คนบางคน ทำให้เกิดช่องว่างมากขึ้นต่อคนอีกกลุ่ม จะเห็นว่าคนมีเงิน มีอำนาจจะค่อนข้างมีอภิสิทธิ์ด้านต่างๆ ในขณะที่คนเล็กคนน้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมไทย ยังถูกละเมิดและไม่ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกับคนที่มีฐานะสูงกว่า

ข้อเสนอแนะ คือเราต้องทำเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจังด้วยความเข้าใจ เพื่อพัฒนาสังคมให้มีความสุขร่วมกัน ไหนๆ รัฐนำเรื่องนี้ขึ้นมาแล้ว ก็ต้องกลับมามองว่าสิ่งที่ทำไปขัดหลักสิทธิมนุษยชนอย่างไรบ้าง เชื่อว่าทุกคนพูดได้ในหลักการสวยหรู และรู้ว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องดี พูดถึงหลักการ แต่ไม่ได้ทำตามนั้น เอาเข้าจริงๆ ยังมีคำพูดกระแนะกระแหนว่า “พวกนักสิทธิมนุษยชน”

ในหลักการพูดดี แต่พอพูดถึงคนทำงานกลับมองในแง่ลบว่าเป็นพวกขัดขวางความเจริญของบ้านเมือง ทั้งที่สิ่งที่พูดเป็นหลักสิทธิมนุษยชนทั้งนั้น เราจะทำอย่างไรให้คนในสังคมไทยทุกคนเป็นนักสิทธิมนุษยชน ให้ข้าราชการและทหารเป็นนักสิทธิมนุษยชน นี่เป็นเรื่องสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image