สพฐ. ปรับนโยบายประชุมผอ.สพท. 3 เดือนครั้ง

นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า  ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) จะจัดประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ประมาณ 1-2 เดือนครั้ง แต่ตนต้องการให้ ผอ.สพท.ได้มีเวลาทำงานในพื้นที่เต็มที่มากขึ้น ดังนั้น  ปี 2561 จึงกำหนดจัดการประชุมใหม่เป็น 3 เดือนครั้ง  ครั้งแรกจัดที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจัดไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยตนได้เน้นให้ใช้เวลาประชุมในห้องประชุมไม่มาก แต่ให้แบ่งกลุ่มลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียน เป็น21 สาย เพื่อไปดูหน้างานแล้วนำปัญหากลับมาประชุมหารือ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยประเด็นที่วางไว้ คือ ภาพรวมของโรงเรียน  การบริหารจัดการสอดคล้องกับนโยบายของสพฐ.หรือไม่ โรงเรียนมีจุดเด่นอะไร และการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงหรือรัฐบาล ติดปัญหาอุปสรรคอะไรหรือไม่ ต้องการรับการสนับสนุนอะไรบ้าง เป็นต้น โดยหลังจากประชุมแล้วก็ให้กลับไปดำเนินการในพื้นที่หลังจากนั้นอีก 3 เดือนก็มาติดตามผลกันในการประชุมครั้งต่อไปว่า แก้ปัญหาอะไรสำเร็จบ้าง

“การทำงานของผมจะสวนทางกับในอดีต  คือ ผมจะฟังความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติข้างล่างขึ้นมา  เพราะที่ผ่านมาเมื่อสั่งการลงไปแล้ว เราไม่รู้ว่าห้องเรียนมีความพร้อมหรือไม่ เขตพื้นที่ฯมีความพร้อมหรือไม่ ต้องให้การสนับสนุนอะไรอีกบ้าง ทั้งเรื่องคนและงบประมาณ จึงจำเป็นต้องรับฟังเพื่อทราบปัญหาก่อน อย่างไรก็ตามขณะนี้ สพฐ.ได้ตั้งงบประมาณไว้หลายร้อยล้านบาท รอเพียงให้โรงเรียน และ เขตพื้นที่ฯมีเป้าหมายว่า จะยกคุณภาพการศึกษากันอย่างไร มีเป้าหมายและวิธีการอย่างไร แล้วเสนอมาของบประมาณจาก สพฐ. เป็นงบฯแลกเป้า”นายบุญรักษ์กล่าวและว่า สิ่งที่ สพฐ.กระตุ้นอยู่เสมอ คือ ถ้าเขตพื้นที่ฯ พบปัญหา ก็ต้องหาวิธีแก้ไขปัญหา ซึ่งอาจใช้วิธีการประชุมระดมสมองครูในโรงเรียนก็ได้ เช่น ถ้าไปดูโรงเรียนอื่นแล้วเห็นวิธีการแก้ปัญหาก็กลับมาพีแอลซีในโรงเรียนตัวเองว่า เรายังขาดและต้องพัฒนาเรื่องอะไรบ้าง เพราะงบฯสามารถขอได้ทั้งปี ซึ่งสพฐ.เตรียมงบฯไว้แล้ว แต่จะไม่จัดงบฯลงไปทีเดียว แต่จะให้สามารถจัดได้และขอได้ทั้งปี เพราะเราต้องการให้โรงเรียน คิดเอง ทำเอง เน้นสื่อมือทำที่มันสอดคล้องกับพื้นที่  จะไม่เน้นสื่อจากส่วนกลาง เว้นแต่ที่เป็นสื่อสากลที่จะต้องใช้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image