ศธ.เดินเครื่องปฏิรูปการศึกษาคนพิการ

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ นายชัยพฤกษ์  เสรีรักษ์   เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ  ที่มีนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน ว่า  ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2560-2564  ซึ่งสาระสำคัญของแผนดังกล่าว จะสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560  โดยกำหนดวิสัยทัศน์ว่า คนพิการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีความสุข  มีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยวิถีพอเพียง  โดยมียุทธศาสตร์ หลักๆ อยู่ 8 ยุทธศาสตร์ คือ การขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง  ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาพิเศษ ทุกระดับ ทุกระบบ พัฒนาระบบเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสารรองรับการจัดการศึกษาระบบดิจิทัล  ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ที่มุ่งยกระดับมาตรฐานการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ  เร่งผลิตและพัฒนาและจัดระบบบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูคณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาตามาตรฐานวิชาชีพ  พัฒนาประสิทธิภาพการเรียนรู้สู่ความเป็นเลิศ  พัฒนาระบบงบประมาณ และทรัพยากรทางการศึกษาสำหรับคนพิการ และพัฒนาระบบบริหารจัดการแบบองค์รวมเชิงบูรณาการโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

นายชัยพฤกษ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมมีข้อสังเกตว่า จะต้องทำแผนปฏิบัติการให้สอดรับกับแผนจัดการศึกษาดังกล่าวด้วย ขณะเดียวกันที่ประชุมยังพูดถึงการจัดการศึกษาพิเศษในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งหมายถึง การศึกษาสำหรับคนพิการ การศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ  และการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส ซึ่งสามกลุ่มนี้ ต่อไปจะต้องมีการใช้คำนิยามที่ชัดเจน ซึ่งมีผู้เสนอว่า ต่อไปอาจจะต้องใช้คำว่า การศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ  ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นว่า ในช่วงเวลานี้ อยู่ในระหว่างการปฏิรูปการศึกษา เพราะฉะนั้น คงต้องถือโอกาส เปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาสำหรับ สามกลุ่มนี้ โดยอยากเจาะเป็นพิเศษ สำหรับกลุ่มคนพิการ และกลุ่มผู้ที่มีความสามารถพิเศษ ส่วนกลุ่มด้อยโอกาส ให้แยกเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง โดยมีมติให้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาสำหรับผู้มีความต้องการจำเป็นพิเศษ โดยมีเลขาธิการสกศ. เป็นประธาน และผู้ทรงคุณวุฒด้านการศึกษาพิเศษ และผู้ทรงคุณวุฒิในหลาย ๆ ด้าน ร่วมเป็นกรรมการ

“การดำเนินงานของคณะกรรมการฯชุดนี้ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายคนพิการ และคนที่มีความสามารถพิเศษ ตั้งแต่เกิดจนตลอดชีวิต โดยให้พิจารณาในเรื่องโครงสร้างการบริหารจัดการคนกลุ่มนี้ด้วยว่า ต่อไปควรจะมีหน่วยงานขึ้นมาหรือไม่ หน่วยงานนี้จะทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติ หรือหน่วยสนับสนุน หรือหน่วยควบคุมกำหนด และควรจะเป็นหน่วยงานในกับกับ หรือควรจะเป็นหน่วยงานอิสระ โดยคณะกรรมการฯชุดนี้จะต้องคิดงานเป็น 2 ระยะ โดย 2 เดือนแรกจะต้องได้ข้อสรุปเพื่อนำเสนอคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) พิจารณา กับระยะที่ 2 คือ จัดทำข้อเสนอแนะเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป”นายชัยพฤกษ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image