สุสาน 2,400 ปี ใช้ศพทำพิธีกรรม

(ภาพ-INAH)

สถาบันประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยาแห่งชาติ (ไอเอ็นเอเอช) ของประเทศเม็กซิโก เปิดเผยถึงการขุดพบหลุมฝังศพหมู่ลักษณะประหลาดระหว่างการขุดค้นเพื่อบูรณะสภาพหมู่บ้านโบราณ ซึ่งพบซุกซ่อนอยู่ใต้ดินในบริเวณที่ตั้งของมหาวิทยาลัยพอนติฟิคัล ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ เม็กซิโก ทางตอนใต้ของกรุงเม็กซิโกซิตี้ เมืองหลวงของประเทศ ซึ่งสร้างขึ้นทับพื้นที่ตั้งหลักแหล่งของชุมชนโบราณเก่าแก่หลายศตวรรษ

ลักษณะของหลุมศพที่ขุดพบแตกต่างออกไปจากหลุมศพทั่วไป จนทำให้การค้นพบครั้งนี้มีลักษณะเด่นเฉพาะมากที่สุดในทางโบราณคดีนับตั้งแต่มีการค้นพบแหล่งตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณทลาลปันในเม็กซิโกเมื่อปี 2006 เป็นต้นมา หลุมศพดังกล่าวนี้มีลักษณะทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เมตร ฝังศพรวมกันนับได้ 10 ศพ มีข้าวของที่ฝังร่วมหลายอย่าง รวมทั้งหิน เหยือกเซรามิก และถ้วยชาม ศพที่พบมีทั้งเพศชายและเพศหญิง ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว เช่นเดียวกับศพทารกแรกเกิดและทารกวัยกำลังคลาน

ทีมขุดค้นยังไม่สามารถระบุสาเหตุการเสียชีวิตของแต่ละศพได้ และบอกไม่ได้เช่นกันว่าทั้งหมดมีความเกี่ยวพันเป็นเครือญาติกันหรือไม่ แต่สังเกตพบว่าบางศพมีร่องรอยการถูกกระทำเพื่อปรับเปลี่ยนสภาพร่างกาย อาทิ การบังคับให้เกิดการเปลี่ยนรูปของกะโหลกศีรษะโดยเจตนา ซึ่งพบใน 2 ศพ และการแต่งฟันในอีก 2-3 ศพ ลักษณะของการปรับเปลี่ยนสภาพร่างกายดังกล่าวนั้นเป็นที่นิยมกันในหลายวัฒนธรรมโบราณยุคเมโสอเมริกา

นอกจากนั้น สภาพศพทั้งหมดยังถูกฝังเรียงเป็นลักษณะก้นหอย ซึ่งไฮเมนา ริเวรา นักโบราณคดีเม็กซิกัน ผู้อำนวยการขุดค้นครั้งนี้ชี้ว่าอาจบางทีเป็นลักษณะที่บ่งบอกถึงพิธีกรรมโบราณ

Advertisement

ในขณะที่ช่วงอายุของศพ ยังอาจเป็นการจัดการศพเพื่อแสดงให้เห็นเป็นสัญลักษณ์ของช่วงชีวิตตั้งแต่การเกิดจนถึงการตายอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image