อะไรกันนักหนา

อะไรกันนักหนา แค่เวลา 3 เดือนให้ประชาชนไม่ได้
ไม่ได้ทวง ขอเร็วไปกว่าเดิมด้วยซ้ำ
เลือกตั้งพฤศจิกายน 2561 ไม่มีใครบีบบังคับพูด แต่ บิ๊กตู่žพูดเอง ให้คำมั่นสัญญาเอาไว้กับประชาคมทั้งภายในและต่างประเทศ

เมื่อมีคนลุกขึ้นทวงถาม กลับจับกุมดำเนินคดี รับไม่ได้
มันอะไรกันนักหนา บ้านนี้เมืองนี้

รัฐบาล คสช.พยายามชี้แจง การเขียนกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยยืดเวลาบังคับใช้ออกไปอีก 90 วัน จากร่างเดิมที่ระบุ มีผลบังคับใช้นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ตัวเลขงอกออกมาอีก 90 วันไม่เกี่ยวกับรัฐบาล
แต่ยิ่งชี้แจงก็ดูเหมือนยิ่งเข้าตัว

แม่น้ำ 5 สาย มีหัวหน้า คสช.ที่เป็นผู้นำรัฐบาลเป็นต้นธารใหญ่ ลงนามแต่งตั้ง สนช.-คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เลือกเฟ้นตั้งผู้มีความคิดความอ่านทางการเมืองเหมือนกันมาทำหน้าที่เป็นตัวแทนในฝ่ายนิติบัญญัติ
อย่าว่าแต่ซ้ายหันขวาหันเลยอันเป็นธรรมดาพื้นฐาน
ตีลังกากลับหัวก็ยังทำได้

Advertisement

นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมเมื่อแจงแล้ว มีคนเชื่อและมีคนไม่เชื่อ
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเป็นใคร ไม่ใช่สมาชิก คสช.หรอกเหรอ
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นใคร มิใช่ที่ปรึกษาหัวหน้า คสช.หรอกหรือ
วิษณุ เครืองาม รองนายกฯมือกฎหมาย อธิบายล่าสุด ก็ยิ่งเพิ่มข้อสงสัย

เมื่อยกคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 53/2560 ขึ้นมากล่าวอ้าง
เป็นคำสั่งฉบับเดียวกันกับที่ออกมาเพื่อแก้ไขข้อบังคับใช้ที่ไม่มีผลในทางปฏิบัติจริงของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองบางมาตรา ที่มีผลบังคับใช้แล้ว
แต่มีการนำคำสั่ง คสช.ออกมายืด ขยาย กิจกรรมเกี่ยวกับสมาชิกพรรคการเมืองออกไป
วิษณุบอกว่า คิดว่าเมื่อพูดถึงโรดแมปที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ คนจะคิดได้แบบเดียวกัน

โดยหากนับเช่นนั้นก็จะมีวันและเวลาล็อกไว้อยู่แล้ว ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาบอกว่าจะมีเลือกตั้งเมื่อไหร่ เช่น เดือนพฤศจิกายน 2561 หรือไม่ และไม่อยากตอบว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นในต้นเดือนมีนาคม 2562 เพราะความชัดเจนทั้งหมดจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้

Advertisement

ที่เมื่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับเลือกตั้ง ประกาศใช้หมดแล้ว จากนั้นตามคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 กำหนดให้ คสช. ครม.เชิญประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประธาน สนช. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวมถึงพรรคการเมืองมาถามความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งทุกอย่างต้องปรากฏชัดในวันนั้น และลักษณะนี้ก็เคยทำมาแล้วเมื่อตอนที่อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯŽ

ดูจากคำสั่งข้อ 8 ก็ไม่ต่างจากการให้ คสช.เข้ามามีบทบาท บงการ ในฐานะผู้ประสานงานเช็กความพร้อมเลือกตั้งอีกครั้งทั้งที่ตามกฎหมายแล้ว เมื่อกฎหมายลูกเลือกตั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ครบ วัน เวลาเลือกตั้งก็ย่อมต้องดำเนินไปตามกรอบรัฐธรรมนูญ ที่เขียนบัญญัติให้จัดเลือกตั้งภายใน 150 วัน
ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดเลยที่ต้องถามอีก ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่พร้อม เหตุผลทางการเมืองยืดเลือกตั้งอีก

ที่เป็นคำถามมากไปกว่านั้นก็คือ คำสั่งแบบนี้ หากออกมาก่อนการเขียนกฎหมายลูก 4 ฉบับ ระบุให้ชัดถึงเจตนารมณ์ ความมุ่งมั่นของ คสช.ที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 โดยหากมีข้อขัดแย้งอะไร ก็ให้แม่น้ำแต่ละสายประสานภายในแก้ให้จบ เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบเวลา เรื่องอย่างนี้ก็ย่อมอยู่ในวิสัยที่ทำได้ หรือหากไม่อยากให้เป็นที่เอิกเกริกให้ประชาชนรู้ว่า หัวหน้า คสช.สั่งแม่น้ำแต่ละสายได้ ก็ใช้วิธีประสานกันเป็นการภายในก็ได้

เพราะมีชัยก็ใช่คนอื่นไกล สมาชิก คสช. พรเพชร ก็ที่ปรึกษาหัวหน้า คสช.
เรื่องคอขาดบาดตายอย่างยึดอำนาจยังทำได้

แค่นี้ทำไม่ได้ –ใครเขาจะเชื่อ

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image