สพฐ.จี้ครูเปลี่ยนแปลง เป็นต้นแบบที่ดีของเด็ก

นายบุญรักษ์  ยอดเพชร เปิดเผยภายหลังการประชุมขับเคลื่อนนโยบาย “สร้างโรงเรียนคุณธรรม นำสู่คุณภาพการศึกษา พัฒนาภาษาอังกฤษและเทคโนโลยี สร้างวิถีรักการทำงาน สืบสานความมั่นคงต่อสถาบัน สร้างสรรค์ไทยนิยม” ที่จัดหวัดพิษณุโลก ว่า การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงการขับเคลื่อนนโยบายโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ให้กับผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)พิษณุโลก เขต 1เพื่อให้เกิดความตระหนักในบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบของอาชีพครู ในการสร้างสรรค์คุณธรรมในโรงเรียน และเป็นต้นแบบที่ดีงามของนักเรียน อีกทั้งเป็นการประกาศนโยบายสำคัญของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1 ที่จะให้โรงเรียนสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9  โดยใช้รูปแบบของโรงเรียนคุณธรรม ที่ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนรับรู้และยอมรับความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงโรงเรียนให้ดีขึ้น   มีส่วนร่วมในการระดมความคิดเพื่อกำหนดแนวทางลด ละ เลิก พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์และร่วมกันส่งเสริมพฤติกรรมที่พึงประสงค์ โดยใช้หลักคุณธรรม  3 ประการคือ ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ และมีจิตอาสา  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพแวดล้อม บรรยากาศความร่วมมือและพฤติกรรมของนักเรียนในทางบวก รวมถึงส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา การเรียนต่อ อัตราการออกกลางคันและคุณธรรมจริยธรรม

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสภาพสังคมปัจจุบัน แม้กระทั่งในโรงเรียนหลายเรื่อง ทั้งความขัดแย้งระหว่างเด็กกับเด็ก เหตุการณ์ที่เราไม่พึ่งประสงค์ที่ให้เกิดขึ้นระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กซึ่งมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมทุกวัน  บางเรื่องก็ที่จะพอแก้ไขได้ บางครั้งก็รุนแรงจนสังคมรับไม่ได้ เราทราบดีว่า สังคมเราเริ่มเป็นห่วงว่าการศึกษาจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร ขณะนี้สพฐ. ได้เชิญหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเด็ก องค์กรที่เสริมสร้างคุณธรรม มาพูดคุยกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน แต่ข้อเท็จจริงแล้วต้องการให้เกิดผลในระยะยาว เราจึงต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงจากภายใน คือ ตัวของครูอาจารย์และตัวเด็ก สำหรับโครงการโรงเรียนคุณธรรมในวันนี้ ทำให้เห็นว่าประเทศไทยเรามีทางออก ในเรื่องที่จะแก้ไขให้สังคมของเราดีขึ้น ทั้งสังคมในโรงเรียนและสังคมนอกโรงเรียน  ซึ่งหลักการของโรงเรียนคุณธรรมทั้ง 6 ข้อ  เราสามารถที่จะปฏิบัติได้ และ สพฐ.  ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเด็ก ถึง 10 ล้านคน ผ่านครู 4 แสนกว่าคน  ต้องนำเรื่องนี้เข้าไปสู่โรงเรียนให้มากที่สุดและเร็วที่สุด คิดว่าในปีงบประมาณ 2561  จะพยายามให้องค์ความรู้กับผู้อำนวยการเขต ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู ทั้งในห้องประชุมและในระบบทางไกล อย่างน้อยให้เข้าใจหลักการโรงเรียนคุณธรรมก่อน  ให้ตัดสินใจเข้าร่วมถ้าสนใจจะทำ สพฐ. ยินดีที่จะให้การสนับสนุนงบประมาณ ในการสร้างทักษะชีวิต สร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง” เลขาธิการกพฐ. กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image