’ไอซีโอ’ žกระแสร้อนเงินดิจิทัล รัฐห่วงตกขบวน…ลังเลออกกฎเหล็ก

ช่วงนี้อาจจะได้ยินคำว่า คริปโตเคอเรนซีŽ กันมากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้มีคำฮิตๆ อย่าง

บิทคอยน์Ž เข้ามาเขย่าตลาดเงินในบ้านเรา ก่อนที่จะไปลงรายละเอียดและพูดถึงการระดมทุนรูปแบบใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ต้องเข้าใจก่อนว่าในชีวิตประจำวันเราทำธุรกรรมทางการเงินรวมถึงจับจ่ายซื้อของด้วยเงินตราที่มีกฎหมายรองรับ (Fiat money) เช่น ในรูปแบบเงินบาท

อัพเดตราคาคริปโตเคอเรนซี

เจ้าคริปโตเคอเรนซี หมายถึง สกุลเงินดิจิทัล ซึ่งถูกตั้งขึ้นมาใหม่และเพิ่งเกิดขึ้นมาในโลกใบนี้ ปัจจุบันมีประมาณ 1,400-1,500 สกุล โดยสกุลเงินที่ได้รับความนิยม เช่น อีเธอเรียม (อีเธอร์) บิทคอยน์ บิทคอยน์แคช ริปเปิล ไลท์คอยน์

Advertisement

โดยราคาเปรียบเทียบ ณ เวลา 13.50 น. วันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับเงินบาท 1 อีเธอร์ มีค่าประมาณ 30,115 บาท, บิทคอยน์ มีค่าประมาณ 343,500 บาท, บิทคอยน์แคช มีค่าประมาณ 48,650 บาท, ริปเปิล มีค่าประมาณ 36.15 บาท, ไลท์คอยน์ มีค่าประมาณ 7,130 บาท

สิ่งที่น่าเป็นห่วงและทำให้เงินดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง คือราคามีความผันผวน ขึ้นลงได้ตลอดเวลาตามความต้องการในตลาด ถ้าคนต้องการมากราคาก็แพง เช่น บิทคอยน์ ที่มีราคาสูงลิ่ว ต่างกับเงินตราปกติที่มี

หน่วยงานรัฐเป็นผู้ควบคุมดูแลค่าเงินให้เหมาะสม โดยใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้นแม้ว่าคริปโตเคอเรนซีจะเป็นเงินสกุลในรูปแบบใหม่ ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้และลดข้อจำกัดทางการเงิน แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงสูงพอๆ กับผลตอบแทนที่ดึงดูดใจนักลงทุนที่ต้องการจะเก็งกำไรค่าเงิน

Advertisement

ธปท.แจ้งเตือนแบงก์พาณิชย์

ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศขอความร่วมมือสถาบันการเงินไม่ให้ทำธุรกรรม หรือมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอเรนซี ทั้งการเข้าไปลงทุนหรือซื้อขายเพื่อประโยชน์ของสถาบันการเงินและหรือผลประโยชน์ของลูกค้า การให้บริการรับแลกเปลี่ยน การสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเป็นสื่อกลางทำธุรกรรมระหว่างลูกค้า การใช้บัตรเครดิตในการซื้อ และการรับให้คำปรึกษาเพื่อลงทุนหรือการแลกเปลี่ยน คริปโตเคอเรนซี ขณะเดียวกัน ธปท.ก็ผนึกกำลังร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อย่างเข้มข้น เพื่อหาทางป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดจากคริปโตเคอเรนซี สอดคล้องกับหน่วยงานทางการทั่วโลกที่ยังไม่มีกฎหมายออกมารองรับอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

เจมาร์ทขายเจฟินคอยน์เกลี้ยง

และสิ่งที่ควบคู่ไปด้วยเมื่อมีคริปโตเคอเรนซี นอกเหนือจากการเก็งกำไรค่าเงิน คือ การระดมทุนด้วยเหรียญดิจิทัล (ไอซีโอ) โดยในสัปดาห์เดียวกันกับที่แบงก์ชาติประกาศคุมเข้มคริปโตเคอเรนซี บริษัทเจ เวนเจอร์ส จำกัด (เจวีซี) บริษัทลูกของบริษัท เจมาร์ทจำกัด (มหาชน) เปิดระดมทุนไอซีโอเป็นรายแรกของเมืองไทย โดยการออก เจฟินคอยน์Ž ซึ่งใช้สกุลเงินบาทเป็นเงินสกุลหลักในการระดมทุน

สำหรับเหรียญหรือโทเคนที่จะเสนอขายต่อประชาชนเป็นครั้งแรก โดย นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (เจวีซี) ให้ข้อมูลว่าจะทำไอซีโอ 100 ล้านโทเคน ในราคาเหรียญละ 6.6 บาท รวมมูลค่าทั้งหมด 660 ล้านบาท เพื่อที่จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปพัฒนาระบบสินเชื่อแบบไม่มีตัวกลาง หรือเรียกว่า Decentralized Digital Lending Platform (DDLP) โดยระบบนี้จะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งจะสามารถสร้างระบบสินเชื่อที่ไม่มีตัวกลางในการกู้ยืมและทำให้ระบบการกู้ยืมมีประสิทธิภาพ รวมถึงการแก้ปัญหาพื้นฐาน อย่างการเข้าไม่ถึงระบบสถาบันการเงินด้วย

สำหรับไทม์ไลน์การเสนอขายไอซีโอนั้น เจวีซีได้เปิดให้จองซื้อ (พรีเซล) ตั้งแต่วันที่ 14-28 กุมภาพันธ์ 2561 และเริ่มเปิดขายจริงช่วงวันที่ 1-31 มีนาคม 2561 ผ่านเว็บไซต์ https://www.jfincoin.io/ แต่พอเปิดซื้อขายได้เพียง 3 วัน ก็ปรากฏว่าสามารถขาย เจฟินคอยน์ได้หมดในช่วงพรีเซล โดยนายธนวัฒน์ระบุเพิ่มเติมว่า มีนักลงทุนสนใจจองซื้อประมาณ 2,100 ราย และขายหมดภายในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ หรือ รวมเวลาประมาณ 55 ชั่วโมง นับจากเวลาที่เปิดให้จองซื้อŽ

ก.ล.ต.ดูแลเฉพาะเข้าข่ายตราสาร

อย่างไรก็ตาม เจฟินคอยน์ของเจวีซีจะเป็นรูปแบบยูทิลิตี้ คอยน์ ซึ่งหมายถึงการออกเหรียญเพื่อใช้ในแพลตฟอร์มของกลุ่มเจมาร์ท ต่างกับคริปโตเคอเรนซีทั่วไป เช่น บิทคอยน์ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน จุดนี้จึงเป็นจุดสำคัญของไอซีโอที่ฝ่ายกำกับจะต้องเข้ามาพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากหน่วยงานกำกับอย่าง ก.ล.ต.มีขอบเขตดูแลกำกับไอซีโอที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นตราสารทางการเงิน คล้ายกับหลักทรัพย์ที่อยู่ใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 แต่ก็ต้องรอดูเกณฑ์คุมไอซีโอที่ชัดๆ อีกครั้งก่อน

โดย นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. ย้ำถึงแนวทางการดูแลไอซีโอว่า เราผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเรียบร้อยแล้ว และจะต้องรวบรวมมาพิจารณาก่อนออกเป็นประกาศแนวทางการกำกับดูแลต่อไป คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งหลักเกณฑ์ต้องดูว่าการเข้าไปกำกับดูแลเรากังวลเรื่องอะไร เช่น ความถูกต้องของข้อมูล ตัวตนที่แท้จริงของคนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง การเก็บรักษาทรัพย์สิน ทั้งนี้ ยังมีเวลาอีก 2-3 สัปดาห์ที่จะดูว่าจะนำกฎหมายไหนที่มีอยู่มากำกับคริปโตเคอเรนซีได้บ้าง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีประเทศไหนมีแนวทางการกำกับดูแลชัดเจน เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่ทุกประเทศเจอ

ด้าน นางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ ก.ล.ต. ก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า การออกไอซีโอของบริษัทจดทะเบียนบางแห่ง ก.ล.ต.ยังกำกับดูแลไม่ได้ เพราะเกณฑ์ยังไม่ออก อีกทั้ง ก.ล.ต.ยังไม่มีอำนาจสั่งห้ามได้ เพราะยังตรวจสอบไม่ได้ว่าผิดกฎหมายหรือไม่ แต่เข้าใจว่าบริษัทที่จะออกไอซีโอก็ต้องทำให้ชัดเจน

คริปโตเวชั่นออกสกุลซีเอ็กซ์โอ

และแม้ว่าเกณฑ์การกำกับดูแลการระดมทุนแบบใหม่ยังไม่ออก แต่ขณะนี้นอกจากเจมาร์ทแล้ว เราเริ่มเห็นบริษัทจดทะเบียนและสตาร์ตอัพเริ่มให้ความสนใจกับไอซีโอมากขึ้น หนึ่งในนั้นก็มีสตาร์ตอัพน้องใหม่อย่าง คริปโตเวชั่นŽ ที่ก่อตั้งบริษัทขึ้นมาเมื่อปี 2559 เพื่อทำธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สิน ก่อนจะมารีแบรนด์ใหม่ในปีที่ผ่านมา โดยมุ่งไปที่การทำกำไรจากส่วนต่างราคาของตลาดคริปโตเคอเรนซีในแต่ละแห่ง และทำธุรกิจที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีบล็อกเชน โดยในปีนี้คริปโตเวชั่นจับมือกับพันธมิตรต่างประเทศ ออกคริปโตเคอเรนซีใหม่โดยใช้สกุลเงินว่า ซีเอ็กซ์โอŽ และเตรียมจะออกไอซีโอด้วย

นายพลเดช อนันชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คริปโตเวชั่น จำกัด เล่าว่า บริษัทได้ร่วมมือกับเอเชีย เวลท์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อังกฤษ และทำธุรกิจบริหารจัดการความมั่งคั่งให้กับลูกค้าทั่วโลก เปิดตัว CryptovationX ICO (ซีเอ็กซ์โอ) และเตรียมทำไอซีโอด้วย โดยใช้สกุลเงินอีเธอร์สำหรับการระดมทุน

ซึ่งการทำไอซีโอนี้ นายพลเดชเล่าเพิ่มเติมว่า จะระดมทุนทั้งหมด 900 ล้านซีเอ็กซ์โอ หรือคิดเป็น 50,000 ล้านอีเธอร์ โดย 1 อีเธอร์จะมีมูลค่าประมาณ 10,800 ซีเอ็กซ์โอ เพื่อนำเงินไปวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ สำหรับให้บริการด้านการลงทุนในคริปโตเคอเรนซี

การทำไอซีโอนี้จะซื้อขายด้วยอีเธอร์หนึ่งในสกุลเงินดิจิทัล โดยปัจจุบันอีเธอร์เป็นคริปโตเคอเรนซีที่นิยมใช้มากที่สุดหรือประมาณ 80% มีราคาเมื่อเทียบกับเงินบาท ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ อยู่ที่ประมาณ 30,000 บาท ทั้งนี้ในเรื่องของความเสี่ยงที่หลายคนยังกังวล ประกอบกับเทคโนโลยีบล็อกเชนยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย แต่เชื่อว่าในอนาคตผู้ลงทุนจะมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ส่วนคริปโตเคอเรนซีในไทย มองว่ารัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นหรือแบนอะไร แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอเกณฑ์การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และประกาศของ ธปท.ที่ออกมาก็ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าห้ามทำ แต่เป็นการออกแนวทางการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์มากกว่าŽ นายพลเดชกล่าว

ส่วนไทม์ไลน์ของคริปโตเวชั่น คาดว่าจะออกไวท์เปเปอร์ภายในเดือนมีนาคมนี้ ก่อนจะเปิดจองซื้อในวันที่ 20 มีนาคม – 12 เมษายน 2561 และขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตจาก ก.ล.ต.สิงคโปร์ เนื่องจากบริษัทเองจดทะเบียนในสิงคโปร์ ด้วยเหตุผลว่าสิงคโปร์เป็นฮับทางการเงิน และให้ความช่วยเหลือสตาร์ตอัพขนาดเล็กในลักษณะยืดหยุ่น

ดับบลิวเอชเอสนออกไอซีโอ

นอกจาก นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจให้เช่านิคมอุตสาหกรรมและเดินระบบสาธารณูปโภครายใหญ่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เคยกล่าวไว้ในงานแถลงข่าวของกลุ่มบริษัทเช่นกันว่า สนใจจะออกไอซีโอภายในปีนี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้

หรืออย่างบริษัท ตุ๊กตุ๊กพาส จำกัด สตาร์ตอัพที่ให้บริการด้านการท่องเที่ยวผ่านตู้บล็อกเชน เว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่น ก็จะทำไอซีโอโดยการเสนอขายเหรียญตุ๊ก ตุ๊ก พาส คอยน์ (TTPC) จำนวนทั้งหมด 1,000 ล้านโทเคน โดย 1 TTPC จะมีมูลค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ โดยในรอบแรกจะเสนอขายให้กับนักลงทุนทั่วไปก่อน 70 ล้านโทเคน ระหว่างวันที่ 19 กุมภาพันธ์-30 มิถุนายน 2561 เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการใน 4 ประเทศ คือไทย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น สามารถนำโทเคนที่ได้รับไปใช้แทนเงินสดได้ เมื่อใช้บริการตุ๊กตุ๊กพาส โดยนักลงทุนรอบแรกมีสิทธิซื้อโทเคนรอบต่อๆ ไปในราคาเดิม

ไอซีโอบูมในบริษัทจดทะเบียน

ดังนั้นหลังจากนี้จะเห็นบริษัทต่างๆ ออกไอซีโอกันมากขึ้น นั่นก็อาจจะทำให้เห็นรูปร่างหน้าตาของไอซีโอและคริปโตเคอเรนซีได้ชัดมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังมีข้อกังวลอยู่บ้างว่าแล้วถ้าเกณฑ์การกำกับดูแลของรัฐบาลออกมาไม่ทันจะเกิดอะไรขึ้น หรือที่ ก.ล.ต.บอกว่าจะให้คำตอบเดือนหน้านั้น ช้าไปหรือไม่?

โดยผู้ที่อยู่เบื้องหลังการให้คำปรึกษาอย่าง นายกรณ์ จาติกวณิช ประธานสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้มีบริษัทจดทะเบียนและสตาร์ตอัพเข้ามาปรึกษาที่ทางสมาคมฟินเทคและมีความสนใจจะออกไอซีโอประมาณหลักสิบบริษัท แต่ไม่ถึง 100 บริษัท โดยส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทต้องการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น หรือมีโมเดลธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชนอยู่แล้ว

ไอซีโอและคริปโตเคอเรนซีในไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะเพื่อดูกลุ่มจำนวนบริษัทที่สนใจจริงๆ ทั้งนี้ในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา ทางสมาคมฟินเทคก็ทำงานประสานกับ ก.ล.ต.มาโดยตลอด และเห็นพัฒนาการการเปิดรับของฝ่ายกำกับดูแล โดย ก.ล.ต.กำลังประเมินอยู่ 2 ส่วน คือการคำนึงว่าควรจะเปิดพื้นที่หรือไม่ และการอยู่ระหว่างศึกษาว่าแนวทางการกำกับดูแลไอซีโอควรไปในทางไหน เพราะฉะนั้นมองว่าถ้ายิ่งเร่งให้ออกเกณฑ์ดูแลกำกับเร็วๆ แต่พอออกมาแล้วกลับไม่เหมาะสม คิดว่าจะเป็นปัญหามากกว่า และอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เป็นบวก เพื่อลดประเด็นความกังวลของฝ่ายกำกับและประชาชนทั่วไป รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กลไกฟินเทคโดยรวมŽ นายกรณ์กล่าวไว้อย่างน่าคิด

แนะนักลงทุนอ่านไวท์เปเปอร์

สอดคล้องกับที่ นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า เกณฑ์การกำกับดูแลไอซีโอที่ทาง ก.ล.ต.กำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้ก็ไม่ได้ช้าไป แต่ถือว่าเร็วมาก อย่างบางประเทศไม่มีเกณฑ์มากำกับดูแลด้วยซ้ำ และย้ำถึงการเปิดเผยข้อมูลที่ ตลท.ให้ความสำคัญมาโดยตลอดว่า การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทย่อยที่เกี่ยวเนื่องกับบริษัทจดทะเบียนนั้น ในไวท์เปเปอร์จะต้องระบุสาระสำคัญที่ผู้ลงทุนควรรู้และใช้เป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจก่อนลงทุน เช่น นักลงทุนซื้ออะไรไป มีผลประโยชน์อะไรอย่างไร แต่ไม่ถึงขั้นว่าตลาดหลักทรัพย์จะต้องออกเกณฑ์มาเลยว่าต้องเปิดเผยข้อมูลอะไรบ้าง

ขณะที่ นายสันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลท. เคยให้สัมภาษณ์เพื่อเตือนนักลงทุนไว้ว่า ผู้สนใจลงทุนต้องอ่านไวท์เปเปอร์ให้ครบถ้วน เพราะถือเป็นข้อตกลงร่วมกันกับบริษัทโดยตรง ซึ่งผู้ซื้อต้องทำความเข้าใจว่าโทเคนที่ซื้อไปทำอะไรได้บ้าง มีข้อกำจัดหรือมีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง เพราะบริษัทมีโอกาสที่จะทำโครงการไม่สำเร็จได้

เพราะฉะนั้นการศึกษาข้อมูลเป็นเรื่องที่นักลงทุนต้องใส่ใจ และอย่าลืมว่าการลงทุนใดๆ ย่อมมีความเสี่ยง นักลงทุนต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะไวท์เปเปอร์ต้องดูให้ดี ทั้งเรื่องแผนธุรกิจ วัตถุประสงค์ที่จะนำเงินจากไอซีโอไปใช้ กำหนดการ ข้อมูลทางการเงิน ผลประกอบการ บุคลากรและที่ปรึกษา ความเสี่ยงและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การกระจาย

ดิจิทัลโทเคน รวมถึงการซื้อขายเปลี่ยนมือ

หากเกิดเจ็บตัวขึ้นมา อย่าลืมว่าใครก็ช่วยไม่ได้ เพราะคริปโตเคอเรนซีและไอซีโอต่างก็มีหัวใจสำคัญในเรื่องเดียวกัน คือต้องการลดทอนบทบาทของตัวกลางโดยอาศัยเทคโนโลยี นั่นหมายความว่าต่อให้ฝ่ายกำกับจะออกกฎคุมเข้มแค่ไหน ก็ยากที่จะเข้าไปคุมทั้งหมดไว้ได้ดังเดิม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image