พิษเลื่อนเลือกตั้ง ขย่มเครดิตรัฐบาล กระทบมากเกินคาด

สถานการณ์หลังจาก คสช.ไม่ “ปลดล็อก” ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง

แล้วมีการเชื่อมโยงไปจนถึงการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป

จากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศว่าจะเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561

กลับกลายเป็นต้องเขยื้อนไปประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งล่าสุด นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เองยังคำนวณใหม่

Advertisement

อาจจะเลื่อนไปในเดือนมีนาคม 2562 ก็เป็นไปได้

กรณีดังกล่าวได้สร้างผลสะเทือนต่อ คสช. และรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

สร้างผลกระทบตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้

Advertisement

และมีโอกาสจะสร้างต่อไป

ผลกระทบล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นให้ประจักษ์คือ กรณีที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวที่ประเทศอังกฤษ

นพ.ธีระเกียรติกล่าวกับนักเรียนไทยและนักธุรกิจไทยที่มาร่วมงานเลี้ยงรับรองที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์

ตอนหนึ่งว่า “ขอให้ตระหนักว่า เมื่อจบการศึกษากลับไปทำงานที่ประเทศไทยแล้ว การบังคับใช้กฎหมายของไทย และสำนึกของนักการเมืองและผู้บริหารประเทศยังต่างจากของอังกฤษ การยึดหลักนิติธรรม (rule of law) ยังไม่เกิดขึ้นจริง

“ยกตัวอย่างกรณีที่ นายไมเคิล เบทส์ สมาชิกสภาขุนนางของอังกฤษ สังกัดพรรคอนุรักษนิยมได้ประกาศลาออกจากสมาชิกสภาขุนนาง เนื่องจากรู้สึกละอายใจที่เข้าร่วมประชุมสภาสาย เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่คำลาออกของเขาถูกนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรี ยับยั้ง

แต่เมืองไทย มีนาฬิกาใส่ 25 เรือน ยังไม่เป็นไร” 

ตบท้าย นพ.ธีระเกียรติให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย และเมื่อพาดพิงถึงเรื่องนาฬิกาหรู

นพ.ธีระเกียรติกล่าวเพียงสั้นๆ

“ถ้าผมถูกเปิดโปง เรือนแรกก็ออกแล้ว”

แค่นั้นเรื่องราวก็บานปลายใหญ่โต จน พล.อ.ประยุทธ์ต้องเรียก นพ.ธีระเกียรติมาจับเข่าคุยกับ พล.อ.ประวิตร

กระทั่งมีข่าวแพร่สะพัดว่า “หมอธี ยื่นหนังสือลาออก”

แต่ภายหลัง นพ.ธีระเกียรติแถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ยอมรับว่าพูดจริง และขอโทษที่เสียมารยาท

ณ วันนั้น จากเดิมที่อารมณ์สังคมโหมโจมตี พล.อ.ประวิตร เรื่องนาฬิกาหรูเพียงคนเดียว

กลับกลายเป็นการโจมตีทั้ง พล.อ.ประวิตร และ นพ.ธีระเกียรติ

ประเด็นการโจมตียังวนเวียนอยู่ที่เดิม

นั่นคือจริยธรรมการบริหาร รวมถึงสปิริตนักบริหาร

กรณีดังกล่าวเปิดช่องให้นักการเมืองทวงถามถึงสปิริต

บางคนถึงกับเปรียบเทียบว่า สปิริตสู้นักการเมืองไม่ได้

สถานการณ์ของรัฐบาลทหาร จากเดิมที่ตำหนิติเตียนนักการเมือง

กลับกลายเป็นฝ่ายถูกตำหนิเสียเอง

 

นอกจากความปั่นป่วนในคณะรัฐมนตรี ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีความเคลื่อนไหวด้านนอก

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ มีความเคลื่อนไหวของกลุ่ม “อยากเลือกตั้ง” ที่ถนนราชดำเนิน

มีผู้เข้าไปร่วมชุมนุม มีแกนนำที่ไปเรียกร้องขอเลือกตั้ง และมีการควบคุมตัว

แต่การควบคุมตัวแกนนำครั้งนี้ มีเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วย

มากขึ้น เพราะเหตุที่กลุ่มนี้ไปเคลื่อนไหวเพราะอยากเลือกตั้ง

แล้วเหตุที่ไม่ได้เลือกตั้ง เพราะ คสช.และแม่น้ำ 5 สายไม่สามารถรักษาโรดแมปไว้ได้

แม้ คสช.จะใช้กฎหมายบังคับ แต่ดูเหมือนเสียงตอบรับจากสังคมจะไม่หนักแน่นเหมือนเก่า

ต่อมาอีกหลายวัน ได้ปรากฏคลิปการชุมนุมแพร่สะพัดไปทั่วโซเชียล

มีกระแสเสียงเข้าใจว่า มีการชุมนุมของผู้คนอยากเลือกตั้งกัน แต่ถูกเจ้าหน้าที่ปิดหูปิดตา

ทั้งๆ ที่ภาพที่ปรากฏเป็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มอยาก

เลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์

แต่คนยังเข้าใจว่ามีการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ไม่ได้รับข่าวสาร

ความเข้าใจเช่นนี้ เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยปรากฏ

แต่ในขณะนี้กลับปรากฏขึ้น

นี่ย่อมแสดงถึงความเชื่อถือในข่าวสารภาครัฐลดลง

 

ย้อนกลับไปติดตามความเคลื่อนไหวเรื่องการเลือกตั้ง โฟกัสไปที่การตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย

พิจารณาแก้ไข ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.

ขณะนี้ตั้งแท่นไว้แล้วว่าจะมีการพูดคุยกันในหัวข้ออะไรบ้าง

อาทิ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มีเรื่องอนุญาตให้มีมหรสพในการหาเสียงได้ หรือระยะเวลาการหย่อนบัตรเลือกตั้งที่เปิดให้นานขึ้น

หรือ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. มีเรื่องการสมัครเป็น ส.ว.ที่แบ่งเป็นแบบองค์กรและแบบบุคคล การเลือกกันเองแทนที่จะให้เลือกไขว้ ฯลฯ

ประเด็นต่างๆ ต้องพิจารณาร่วมกันภายใน 15 วันแล้วส่งผลกลับไปยัง สนช. เพื่อแก้ไขปรับปรุง

เรื่องนี้มีผู้เห็นว่า มีโอกาสที่ สนช.จะโหวตคว่ำ เพื่อให้การเลือกตั้งยืดออกไปอีก

แต่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ให้ความเชื่อมั่นว่าไม่น่าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น

การใช้เสียง 2 ใน 3 เพื่อคว่ำร่าง พ.ร.ป.นั้นทำได้ยาก

แต่เสียงที่สะท้อนกลับมาก็คือ ไม่เชื่อ

 

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สรุปได้ว่า คสช.และรัฐบาลกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตศรัทธา

วิกฤตศรัทธาเพราะขาดความน่าเชื่อถือ

ไม่เชื่อว่า รัฐบาลตั้งใจจะให้ประเทศไทยมีเลือกตั้ง

และยังเกิดวิกฤตศรัทธาในการบริหารเรื่องคุณธรรมจริยธรรมของผู้บริหาร

ไม่เชื่อว่า รัฐมนตรีของรัฐบาลนี้จะมีสปิริตดีกว่านักการเมือง

ทั้งๆ ที่เมื่อย้อนกลับไปปี 2557 เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งรัฐบาลขึ้นหลังจากยึดอำนาจ

สังคมยังให้ความหวังว่า คณะรัฐมนตรีที่ พล.อ.ประยุทธ์คัดเลือกมานั้นต้องดีกว่ารัฐบาลเลือกตั้ง

คาดหวังว่า รัฐมนตรีต้องมีความสามารถกว่า มีสปิริต และจริยธรรมสูงกว่า

คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์และ “แม่น้ำทั้งห้า” น่าเชื่อถือ และน่าเลื่อมใส เพราะเป็นคำพูดของ “ผู้เสียสละ”

แต่ในขณะนี้ สถานการณ์เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาที่

เปลี่ยนไป คสช. รัฐบาล และแม่น้ำทั้งห้า เริ่มตกที่นั่งลำบาก

เริ่มไม่สามารถทำตามที่พูด

เริ่มผิดสัญญา

 

น่าสังเกตว่าความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นหลังจากการเลื่อนโรดแมปเลือกตั้งเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม

แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมองว่า หลังจากรัฐบาลเลื่อนโรดแมปเลือกตั้ง ต่างประเทศจะเป็นหัวหอกเคลื่อนไหว

แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป กลับปรากฏว่าคนในประเทศต่างหากที่มีความรู้สึกกับเรื่องเลื่อนเลือกตั้ง

ความรู้สึกนี้เป็นเรื่องที่ คสช.และรัฐบาลต้องนำไปทบทวน

ความรู้สึกว่าไม่เชื่อถือ ความรู้สึกว่าไม่มีจริยธรรมเพียงพอ

ความรู้สึกเช่นนี้แหละที่ทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ไหว

ดังนั้น คสช.จึงต้องปรับกลยุทธ์ สรรหาวิธีที่จะเรียกความศรัทธากลับคืนมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image