เสียงเหน่อๆ สุนทรภู่เขียนบอกในนิราศ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

แม่น้ำท่าจีน จ. สมุทรสาคร ได้ชื่อจากบ้านท่าจีน อยู่ปากแม่น้ำ ปัจจุบันเรียกย่านท่าฉลอม (ภาพมุมมสูงจากมติชนทีวี บริเวณคลองมหาชัยเชื่อมแม่น้ำท่าจีน ตรงข้ามบ้านท่าจีนที่ท่าฉลอม)

“เหน่อ” หมายถึง เสียงพูดต่างไปจากสำเนียงที่ถูกสถาปนาว่าเป็นมาตรฐาน เช่น เสียงเหน่อ, พูดเหน่อ

สำเนียงมาตรฐาน คือเสียงพูดคนชั้นนำกรุงเทพฯ พบหลักฐานขณะนี้เก่าสุดสมัย ร.3 [อาจมีเก่ากว่านี้ แต่ยังไม่พบ]

เสียงกรุงเทพฯ เมื่อถูกสถาปนาเป็นสำเนียงมาตรฐาน จึงฟังเสียงคนอื่นที่ต่างไปอย่างเหยียดๆ ว่า เหน่อ

สำนึกเหยียดๆ เก่าสุดที่มีต่อเสียงเหน่อขณะนี้พบในนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ (แต่งช่วงปลายแผ่นดิน ร.3) เมื่อนั่งเรือจากกรุงเทพฯ ไปเพชรบุรี ครั้นพ้นเมืองท่าจีน (สมุทรสาคร) เข้าคลองลัดไปเมืองแม่กลอง (สมุทรสงคราม) ก่อนทะลุออกแม่น้ำแม่กลองต้องผ่านชุมชนหนึ่งปลูกทับทิม มีแม่ค้าแม่ขายร้องขายผลทับทิมด้วยเสียงเหน่อๆ ดังกลอนนิราศตอนหนึ่งว่า

Advertisement

มาตั้งขายฝ่ายเจ้าของไม่ต้องถือ เห็นเรือล่องร้องว่าซื้อทับทิมเหนอ

จะพูดจาคารวะทั้งคะเออ เสียงเหน่อเหน่อหน้าตาหน้าเอ็นดู

[นิราศเมืองเพชร ของ สุนทรภู่]

เหน่อของยุคกรุงเทพฯ เป็นสำเนียงหลวงครั้งกรุงเก่าซึ่งมีหลายอย่างแตกต่างไปตามท้องถิ่นยุคนั้น เช่น เหน่อโคราช, เหน่อระยอง-จันทบุรี, เหน่อสุพรรณ-เพชรบุรี ต่อเนื่องถึงเหน่อปักษ์ใต้

สำเนียงหลวงกรุงเก่า มีหลักฐานหลายอย่าง เช่น เจรจาโขนสืบเนื่องสำเนียงกรุงเก่า, อักขรวิธีในกลอนบทละครนอกกรุงเก่าลงวรรณยุกต์ตามเสียงเหน่อ

ขุนช้างขุนแผน ฉบับพิมพ์ ซึ่งแต่งสมัย ร.3, ร.4 ยังมีเค้าเสียงเหน่อในบางแห่ง เช่น คำว่า สวมกอด ยังสะกดว่า ส้วมกอด เป็นต้น

ทอดน่องท่องเที่ยวท่าจีน

เขียนเกี่ยวกับสำเนียงเหน่อต่อเนื่องมานานหลายครั้ง แต่ไม่เคยพบหลักฐานอย่างที่เขียนคราวนี้

เหตุที่เพิ่งพบ เพราะคุณขรรค์ชัย บุนปาน กำหนดไปทอดน่องท่องเที่ยวท่าจีน (ท่าฉลอม-มหาชัย) สมุทรสาคร ที่ผ่านมาเมื่ออังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 ก่อนหน้านั้นผมเตรียมข้อมูลโดยต้องอ่านนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ เลยพบโดยไม่เจตนา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image