ไฟเขียว ‘4 ว.อาชีวะ’ นำร่อง เปิดรับสาขาขาดแคลนปี’61

นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอาชีวศึกษา เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้เชิญผู้บริหารวิทาลัยที่เปิดสอนในสาขานำร่อง 5 สาขาแรก จากทั้งหมด 8 สาขา คือ 1.สาขาวิชาช่างอากาศยาน วิทยาลัยเทคนิค (วท.) ถลาง 2.สาขาวิชาแมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ วท.สุรนารี 3.สาขาวิชาหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม วิทยาลัยอาชีวศึกษา (วอศ.) เทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) 4.สาขาวิชาโลจิสติกส์ วิทยาลัยอาชีวศึกษา (วอศ.) อุดรธานี และ 5.สาขาวิชาระบบขนส่งทางราง วิทยาลัยการอาชีพ (วก.) บ้านไผ่ นำเสนอข้อมูลการจัดการศึกษา และความพร้อมของหลักสูตร ซึ่งมีหลักเกณฑ์สำคัญคือ หลักสูตรต้องได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากล ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณา และมีมติเห็นชอบนำร่องใน 4 สาขา 4 วิทยาลัยแรก เพราะมีความร่วมมือที่ชัดเจน เป็นมาตรฐานสากล และส่วนใหญ่เป็นความร่วมมือกับญี่ปุ่น และจีน ส่วนสาขาระบบขนส่งทางราง วก.บ้านไผ่ แม้จะมีความร่วมมือกับวิทยาลัยการรถไฟอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยของจีน แต่ยังไม่ตรงเป้าหมาย ถือว่าไม่เข้มข้นจริง โดยขอให้ วก.บ้านไผ่กลับไปพูดคุยความร่วมมือที่ชัดเจน และเสนอในที่ประชุมครั้งต่อไปวันที่ 26 กุมภาพันธ์

“ผมย้ำว่าวิทยาลัยนำร่องในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ ทั้ง 8 สาขา คือ 1.ระบบการขนส่งทางราง 2.ช่างอากาศยาน 3.แมคคาทรอนิกส์ 4.หุ่นยนต์อุตสาหกรรม 5.เทคนิคพลังงาน 6.การเทคโนโลยีการท่องเที่ยว 7.โลจิสติกส์ และ 8.เกษตกรรม แม้จะเป็นหลักสูตรไทยก็ต้องรับรองได้ว่ามาตรฐานระดับนานาชาติ ซึ่งในส่วนของสาขาระบบขนส่งทางราง ขอให้ไปคุยเรื่องความร่วมมือที่ชัดเจน และนำเสนออีกครั้งพร้อมกับสาขาที่เหลือ” นพ.อุดม กล่าว

นพ.อุดมกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ได้มอบให้สำนักนโยบายและแผนการอาชีวศึกษา สอศ.ไปคำนวณงบประมาณที่ต้องใช้ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เบื้องต้นจะจัดสรรเป็นงบอุดหนุนรายหัว คาดว่าจะสรุปเสนอ ครม.ได้ประมาณเดือนเมษายน เพื่อให้ทันรับนักเรียน นักศึกษา สังกัด สอศ.ปีการศึกษา 2561

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image