นักข่าวภาคสนามยื่นหนังสือ นายกฯ สมาคมฯ ให้เผยผลสอบ บิ๊กสื่อฯ

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตัวแทนนักข่าวภาคสนาม นำโดย น.ส.หทัยรัตน์ พหลทัพ และ นายณรรธนาวุธ เมืองสุข เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงพร้อมรายชื่อนักข่าวภาคสนามจำนวน 19 คน ต่อ นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวฯ เพื่อเรียกร้องให้เปิดเผยรายงานการแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีที่ผู้บริหารองค์กรสื่อแห่งหนึ่งถูกกล่าวอ้างว่ามีพฤติกรรมคุกคามทางเพศพนักงานในสังกัด ตามที่อนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงฯ ที่มี นางจุรี วิจิตรวาทการ เป็นประธานอนุฯ ทั้งฉบับเต็มและฉบับย่อต่อสาธารณะ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ถูกกล่าวอ้าง

ทั้งนี้ การยื่นหนังสือดังกล่าวทางสมาคมฯ ยังเปิดวงพูดคุยในรายละเอียด โดย นายณรรธนาวุธ กล่าวว่า กรณีผลสอบของคณะอนุกรรมการฯ ต่อเรื่องดังกล่าว ซึ่งทางสมาคมฯ เลือกใช้วิธีออกแถลงการณ์มากกว่าเปิดแถลงข่าว สร้างความคลุมเคลือ และมีข้อสงสัยว่าสมาคมนักข่าวฯ มีการปกปิดข้อมูลหรือไม่ และสิ่งที่อ่านจากแถลงการณ์ผลแสวงหาข้อเท็จจริง พบความไม่หนักแน่นต่อการตระหนักถึงกรณีการป้องกันและมีมาตรการต่อการคุกคามหรือละเมิดทางเพศ

“ต้องยอมรับว่าตั้งแต่การรัฐประหาร ปี 2549 สมาคมนักข่าวฯ ถูกลดความเชื่อถือจากสังคม และเมื่อเกิดกรณีตามกระแสข่าวเกิดขึ้น ทำให้กลายเป็นประเด็นที่อ่อนไหวต่อสังคม หากสมาคมฯ เพิกเฉยและไม่จัดการเรื่องดังกล่าว เชื่อว่าจะทำให้ความน่าเชื่อถือขอสมาคมฯ ลดต่ำลง ทั้งนี้กรณีบุคคลที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องก้าวข้ามตัวบุคคล ไปสู่การยกระดับมาตรฐาน และสร้างกรอบจริยธรรมที่สามารถเป็นตัวอย่างหรือบรรทัดฐานทางสังคม” นายณรรธนาวุธ กล่าว

 

ด้าน น.ส.หทัยรัตน์ กล่าวด้วยว่า ประเด็นที่สมาคมฯ ไม่ยอมเปิดเผยรายงาน ตนกังวลว่าจะกระทบต่อภาพใหญ่ โดยเฉพาะการทำงานของสื่อมวลชนที่ตรวจสอบองค์กรหรือบุคคล ที่สามารถใช้ข้ออ้างต่อผลกระทบบุคคลหรือชั้นปกปิดความลับ นอกจากนั้นเมื่อไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงทำให้เกิดคำถามว่าสิ่งที่สมาคมฯ ให้ความเป็นธรรมกับบุคคลนั้นเป็นจริงหรือไม่

Advertisement

ขณะที่ นายปราเมศ ยืนยันมติของกรรมหารบริหารสมาคมฯ ว่าจะไม่เปิดเผยรายงานการแสวงหาข้อเท็จจริง เพราะกังวลว่าจะกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลของผู้ที่ถูกกล่าวอ้าง ทั้ง 2 คน รวมถึงบุคลที่ให้ข้อมูล ทั้งนี้ สมาคมฯ ไม่เกรงกลัวต่อคำข่มขู่ว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดี แต่ประเด็นดังกล่าวต้องเป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ที่กำหนดว่าการตรวจสอบเรื่องเพศที่มีความละเอียดอ่อนนั้นต้องปิดเป็นความลับ ส่วนการเปิดเผยผลนั้น สามารถทำได้ แต่ต้องผ่านการยินยอมของบุคคลทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งนี้ผลการแสวงหาข้อเท็จจริงกล่าว ไม่มีคำพูดหรือรายงานชี้ว่าบุคคลใดกระทำผิด มีเพียงคำว่าสุ่มเสี่ยงเท่านั้น ดังนั้นมาตรการลงโทษบุคคลใดนั้น ไม่สามารถทำได้

“ยืนยันว่าเปิดเผยรายงานการแสวงหาข้อเท็จจริงไม่ได้ เพราะจะมีผลกระทบมากกว่า โดยเฉพาะบุคคลที่ใครไม่อยู่ในสถานการณ์เดียวกันจะไม่เข้าใจ นอกจากนั้นแล้วในมาตรการป้องกันปัญหาระยะสั้นนั้น ผมได้ทำหนังสือเวียนไปยังองค์กรสื่อฯ อาทิ สถาบันอิศรา เพื่อให้ปฏิบัติตนตามข้อแนะนำของอนุกรรมการฯ ส่วนมาตรการระยะยาวนั้น เชื่อว่าจะมีหน่วยงานทำกติกาออกมาเพราะขณะนี้อยู่ในช่วงของการปฏิรูปสื่อมวลชน และอนาคตอาจมีการทำช่องทางเพื่อรับข้อมูลหรือแจ้งเบาะแส ส่วนตัวผมมองว่าทางที่ดีที่จะป้องกันปัญหาการละเมิดหรือคุกคามทางเพศได้ดีที่สุด คือคนที่ถูกกระทำต้องแสดงความกล้าหาญที่จะออกมาปกป้องสิทธิส่วนบุคคลของตัวเอง” นายปราเมศ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image