อันตราย! นอนไม่พอก่อโรค ‘ซึมเศร้า-ไบโพลาร์’ แถมอ้วน น้ำหนักขึ้น

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์  ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นพ.วิญญู ชะนะกุล รองผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว “กิจกรรมวันนอนหลับโลก” ว่า การนอนเป็น 1 ใน 3 ปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพที่ดี จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกได้มีคำว่าควรนอนหลับให้เพียงพอวันละ 7-9 ชั่วโมง แต่จากข้อมูลพบว่าประชากรโลกร้อยละ 45 มีอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยร้อยละ 35 เป็นปัญหาการนอนไม่หลับ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีปัญหาการไม่ยอมหลับไม่ยอมนอน เนื่องจากการใช้ชีวิตอยู่กับอินเตอร์เน็ต ดูคลิปวิดีโอต่างๆ ดูการแข่งขันกีฬา การดูซีรีส์หรือการเล่นสมาร์ทโฟน รวมทั้งการทำงานก่อนนอน ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วการทำงานหรือการใช้สมาร์ทโฟน ควรทำก่อนเข้านอนประมาณ 4 ชั่วโมง เพราะไม่เช่นนั้นร่างกายจะรู้สึกตื่นตัวและนอนไม่หลับ โดยเฉพาะแสงสีฟ้าจากสมาร์ทโฟนยิ่งมีผลทำให้รู้สึกนอนหลับยาก

นพ.วิญญู ชะนะกุล

“ปัญหาการนอนไม่เพียงพอมีผลกระทบมาก อย่างผลระยะสั้น จะทำให้ไม่มีสมาธิ หงุดหงิดง่าย มีปัญหาต่อการเรียนรู้ในวันถัดไป ซึ่งพบว่าคนที่นอนหลับไม่เพียงพอมีปัญหาขาดงาน ทำงานไม่มีประสิทธิภาพมากกว่าคนที่นอนหลับอย่างเพียงพอถึง 3 เท่า ส่วนในระยะยาว มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อาจส่งผลให้เกิดปัญหาโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์หรือคนสองบุคลิก โดยเฉพาะผู้ที่เป็นผู้ป่วยอยู่เดิมอาจจะทำให้อาการกำเริบได้ รวมทั้งภาวะอ้วนก็เป็นส่วนหนึ่งที่อาจมาจากการนอนไม่เพียงพอ เนื่องจากมีผลต่อระบบการเผาผลาญของร่างกาย ทำให้เกิดความอยากอาหาร แต่ปัญหาคือ ยังไม่มีข้อมูลวิจัยยืนยันชัดเจนถึงสาเหตุเช่นกัน” นพ.วิญญูกล่าวและว่า นอกจากนี้ ที่หลายคนเชื่อว่าการนับแกะจะช่วยให้นอนหลับง่ายนั้น จริงๆ ไม่มีข้อมูลยืนยัน แต่ที่แน่ๆ จะทำให้เกิดความกังวล ทำให้หลับยากขึ้น

รศ.นพ.ณัฐพงษ์ เจียมจริยธรรม หัวหน้าศูนย์นิทราเวช รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการพูดถึงนาฬิกาชีวิตกันมากขึ้น ซึ่งเป็นวงจรการดำเนินชีวิตอย่างหนึ่ง อย่างวงจรการนอนก็มีความสำคัญ แต่ละคนก็จะมีวงจรการนอนแตกต่างกันไป แต่ที่น่ากังวลคือ กลุ่มคนที่ทำงานเป็นกะ ไม่ได้ทำงานตามเวลาปกติ และมีการเปลี่ยนกะบ่อยๆ เช่นทุกๆ 3 วันเปลี่ยนกะการทำงานตลอด ซึ่งจะมีปัญหามาก วงจรชีวิตไม่คงที่ ยกตัวอย่าง มีการศึกษาในกลุ่มพยาบาลของ รพ.จุฬาลงกรณ์ ที่เปลี่ยนกะเข้าเวรบ่อยๆ มีปัญหาโรคลําไส้แปรปรวน ท้องเสีย และมีการศึกษาในประเทศสแกนดิเนเวีย พบการเกิดเนื้องอกบางชนิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ทำงานเป็นกะแต่ไม่ได้เปลี่ยนกะบ่อยๆ ใช้เวลาเป็นเดือน จะไม่ค่อยมีปัญหามากนัก ดังนั้น อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของนาฬิกาชีวิต ตามที่ได้กำหนดสโลแกนวันนอนหลับโลกปี 2561 “หลับเป็นเวลา ตามนาฬิกาชีวิต พิชิตโรคร้าย ร่างกายแข็งแรง” ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์จะจัดขึ้นในวันที่ 3 มีนาคม ที่สวนลุมพินี และให้ความรู้เรื่องการนอนแก่ประชาชนต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 5-9 มีนาคม ที่โถงชั้นจี อาคาร ภปร.

Advertisement
รศ.นพ.ณัฐพงษ์ เจียมจริยธรรม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image