‘ประชาธิปไตยไทยนิยม’ โดย ปราปต์ บุนปาน

เพิ่งได้อ่านคู่มือ “การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน” ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์สถาบันดำรงราชานุภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย

ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อ “ให้ทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยระดับตำบล ได้นำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางบูรณาการการทำงานในพื้นที่…”

แล้วพบว่ามีเนื้อหาน่าสนใจหลายๆ ส่วน ยกตัวอย่างเช่น ในบทที่ว่าด้วย “รู้จักประชาธิปไตยไทยนิยม”

โจทย์สำคัญของ “ประชาธิปไตยไทยนิยม” ก็คือ การทำให้ประชาชน “มีความเข้าใจในหลักประชาธิปไตยไทยนิยม บนพื้นฐานของความเป็นไทย ที่นิยมความดี ความงาม โดยไม่ละทิ้งหลักสากล”

Advertisement

นิยามของ “ประชาธิปไตยไทยนิยม” คือ “นิยมความดี ความงาม ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ประเทศชาติและลูกหลานในอนาคต” ซึ่งดำรงอยู่เคียงคู่กับ “หลักการของประชาธิปไตย 5 หลัก” ได้แก่ หนึ่ง มีเหตุผล สอง มีความเสมอภาค สาม มีสิทธิเสรีภาพภายใต้กรอบของกฎหมาย สี่ ต้องยึดเสียงข้างมาก ห้า ภราดรภาพ

ทั้งหมดวางอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า “ประชาชนคนไทยยังมีคุณลักษณะความเป็นพลเมืองดีในวิถีประชาธิปไตยไม่เพียงพอ ทำให้ไม่มีพลังในการขับเคลื่อนสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”

จึงต้อง “เสริมสร้างคุณลักษณะของประชาชนคนไทยให้มีคุณลักษณะพึงประสงค์ คือ พอเพียง มีวินัย ซื่อสัตย์ จิตสาธารณะ และมีความรับผิดชอบ”

Advertisement

ดังนั้น สิ่งที่ทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ตามคำแนะนำของคู่มือฉบับนี้ จึงได้แก่ การประยุกต์หลัก “ประชาธิปไตยสากล” และ “ความเป็นไทย” เข้าด้วยกัน ต้อง “ไม่ยึดหลักสากลมากเกินไป จนหลงลืมความเป็นไทย”

แล้วอะไรคือลักษณะที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นของ “ประชาธิปไตยไทยนิยม”?

คำตอบดูเหมือนจะอยู่ที่การแนะนำให้ประชาชนเลือกตั้ง “คนดี” เข้าไปบริหารประเทศ

แล้วอะไรคือลักษณะพึงประสงค์ของ “คนดี” ตามการอธิบายของคู่มือ “ไทยนิยม” เล่มนี้

คู่มือยกตัวอย่างหลักเกณฑ์การประเมิน “คนดี” เอาไว้หลายข้อ ได้แก่ จะต้องเป็นแบบอย่างของการรักษาประโยชน์ส่วนรวม, ไม่ซื้อเสียง ไม่โกงการเลือกตั้ง ไม่ใส่ร้ายป้ายสี, เข้าถึงประชาชนในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นและนำมาแก้ไข โดยเสนอเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น, รักษาศีลห้าอยู่เป็นนิจ หรือรักษาคุณธรรมตามศาสนาที่ตนนับถือ, ยึดมั่นในอุดมการณ์ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ไม่เป็นและไม่คบหาอันธพาล เกะกะ ระราน ข่มขู่ คุกคาม และเสียภาษีให้รัฐอย่างถูกต้อง ไม่หลบเลี่ยงภาษี

ด้านหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ดูคล้ายจะเป็นพฤติกรรมพึงปฏิบัติสำหรับคนที่อาสาจะเข้ามาทำงานเพื่อสาธารณะอยู่แล้ว แต่อีกด้าน ก็ใช่ว่าคนเป็น “นักการเมือง” (ทั้งที่ผ่านการเลือกตั้งและไม่ผ่านการเลือกตั้ง) จะผ่านเกณฑ์การเป็นคนดีดังกล่าวได้ครบถ้วนทุกข้อ

ที่สำคัญ มันเหมือนจะยังมีอะไรบางอย่างที่ขาดหายไปจาก “ประชาธิปไตยไทยนิยม”

เอาเข้าจริง ประเด็นเรื่อง “ประชาธิปไตยสากล” ต้องปรับประสานต่อรองเข้ากับค่านิยมหรือลักษณะเฉพาะของ “ท้องถิ่น” นั้นเป็นข้อเท็จจริงที่แทบทุกคนรับรู้กันดีอยู่แล้ว

อย่างน้อยหลักการกว้างๆ ของ “ประชาธิปไตย” เช่น ความเสมอภาค หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง ฯลฯ ก็เป็นสิ่งที่หลายคนพอจะเข้าใจตรงกันอยู่ (ส่วนจะยอมรับ-นำไปปฏิบัติหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง)

ทว่าการกำหนดนิยามความหมายของอัตลักษณ์ท้องถิ่น เช่น “ความเป็นไทย” ต่างหาก ที่มีความสลับซับซ้อน มีความเปลี่ยนแปลง มีรายละเอียดยิบย่อยต้องถกเถียงต่อรองกันเยอะ

แค่มุ่งเน้นเรื่อง “คนดี” อย่างเดียว คงไม่เพียงพอและไม่เวิร์ก

…………………

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image