ศธ. แจงเป้าหมายผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ตอบสนอง 10 อุตสาหกรรมหลัก

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมโครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย โดยมีตัวแทนมหาวิทยาลัยรัฐทุกกลุ่มและมหาวิทยาลัยเอกชน 86 แห่งเข้าร่วม ว่า รัฐบาลมีเป้าหมายและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนที่จะเพิ่มระดับการแข่งขันกับประเทศต่างๆ  โดยมุ่งที่จะเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี  จะทำได้ก็ต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาโดยตรง  โดยเฉพาะการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ที่สนองตอบต่อ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของรัฐบาล ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่  อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ  อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์  อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล  อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อย่างไรก็ตามเนื่องจากขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กำลังดำเนินการวางยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยว ส่วนการแพทย์ของประเทศก็ถือว่าอยู่ในระดับมาตรฐานสูง ดังนั้น โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ จะมุ่งเป้า 8 สาขา ยกเว้น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

รัฐมนตรีช่วยว่าการศธ. กล่าวต่อว่า รัฐบาลอยากให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งเสนอหลักสูตรเพื่อผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ โดยมุ่งกลุ่มเป้าหมายเร่งด่วนที่กลุ่มคนทำงาน โดยเพิ่มเติมสมรรถนะที่สำคัญต่างๆ ผู้เข้ารับการอบรมจะได้ประกาศนียบัตร  และกลุ่ม นิสิตนักศึกษาปี 3 -4  เพื่อที่เราจะได้บุคลากรสนองตอบต่อภาคอุตสาหกรรมภายใน 2 ปี โดยเฉพาะงานด้านระบบราง และ การบิน ซึ่งประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรทางด้านนี้จำนวนมาก  ส่วนในระยะต่อไป จะเป็นหลักสูตรปริญญาตรีที่มีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ ที่มีลักษณะบูรณาการศาสตร์ต่างๆที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีดิจิทัล และภาษาอังกฤษ  โดยมหาวิทยาลัยสามารถเสนอหลักสูตรได้มากกว่า 1 หลักสูตร/สาขา/กลุ่มเป้าหมาย เพื่อ สกอ.จะได้พิจารณาและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) สำหรับมหาวิทยาลัยเอกชนนั้น ยืนยันว่าหากหลักสูตรได้รับการพิจารณา ก็จะนำเสนอเข้าครม. เพื่อมีมติครม. ให้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้การสนับสนุนโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ แต่มีข้อห่วงใยเรื่องเกณฑ์มาตรฐานของ สกอ. อาทิ จำนวนอาจารย์ประจำหลักสูตร โดยมีข้อเสนอว่า จะใช้อาจารย์ต่างชาติเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรได้หรือไม่ และในกรณีที่เป็นหลักสูตรใหม่ที่มีการบูรณาการศาสตร์ใหม่ อาจหาอาจารย์ที่จบจากสาขานั้นๆโดยตรงไม่ได้ สกอ.จะสามารถยืดหยุ่นหลักเกณฑ์ให้อาจารย์ที่จบสาขาที่ใกล้เคียงได้หรือไม่ หรือให้อาจารย์ประจำหลักสูตร เป็นอาจารย์ประจำได้มากกว่า 1 หลักสูตร เป็นต้น ทั้งนี้สกอ. ชี้แจงว่า ขอให้มหาวิทยาลัยนำเสนอปัญหา ข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อที่ ตนจะได้นำเข้าขอยกเว้นข้อกำหนดจาก กกอ. เพื่อโครงการนี้ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image