คนอยากเลือกตั้งโดย:ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้บรรยากาศอบอวลไปด้วยวาทกรรมของ “คนอยากเลือกตั้ง” กับ วาทกรรมของ “คนไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง” ความรู้สึกอยากให้เลือกตั้งนั้นเป็นที่เข้าใจได้ว่าต้องการมีประชาธิปไตยเสียที หลังจากได้รัฐบาลที่ตนไม่ได้เลือกเข้ามาแต่ใช้ปืนยึดอำนาจ ซึ่งเคยเป็นของประชาชนมาแต่เดิมมาตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินโดยพลการมาเป็นเวลานานเกือบ 4 ปีแล้ว ก็ยังไม่เห็นว่าจะประสบความสำเร็จ อย่างที่เคยกล่าวหารัฐบาลก่อนว่า ปล่อยให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงการรัฐบาลและระบบราชการ บริหารประเทศอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมได้

เป็นความเข้าใจผิดของคนไทยที่ถูกล้างสมองมานาน คิดว่ารัฐบาลทหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้นจะเป็นรัฐบาลของคนดี เป็นรัฐบาลของคนสะอาด ปราศจากการทุจริตฉ้อราษฎรบังหลวง โดยไม่ต้องมีการควบคุมจากประชาชนและสื่อมวลชน คิดว่ารัฐบาลพลเรือนที่มาจากขบวนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าจะมีระบบการควบคุมจากรัฐสภา จากประชาชนและจากสื่อมวลชน มีการทุจริตการคอร์รัปชั่นและการฉ้อราษฎร์บังหลวงมากกว่ารัฐบาลเผด็จการทหารที่มาจากการทำรัฐประหาร

ผู้คนลืมประสบการณ์ในอดีตของประเทศไทยว่าเราเคยมีทั้งรัฐบาลเผด็จการทหารและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้ที่ถูกยึดทรัพย์ ถูกข้อหาการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น มีทั้งผู้นำที่มาจากปฏิวัติรัฐประหารและผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง แต่จำนวนนายทหารที่เข้ามาบริหารประเทศที่ถูกข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่นจนถึงขั้นถูกยึดทรัพย์สินนั้น เป็นของนายทหารเป็นส่วนใหญ่หรือมีจำนวนมากกว่า ดังนั้น ความเชื่อที่ว่าผู้นำที่มาจากการทำปฏิวัติรัฐประหาร หรือผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งใครดีกว่าใคร ใครสะอาดกว่าใคร คงจะพิสูจน์กันยาก
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้นำที่มาจากการทำปฏิวัติรัฐประหารนั้น ประชาชนหรือขบวนการของประชาชนควบคุมไม่ได้ ไม่สามารถเอาโทษได้ แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นประชาชนตรวจสอบได้ด้วยขบวนการประชาธิปไตย สื่อมวลชนเป็นหูเป็นตาให้ได้ คอยสืบเสาะหาข้อมูลมานำเสนอให้กับประชาชนได้ สามารถฟ้องร้องเอาผิดได้ก็เมื่อลงจากอำนาจ

ที่สำคัญรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตยมีวาระที่จะอยู่ในตำแหน่งอย่างแน่นอน 4 หรือ 5 ปีแล้วแต่รัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลเผด็จการทหารไม่มีวาระอยู่ในตำแหน่งที่แน่นอน สามารถโกหกหรือหลอกล่อ เป็นศรีธนญชัยไปได้เรื่อยๆ การทำรัฐประหารในปี 2500 ก็ดีปี 2502 ก็ดี หรือแม้แต่การทำรัฐประหารในปี 2520 หรือปี 2535 และคณะรัฐประหารชุดปัจจุบัน

Advertisement

คณะรัฐประหารทุกคณะต่างมีแผนที่จะต่อท่ออำนาจอยู่ต่อไปอย่างไม่มีกำหนดทั้งนั้น

การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรก็จะเขียนให้มีการใช้บทเฉพาะกาลเป็นเวลา 5 ปี เพื่อให้วุฒิสภามีอำนาจเท่าเทียมกับสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี การเลือกตั้งที่จัดให้มีก็เป็นเพียงพิธีการเท่านั้นเอง พรรคการเมืองไม่ได้เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี แต่นายกรัฐมนตรีซึ่งมีสมาชิกวุฒิสภาจำนวนรวมกันเป็นครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในกระเป๋าอยู่แล้ว เป็นผู้เลือกพรรคการเมืองที่จะได้เข้าร่วมรัฐบาล
เคยมีกรณีหัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งมีจำนวนที่นั่งในสภามากที่สุด ประกาศจะเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคการเมืองนั้นจึงไม่ได้รับการเลือกให้เข้าร่วมรัฐบาล ต้องกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านไปจนต้องเปลี่ยนหัวหน้าพรรค เพื่อจะได้ไม่ต้อง “อดอยากปากแห้ง” ต่อไป แต่เวลาก็ผ่านมามากกว่า 30 ปีแล้ว พรรคการเมืองก็เข้มแข็งขึ้นมากแล้ว ไม่ได้เป็นพรรคหัวแหลกหัวแตกอย่างเดิมอีกแล้ว ประชาชนรู้จักการเลือกตั้งในระบอบรัฐสภามากขึ้นแล้ว

เพียงเวลาไม่นานการเมืองของประเทศไทยก็พัฒนาเป็นระบบ 2 พรรคใหญ่ แบบเดียวกับอังกฤษและอเมริกา ดีกว่าการพัฒนาการเมืองของสิงคโปร์และมาเลเซีย รวมทั้งญี่ปุ่นที่พัฒนาไปเป็นระบบการเมืองพรรคเดียว ซึ่งจะเรียกว่าประชาธิปไตยก็คงลำบาก เพราะฝ่ายค้านในญี่ปุ่นก็ดี สิงคโปร์หรือมาเลเซียหรือหลายๆ ประเทศในยุโรปก็ดี ไม่เข้มแข็งพอที่จะมีโอกาสได้เป็นรัฐบาล แต่ก็ยังสร้างประโยชน์เพราะสามารถเปิดโปงเปิดเผยความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลได้ ดีกว่ารัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งประชาชนไม่มีส่วนรับผิดชอบในการแต่งตั้ง ควบคุม และเปลี่ยนถ่ายรัฐบาลได้เลย แม้ว่าอยากจะทำก็ตาม

Advertisement

หลายครั้งรู้สึกรำคาญกับวาทกรรมที่ว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้งอย่างเดียวของ “พวกผู้ดี” ทั้งหลาย ที่ดูถูกและไม่ยอมรับความคงอยู่ของ “มวลมหาประชาชน” ทั้งหมดของประเทศ ไม่ใช่เฉพาะพวกที่ถูกปลุกระดมให้มาชุมนุมเพื่อปูทางให้ทหารทำการรัฐประหารเท่านั้น แม้ว่าวาทกรรมนั้นจะถูกแต่ก็ถูกเพียงครึ่งเดียวหรือบางส่วนเท่านั้น เพราะการเลือกตั้งทั่วไปเป็นเงื่อนไขสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบอังกฤษ หรือแบบอเมริกา ที่ทั่วโลกถือว่าเป็นต้นแบบของระบอบประชาธิปไตย

และที่รู้สึกรำคาญหนักขึ้นเมื่อคำถามในแบบสำรวจความเห็นของสำนักการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งหนึ่งตั้งคำถามว่า “ระบอบประชาธิปไตยปัจจุบันดีอยู่แล้วหรือไม่” ซึ่งแสดงถึงความอ่อนแอของระบบการศึกษาของประเทศไทย ที่ครูอาจารย์ไม่มีความกล้าหาญพอจะเรียกระบอบปัจจุบันว่าเป็นระบอบ “เผด็จการทหาร” แต่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยปัจจุบัน

จริงอยู่ระบอบการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งทุกรูปแบบอาจจะเป็นระบอบเผด็จการได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นระบอบรัฐสภาหรือระบอบประธานาธิบดี หรือที่เราเคยได้ยิน “เผด็จการโดยรัฐสภา” หรือ “ประธานาธิบดีจอมเผด็จการ” ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เมื่อตนมาจากประชาชน มาจากการเลือกตั้ง ก็ต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า เจ้าของอำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของประชาชน ตนมาใช้อำนาจนั้นแทนประชาชน ตนมีสิทธิถูกถอดถอนได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือประธานาธิบดี ถ้าปรากฏว่าตนมิได้บริหารประเทศตามที่ประชาชนคาดหวัง หรือมีการโกหกพูดเท็จดูถูกประชาชนโดยตรงหรือทางอ้อมอย่างหยาบคายไม่มีมารยาท ถ้าประชาชนเห็นว่าผู้ที่ตนเลือกเข้ามาบริหารประเทศ ไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนเมื่อตอนหาเสียงเลือกตั้ง ตนก็มีสิทธิถอดถอนหรือเมื่อครบเวลาแล้วไม่เลือกเข้ามาใหม่ก็ได้ ซึ่งตรงกันข้ามกับระบอบเผด็จการ

เมื่อรัฐบาลเผด็จการเข้าสู่อำนาจแล้วปัญหาก็ คือจะเอาออกอย่างไร เพราะไม่มีรัฐบาลใดอยากจะออกจากอำนาจด้วยเหตุผลหลายอย่าง ไม่ใช่เฉพาะอำนาจวาสนาอย่างเดียว แต่ยังมีอย่างอื่นที่ผู้คนไม่รู้ไม่ทราบ เพราะรัฐบาลเผด็จการทุกรัฐบาลต่างก็พยายามต่อท่ออำนาจของตัวเอง

ความคิดของ “คนอยากเลือกตั้ง” นั้นเข้าใจได้ง่ายว่าเป็นเรื่องปกติของคนที่เคารพตัวเอง แต่ความคิดของ “คนที่ไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง” นั้นเข้าใจได้ยาก เพราะไม่เพียงแต่ตนเองดูถูกตนเอง ไม่ต้องการศักดิ์ศรีของการเป็นพลเมืองของประเทศแล้ว ยังมีจิตใจดูถูกและกดขี่คนอื่นด้วย จึงไม่แน่ใจว่าบุคคลเหล่านี้ไม่เชื่อว่า “มนุษย์นั้นเกิดมาเท่าเทียมกัน” แต่เชื่อว่าตนดีและสูงกว่าผู้อื่น รวมทั้งพรรคการเมืองที่กลัวและปฏิเสธการเลือกตั้งด้วย

ลัทธิเผด็จการนั้นไม่เชื่อทฤษฎีที่ว่ารัฐเป็นของประชาชนหรือ “รัฐเป็นสิ่งชั่วร้าย” ที่ประชาชนต้องควบคุม แต่เชื่อว่าประชาชนนั้นเป็นของรัฐ ประชาชนอยู่ได้เพราะมีรัฐ ไม่ใช่รัฐอยู่ได้เพราะประชาชน ดังนั้น ประชาชนมีหน้าที่รับใช้รัฐ รัฐไม่มีหน้าที่รับใช้ประชาชน ประชาชนเปรียบเสมือนอวัยวะร่างกาย แต่รัฐนั้นคือชีวิต เมื่อไหร่เสียชีวิตร่างกายก็เน่าเปื่อยอยู่ไม่ได้ ร่างกายต้องทำตามบัญชา ต้องคอยขจัดสิ่งที่ต่อต้านชีวิตอยู่เสมอ เหมือนต้องคอยขจัดเชื้อโรคที่คอยทำร้ายให้เจ็บป่วย การมีสายลับหรือการมีตำรวจลับและการลงโทษอย่างรุนแรง เพื่อขจัดออกไปจากร่างกายหรือสังคมจึงเป็นเรื่องจำเป็น ความคิดของจอมเผด็จการกับความคิดของนักประชาธิปไตยจึงต่างกัน เหมือนไฟกับน้ำ

แม้ว่ารูปแบบของรัฐหรือตัวแทนของรัฐอันได้แก่รัฐบาล อาจจะมีความสำคัญอยู่บ้าง เช่น การมีหรือไม่มีการเลือกตั้งเป็นเงื่อนไขที่จำเป็น แต่ไม่ใช่เงื่อนไขที่เพียงพอของระบอบประชาธิปไตย เผด็จการมักจะนิยมการทำประชามติเพราะการทำประชามตินั้นตนสามารถสร้างกระแสความเชื่อระยะสั้นๆ เพื่อเข้าข้างตนได้ เพราะประชาชนไม่มีสิทธิแสดงความจำนงอย่างอื่นนอกจากลงคะแนน “รับ” หรือ “ไม่รับ” เท่านั้น

วิวาทะระหว่างคนอยากเลือกตั้งกับคนที่ไม่อยากให้มีเลือกตั้ง จึงเกิดขึ้นที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง คณะรัฐประหารอยู่มาเกือบครบ 4 ปีแล้ว กำลังเป็นขาลง เสียงของผู้ที่ไม่อยากให้มีการเลือกตั้งหรือพวกกลัวการเลือกตั้งก็ชักจะเบาลง เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับถาวรบังคับใช้ เสียงของกฎหมายก็เริ่มดังขึ้น จะมีใครนึกว่าผู้ที่ปิดสนามบินจะถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย จะมีใครนึกว่าแกนนำชุมนุมขับไล่รัฐบาล 2 ชุดที่แล้วจะถูกดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม เมื่อเสียงปืนเบาลง เสียงของกฎหมายก็เริ่มดังขึ้น เมื่อเหตุผลทางรัฐศาสตร์เริ่มเบาลง เหตุผลทางนิติศาสตร์ก็เริ่มดังขึ้น เมื่อเสียงของผู้ยึดอำนาจเบาลง เสียงของเจ้าของอำนาจอธิปไตยก็เริ่มดังขึ้น เมื่อการใช้อำนาจเป็นธรรมจางลง การใช้ธรรมเป็นอำนาจก็ดังขึ้น

เมื่ออำนาจรัฐเบาลง เสียงของนิติรัฐก็ดังขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image