‘เสียง’ของแหล่งข่าวที่ถูกสื่อละเมิดสิทธิ : โดย รุจน์ โกมลบุตร

ในระยะที่ผ่านมา มีแหล่งข่าว ทั้งที่เป็นประชาชนคนธรรมดา และผู้มีชื่อเสียง ถูกสื่อมวลชนละเมิดสิทธิจนได้รับความเสียหายจำนวนมาก
ผู้เขียนซึ่งทำโครงการวิจัยเรื่อง “ผลกระทบของแหล่งข่าวที่ถูกสื่อมวลชนละเมิดสิทธิ” โดยการสนับสนุนจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ ได้พบข้อมูลบางอย่างที่น่าสนใจ ทั้งในแง่ที่ว่ารูปแบบและปัจจัยใดที่ทำให้เกิดการละเมิด และผลของการละเมิดมีอะไรบ้าง จึงอยากจะขอนำ “เสียง” ของแหล่งข่าวเหล่านั้นมาแลกเปลี่ยนเพื่อเป็นบทเรียนสำหรับทุกฝ่าย

ประการแรก “การนำเสนอภาพศพ ส่งผลกระทบต่อคนที่ยังอยู่” ผู้เขียนได้เก็บข้อมูลจากสามีภรรยาคู่หนึ่ง (ขอสงวนชื่อ) ซึ่งสูญเสียลูกสาววัย 11 ขวบ จากการถูกฆาตกรรม ระหว่างที่สามีภรรยาคู่นี้กำลังตามหาว่าลูกสาวหายไปไหน สื่อบางแห่งได้นำเสนอข่าวที่ไม่ผ่านการตรวจสอบว่า “เด็กหญิงหนีไปกับผู้ชายที่สถานีรถไฟ” ทำให้กำลังการสืบสวนทั้งหมดต้องเทไปที่นั่น จนกระทั่งพบความจริงในอีก 3 วันต่อมาว่าเด็กหญิงถูกฆ่าทิ้งลงท่อ

ในช่วงที่พบศพและทำพิธีทางศาสนา สื่อมวลชนรุมทำข่าวครอบครัวนี้อย่างต่อเนื่อง ผู้เป็นแม่เปิดเผยว่า “การที่สื่อมาหลายคน ณ เวลาที่ไม่เหมาะสม มันคือความไม่เหมาะ เขากรูเข้ามา เราจะวิ่งหนีออกไปนอกบ้านก็ไม่ได้ เพราะนี่มันเป็นบ้านของเรา… เราก็รู้สึกไม่เป็นส่วนตัว”

แต่ที่หัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่สุดจะทนได้ก็คือ สื่อนำรูปศพของลูกไปเผยแพร่ “กรณีของลูก มันจำไม่ได้อยู่แล้ว แต่ภาพมันน่ากลัว เป็นสิ่งที่ไม่สวยงามในความคิดของเรา มันไปทำร้ายจิตใจคนที่รู้จักลูก อย่างเพื่อนลูกจะเศร้าหมดเลย ในเด็ก 1 คน ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว กับเด็กอีก 50 คนที่อยู่ในห้องเรียน ซึ่งเห็นรูปนี้ มันทำร้ายเด็กที่เหลือมากนะ”

Advertisement

กรณีนี้กำลังบอกเราว่า รูปศพที่บางคนเห็นว่า “น่าสนใจ” นั้น มันสะเทือนใจคนที่ยังอยู่แค่ไหน

ประการที่สอง “การกดดันแหล่งข่าว” กรณีการฆ่าตัวตายของวันชัย ดนัยตโนมุท เมื่อกลางปี 2559 ยังอยู่ในความทรงจำของคนจำนวนมาก เพราะเป็นเหตุการณ์ที่มีสื่อทีวีถ่ายทอดสด

ญาติของวันชัย (ขอสงวนนาม) ให้ข้อมูลแก่โครงการวิจัยว่า การทำข่าวของสื่อมวลชนส่งผลให้ตำรวจทำงานยากขึ้น เนื่องจากต้องหันมากันสื่อมวลชนให้ถอยออกจากพื้นที่ เพราะเกรงว่าหากเข้าไปใกล้ในระยะที่วันชัยเห็นการเฝ้าติดตามของสื่อมวลชนได้ จะยิ่งสร้างความกดดันในการเจรจาต่อรอง แต่การกันสื่อมวลชนออกจากพื้นที่ก็ไม่ประสบผล

Advertisement

ญาติของวันชัยกล่าวว่า แม้ญาติจะเชื่อว่าวันชัยได้เตรียม “ทางออก” สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้แล้ว แต่คิดว่าสื่อมวลชนมีส่วนสร้างความตึงเครียดและกดดันการตัดสินใจของวันชัย เพื่อให้รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดด้วย

ภายหลังจากเสียงปืนดังขึ้นจากการฆ่าตัวตาย สื่อมวลชนที่อยู่นอกโรงแรมจำนวนมากก็วิ่งกรูผ่านประตูรั้วเข้าไปในที่เกิดเหตุ เพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์ ซึ่งการวิ่งฝ่าเข้าไปนี้เป็นการขัดขวางเจ้าหน้าที่กู้ชีพและรถพยาบาลที่จะเข้าไปช่วยเหลือวันชัย

สำหรับการถ่ายทอดสดของบางสำนักข่าวนั้น ญาติของวันชัยกล่าวว่า “เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่ง เพราะไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าภาพความรุนแรงจะเกิดขึ้นเมื่อใด และเมื่อความรุนแรงนี้ได้เกิดขึ้นและถูกเผยแพร่ในวงกว้างแล้ว สื่อมวลชนจะรับผิดชอบต่อความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับญาติหรือครอบครัว ผู้ที่ยังคงดำเนินชีวิตต่ออย่างไร” ..

ประการที่สาม “ผลแห่งการละเมิดสิทธิ แหล่งข่าวมีหลายระดับตั้งแต่ไม่ได้รับความสะดวก เสื่อมเสียชื่อเสียง ไปจนถึงขั้นเสียชีวิต”
กรณีการทำข่าวอาการป่วยของทฤษฎี สหวงษ์ (ปอ) เป็นประเด็นที่สื่อถูกโจมตีว่าไปละเมิดความเป็นส่วนตัวของครอบครัว โดยเฉพาะการทำข่าวพิธีเคลื่อนศพจากโรงพยาบาล ที่สื่อมวลชนออกจากแนวกั้นเข้าไปประชิดศพเพื่อถ่ายภาพ จนขบวนเสียรูปและการเคลื่อนศพไปได้ช้ามาก

สงวน สหวงษ์ บิดาของทฤษฎี ให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ส่งผลเสียต่อครอบครัวหรือเกิดสิ่งร้ายแรงใดๆ แม้บางสถานการณ์ที่รุกล้ำมาครอบครัวจะรู้สึกไม่สะดวกอยู่บ้าง รวมถึงเกิดความไม่สบายใจ “ผมเพียงแต่คิดนะครับว่า มันไม่น่าเลยที่จะมารุมเอาภาพที่ไม่ดีไม่เหมาะออกไปเผยแพร่ ซึ่งจริงๆ แล้ว ขณะนั้นผมก็ไม่สามารถไปเห็นข้อมูลที่มันแพร่ออกไปได้ เราก็เลยยังไม่มีความรู้สึกเท่าไหร่ แต่พอมานึกย้อนหลัง ผมรู้สึกไม่สบายใจ ตรงที่ว่าไม่น่าเลย ก็เห็นใจทางโรงพยาบาลด้วยว่า โรงพยาบาลไม่ได้ปล่อยปละละเลยในจุดนี้นะครับ เฝ้าระวังในจุดนี้อยู่ แต่เอาไม่อยู่เท่านั้นเอง”

อีกกรณีหนึ่ง เป็นการละเมิดที่ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง เป็นเรื่องของ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ สมาชิกกลุ่มดาวดิน ระหว่างที่เขาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ขอนแก่นในข้อหาหนึ่งนั้น ในช่วงกลางปี 2560 มีการนำเสนอข่าวจากหนังสือพิมพ์และรายการเล่าข่าวว่า จตุภัทร์หลบหนีการเกณฑ์ทหารมาหลายปี ยังไม่เคยไปผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร จากนี้ต่อไปจตุภัทร์จึงจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

พริ้ม บุญภัทรรักษา มารดาของจตุภัทร์ ให้สัมภาษณ์ว่า ข้อกล่าวหานี้ไม่เป็นความจริง เพราะจตุภัทร์ผ่านการเรียนรักษาดินแดนมา 3 ปี และมีหลักฐานยืนยันว่าผ่านหลักสูตรแล้วด้วย ต่อมารายการทีวีได้แก้ไขข่าวให้เป็นข้อความข้างจอ
“เขาคิดว่าเราไม่สำคัญ เราเป็นบุคคลที่แค่นี้พอแล้วในความคิดเขา แต่เราว่าไม่ใช่ คนน่ะในเมื่อมันเสียหาย การชดใช้การเยียวยามันจะต้องมี แล้วต้องมาคุยกัน เขาต้องมาขอโทษครอบครัวเราด้วย แต่นี่ไม่มีการขอโทษ ไม่มีอะไรเลย แล้วไปขึ้นแปะแบบนั้น (ข้อความข้างจอโทรทัศน์) คือเขาไม่ให้ความสำคัญของการเป็นคน”

ทั้งนี้ พริ้มบอกว่า เมื่อตกเป็นข่าวนี้ ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของครอบครัว โดยทั้งพริ้มและสามีมีอาชีพเป็นทนายความ เมื่อมีข่าวว่าลูกชายหลบหนีการเกณฑ์ทหารก็ย่อมส่งผลต่อชื่อเสียง ในด้านความน่าเชื่อถือของวิชาชีพ และอาจทำให้คนเข้าใจได้ว่าขนาดเป็นผู้ที่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายก็ยังทำผิดกฎหมายได้..

อีกกรณีหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต คือกรณี ศรัณย์รัชต์ ซู่สั้น อายุ 20 ปี ถูกตำรวจคุมตัวเป็นผู้ต้องหาใช้สารเสพติดมอมเมาและล่วงละเมิดเด็กหญิงอายุ 8 ขวบ จนเด็กเสียชีวิต
ตำรวจหว่านล้อมและหลอกล่อให้เขาลงนามยอมรับการแถลงข่าว และนำเขาแถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชน แต่เขาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาในระหว่างแถลงข่าว เขาถูกควบคุมตัวอยู่ 42 วัน ก่อนที่จะพบหลักฐานเป็นดีเอ็นเอในตัวเด็ก ว่าผู้กระทำผิดตัวจริงคือพ่อของเด็กซึ่งต่อมารับสารภาพ ส่วนศรัณย์รัชต์คือ “แพะ”

ศรัณย์รัชต์ให้สัมภาษณ์ว่า ในการแถลงข่าวดังกล่าวมีสื่อมวลชนหลายสำนักมารอทำข่าว มีผู้สื่อข่าวค่อนข้างมีอายุคนหนึ่ง นั่งจ้องหน้าเขาแล้วพูดว่า “มึงโดนประหารแน่”

ในระหว่างการแถลงข่าว ตำรวจเป็นผู้ที่ชี้แจงข้อมูลเพียงฝ่ายเดียว สื่อมวลชนจำนวนมากก็ไม่ได้ซักถามข้อมูลใดกับทั้งเขาและตำรวจเลย ซึ่งเขาเกือบไม่มีโอกาสได้ชี้แจงในการแถลงข่าวแล้ว หากไม่มีผู้สื่อข่าวคนหนึ่ง ไม่ทราบสังกัด แต่ทราบภายหลังว่าเป็นเพื่อนของพ่อเขา ถามขึ้นมาในระหว่างการแถลงข่าวเพื่อให้เขาได้พูดชี้แจงบ้าง ซึ่งเขาก็ตอบไปว่าไม่รู้เรื่องใดๆ เลย

ในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนได้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งชื่อ-สกุล ที่อยู่อาศัย และภาพใบหน้าของศรัณย์รัชต์ที่ขณะนั้นยังเป็นผู้ต้องหา รวมถึงการใช้ภาษาหรือถ้อยคำที่ตัดสินศรัณย์รัชต์คล้ายว่าเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว เช่น “รวบโจ๋ข้างบ้านขืนใจเด็กแปดขวบ บังคับมอมยาบ้าช็อกดับ – เจ้าตัวยังปากแข็ง”

“รุนแรงมาก เขาพูดให้ข่าวดูมัน ดูสนุกมากกว่า คือใส่มาเต็มๆ เลย ทั้งที่จริงไม่เป็นความจริง เราแค่เป็นผู้ต้องหา แต่เขาบอกเราเป็นคนทำเรียบร้อยแล้ว ไอ้โฉด ไอ้ชั่ว”

ศรัณย์รัชต์ให้สัมภาษณ์ว่า ผลกระทบสำคัญอีกประการหนึ่งเกิดขึ้นกับ รชต ซู่สั้น ผู้เป็นพ่อ ซึ่งทำงานเป็นผู้จัดการแผนกอาหารและเครื่องดื่ม ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดกระบี่ ได้ลางานประจำราว 2 เดือน เพื่อมาดำเนินเรื่องเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเขา ทั้งว่าจ้างทนายความให้มาดูแลคดี ขอความช่วยเหลือจากสื่อมวลชนเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงจากฝั่งครอบครัวเขา รชตเตรียมฟ้องร้องเอาผิดกับตำรวจที่จับผิดคน ฟ้องร้องสื่อมวลชนที่รายงานข่าวเกินความจริง

ระหว่างนั้นรชตมีภาวะเครียดจัด นอนไม่ได้ มีหนี้สินที่กู้ยืมมาเพื่อต่อสู้คดีและใช้จ่ายในครอบครัวเกือบสองแสนบาท จนกระทั่งต้นเดือนพฤศจิกายน 2559 รชตได้เสียชีวิตลง ด้วยโรคหัวใจและอาการปอดติดเชื้อ .

ส่วนการที่สื่อมวลชนติดตามรายงานข้อเท็จจริงว่าผู้กระทำความผิดที่แท้จริงเป็นพ่อของเด็กหญิงนั้น ศรัณย์รัชต์เห็นว่าสื่อมวลชนก็ได้ทำตามหน้าที่ในการนำเสนอข้อเท็จจริง แต่ก็ไม่อาจถือว่าเป็นการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ เพราะครอบครัวเขาได้รับผลกระทบไปแล้วจากข้อความกล่าวหาว่าเขาเป็นคนชั่วร้าย เลวทราม
จากตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้เกี่ยวข้องไม่เข้าใจ หรือเข้าใจแต่ไม่ได้เคารพในสิทธิของผู้อื่นอย่างที่ควรจะเป็น

ประเด็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล ความเสมอภาค เท่าเทียม จึงเป็นประเด็นสาธารณะที่ควรรณรงค์อย่างเข้มข้นต่อไปในสังคมประชาธิปไตยของเรา เพื่อไม่ให้ “เสียง” เหล่านี้สูญเปล่า..

 

รุจน์ โกมลบุตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image