สัมภาษณ์พิเศษ: พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ขับเคลื่อนแก้ ‘สังคม-ประมง-น้ำ’

หมายเหตุพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางการทำงานในรอบ 3 เดือนภายหลังเข้ามาทำหน้าที่รองนายกรัฐมนตรี


งานที่รับผิดชอบในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี

โดยหลักดูแลงานด้านสังคม รับผิดชอบ 2 กระทรวงหลัก คือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แต่ 2 กระทรวงนี้มีหน่วยงานย่อยที่ตามมา เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) จะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน เริ่มต้นตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งด้านสุขภาพและด้านสังคม นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบหมายงานพิเศษ คือ การบริหารจัดการน้ำ และกรณีที่ต้องแก้ไขปัญหาเร่งด่วนคือ กฎระเบียบว่าด้วยการทำประมงที่ผิดกฎหมาย หรือไอยูยู เป็นงานที่ทำต่อเนื่องตั้งแต่เป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์

“นายกฯมอบหมายอะไร ผมไม่ค่อยมีปัญหา ด้วยความเป็นทหาร ทำงานตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย จะติดนิสัยแบบนี้พร้อมทั้งทำให้ดีที่สุด แต่งานที่ กษ.กับงานรองนายกฯนั้นค่อนข้างแตกต่างกัน เป็นรองนายกฯจะมีรัฐมนตรีที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล งานจึงเหมือนการดูแลในเชิงนโยบายมากกว่า ขณะเดียวกันคิดว่าการเข้ามาทำงานในตำแหน่งรองนายกฯทำให้ช่วยงานนายกฯได้มากขึ้น นายกฯเป็นคนที่มีวิธีการทำงานที่อาจจะไม่เหมือนใคร จะพิจารณาอย่างรอบคอบด้วยตัวท่านเอง ไม่ค่อยบอกล่วงหน้า ทำงานแบบนี้มาตลอด พิจารณามองว่าใครมีความเหมาะสมอย่างไร ดูภาพรวมเป็นส่วนใหญ่ บอกตามตรงก่อนที่จะย้ายตำแหน่งมานั้นนายกฯไม่ได้ปรึกษาผม พอถึงเวลาก็มาบอกว่าจะให้ไปอยู่ตรงนั้น นายกฯรู้ว่าดำเนินการอย่างไร ผมก็ทำตาม ยืนยันว่าไม่มีน้อยใจ อยู่ตรงไหนก็ทำงานได้ทั้งนั้น และด้วยความเป็นทหาร ถ้าผู้บัญชาการเขาสั่งการ แสดงว่าเขากลั่นกรองแล้ว ต้องให้ความเชื่อถือและเคารพ”

ปัญหางานที่ต้องเร่งแก้ไข

สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนเป็นลำดับแรกคือ สังคมผู้สูงอายุ เหลืออีกไม่กี่ปี วันนี้ปี 2561 มีผู้สูงอายุอยู่ประมาณ 18% ของประชากรทั้งประเทศ แต่ในปี 2564 จะมีผู้สูงอายุถึง 20% ของประชากรทั้งประเทศ หมายความว่า ตอนนั้นเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ แต่ที่น่าห่วงใยมากกว่านั้นคือ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ 1 ใน 3 เป็นผู้มีรายได้น้อย เมื่อมีโรคภัยไข้เจ็บ การดูแลสุขภาพเริ่มเป็นปัญหา กลายเป็นภาระขนาดใหญ่ หลายประเทศที่เขาเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้ภาระของรัฐบาลหนักมาก จนกระทั่งอาจจะรับไม่ไหว ดังนั้น การเตรียมการจึงต้องรีบเร่งดำเนินการ ขณะนี้ได้ติดตามงานเรื่องนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบเขาดำเนินการ เพียงแต่วันนี้ต้องเร่งดำเนินให้มาก มองปัญหาให้ครบถ้วน การแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุแก้โดย 1-2 กระทรวงไม่ได้ ต้องทำหลายๆ หน่วยงานพร้อมกัน

Advertisement

อีกเรื่องคือ เรื่องเด็กน่าห่วงค่อนข้างมาก หมายถึงการพัฒนาของประเทศในอนาคต เพราะทุกวันนี้เด็กไทยเกิดน้อยลงมาก เมื่อย้อนไป 20 ปี เทียบกับปีนี้ ลดไปเยอะเลย จากประมาณปี 2546 มีเด็กเกิดเฉลี่ย 800,000 คน/ปี ปีนี้เหลือ 700,000 คน และอีกประมาณ 10-15 ปีข้างหน้าจะเหลือไม่เกิน 500,000 คน ถ้าอัตราเร่งเป็นแบบนี้ แต่ที่ร้ายที่สุดคือการพัฒนาการของเด็ก หมายความว่า เด็กมีสุขลักษณะต่ำกว่ามาตรฐาน อาทิ การโภชนาการก็ไม่ได้ น้ำหนักตัวก็ไม่ได้ ลองคิดดูว่าถ้าเด็กไทยมีพัฒนาการไม่ดีหรือต่ำกว่ามาตรฐาน ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร นี่เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก ต้องรีบแก้ไข เพราะสังคมเปลี่ยนไปเยอะ ผมได้คุยกับ พม.และ สธ.แล้วว่าเรื่องนี้ต้องให้ความสนใจมากๆ โดยเฉพาะเรื่องเด็กที่ไม่ใช่มาดูแลตอนที่คลอดแล้ว แต่ต้องดูตั้งแต่ก่อนที่เขาจะมีครรภ์ หมายถึง คุณแม่วัยใสก็ดี คุณแม่ที่ยังไม่พร้อมก็ดี ต้องมีความพร้อม เมื่อมีครอบครัวแล้วจะมีการดำรงชีวิตอย่างไร เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร สิ่งพวกนี้ต้องเข้ามาตั้งแต่ก่อนที่เขาจะแต่งงาน ดังนั้น 2 เรื่องนี้ คิดว่าต้องดูแลไม่ใช่เพียงหน่วยงานที่ผมกำกับดูแลเท่านั้น หลายๆ หน่วยงานต้องเข้ามา เพราะปัญหามันพันกันไปหมด

จะกำหนดเป็นวาระแห่งชาติหรือไม่

ผมได้พูดคุยกับหลายหน่วยงาน อยากเห็นหน่วยงานหลักก็คือ พม. ได้สั่งการไปแล้วว่าให้ พม.ไปหนุนหลัง แล้วเชิญหลายๆ หน่วยงานเข้ามาร่วมหารือ ผมจะนั่งเป็นประธาน เพื่อให้เกิดการบูรณาการ การทำงานจะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ความจริงมีแผนยุทธศาสตร์อยู่แล้ว แต่การขับเคลื่อนค่อนข้างลำบากถ้าปล่อยให้ พม.ทำฝ่ายเดียว นอกจากนั้นจะเห็นว่าอย่างประเด็นผู้สูงอายุ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) แต่ว่าทุกคนก็ทำกันไป ไม่ได้ผิดอะไร เพียงแต่ถ้าเรามารวมกันทำ ทำไปในทิศทางเดียวกัน ผมเชื่อว่าภาครัฐโดยเฉพาะรัฐบาลจะสามารถกำหนดทิศทางที่ชัดเจนขึ้นได้ นี่เป็นเรื่องที่ได้สั่งการหน่วยงานไป

Advertisement

สำหรับเรื่องการบริหารจัดการน้ำ

รัฐบาลเดินหน้าเรื่องนี้มาได้ดีมาก แต่ก่อนอาจไม่มีแผนยุทธศาสตร์น้ำเลย อาจมีหน่วยงานที่กำกับดูแลน้ำ 38 หน่วยงาน แต่ไม่มีแกนหลัก ถึงแม้จะมีแกนหลักแต่ก็ขาดความชัดเจน นอกจากนี้เรายังไม่มีกฎหมาย แต่วันนี้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) น้ำอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กฎหมายกำลังจะออกมีผลบังคับใช้ภายในปี 2561 มีองค์กรที่จัดตั้งชัดเจนคือคณะกรรมการน้ำที่ท่านนายกฯเป็นประธานเอง และมีหน่วยงานขับเคลื่อนเรียกว่าสำนักงานน้ำแห่งชาติ ตั้งขึ้นเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยคำสั่ง คสช. สำนักงานน้ำแห่งชาติมีหน้าที่ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่เพิ่งมีเมื่อปลายปี 2558 ดังนั้นตอนนี้จึงมีความพร้อมในระดับบริหารจัดการในระดับประเทศ เพราะมีทั้งองค์กร กฎหมาย และยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อน เรื่องการบริหารจัดการน้ำก็จะเดินหน้าไป โดยมีแผนอย่างชัดเจนทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เดิมทำไว้ 10 ปี ตอนนี้ขยายไป 20 ปี ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ

การแก้ไขการทำประมงที่ผิดกฎหมาย

เป็นปัญหาที่ไทยสะสมมานาน สหภาพยุโรป (อียู) เตือนมานาน แต่ไทยอาจยังไม่ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาเท่าไหร่ จนกระทั่งได้รับใบเหลืองเมื่อปี 2557 หลังจากนั้นจึงต้องเร่งดำเนินการ เพราะถ้าไม่เร่งดำเนินการอะไร เรื่องธุรกิจ เศรษฐกิจ หรือเรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจ กลายเป็นว่าประเทศอาจจะตกอันดับเลย เพราะสังคมโลกเขาเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว อยู่บนเวทีโลกจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จะปล่อยให้อียูตีตราประเทศไทยว่าทำผิดกฎหมายเรื่องไอยูยูอยู่ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว เรื่องไอยูยูผมทำมาตั้งแต่เป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายกฯเป็นคนมอบหมายให้ผมดูแลแก้ไขปัญหานี้ พอมาเป็นรองนายกฯ มอบงานสานต่อเพื่อจะได้ต่อเนื่อง เรื่องนี้คิดว่าเราแก้ปัญหานี้ได้ใกล้เคียงกับระดับสากลแล้ว อาจพูดได้ว่าในภูมิภาคนี้ ประเทศไทยเดินหน้าเรื่องนี้ไปได้มากทีเดียว

สิ่งที่รัฐบาลทำในวันนี้ โดยเฉพาะส่วนตัวผมที่แก้ปัญหาประมงเรื่องนี้ กลับไม่ได้มองเรื่องใบเหลืองเลย แต่มองว่าไทยจะต้องแก้ปัญหาให้ทะเลไทยอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน หมายถึงว่าเราจะมีปลาและมีอาหารทะเลสัตว์น้ำในอ่าวไทยอุดมสมบูรณ์เพื่อลูกหลานในอนาคต ต้องหันกลับมามองว่า เครื่องมือก็ดี จำนวนเรือก็ดี กติกาที่จะทำก็ดี ต้องเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาที่เราทำเรื่องใหม่ เป็นปกติที่คนอยู่ในระบบเก่าที่ไม่เคยถูกกำหนดหรือถูกควบคุม เขาจะรู้สึกอึดอัด ที่ผ่านมา ผมคุยกับสมาคมประมงแห่งประเทศไทยมาโดยลำดับ การแก้ปัญหาเรื่องนี้เดินหน้าไปก่อนแล้ว 1 ปี ผมเข้ามาทีหลัง การออก พ.ร.บ.ประมงออกไปแล้ว แต่เมื่อเข้ามาเรียกผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชาวประมงพื้นบ้าน สมาคมประมงมานั่งคุยกันว่าต้องเข้าใจร่วมกันก่อนในตอนแรก เมื่อเข้าใจแล้วว่าไม่ได้มองจะถูกใบเหลืองหรืออะไร แต่เรื่องที่ให้ความสำคัญมากกว่าคือ การทำประมงแบบยั่งยืน เพราะฉะนั้นมาร่วมมือกัน อะไรที่ติดขัดที่สามารถแก้ปัญหาได้ ยอมรับว่าเครื่องมือที่ทำลายล้างปลาเล็กปลาน้อยควรถูกยกเลิก

นายกสมาคมประมงฯทำงานร่วมกับผมเป็นอย่างดี ให้ความสำคัญกับประมงพื้นบ้าน 2 ปีที่ผ่านมา เรือประมงลดลงไปเยอะจากการจัดระเบียบทะเบียน ตอนนี้เรือประมงทุกลำมีทะเบียน และตอกอัตลักษณ์เหมือนรถเลย มีทะเบียน มีตัวถัง เพราะฉะนั้นมันเข้าระบบ ผลสะท้อนในช่วง 2 ปีเห็นเลยว่าเรือที่ออกไปจับปลา เฉลี่ยแล้วเขาได้ปริมาณน้ำหนักปลามากขึ้น ปลาที่จับได้ตัวโตขึ้น เขาสำรวจกันมาแล้ว ของเดิมเฉลี่ย 27 ตัน/ปี ก่อนปี 2558 แต่ 2 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็น 35 ตัน/ปี แสดงว่าน้ำหนักปลาได้มากขึ้น นั่นหมายความว่าการดำเนินการที่ผ่านมาจะส่งผลดีในระยะยาว ถ้าเราสามารถกำกับดูแลและสร้างความร่วมมือกับชาวประมง และออกกติกาพวกนี้ ผลสุดท้ายมันดีกับชาวประมงเอง บ้านเราก็จะมีปลาที่อุดมสมบูรณ์

อียูจะมาตรวจในเดือนเมษายน 2561

เวลาที่ทำงานได้บอกต้องการคำแนะจากอียู เพราะมีความชำนาญในระดับสากล จะส่งทีมมาแนะนำไทยเป็นระยะๆ ล่าสุดเราพูดคุยกันเมื่อเดือนธันวาคมปี 2560 ว่าต่อไปผมอยากจะให้ใช้วิธีการสื่อสาร 2 ทาง คือใช้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ คุยกันว่าสิ่งที่เขาแนะนำมา ไทยนำไปปฏิบัตินั้นใช่หรือไม่ใช่ หรือต้องปรับตรงไหนให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ครั้งสุดท้ายที่วิดีโอคอนเฟอเรนซ์กันคือเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ และต้นเดือนมีนาคมก็จะวิดีโอคอนเฟอเรนซ์อีกครั้ง หลังจากนั้นเดือนเมษายนอียูก็จะส่งทีมมาดู คิดว่อียูน่าจะเห็นความสำเร็จของไทยในสิ่งที่ได้ทำมาตลอด จริงๆ ไม่อยากกำหนดกฎเกณฑ์ว่าอียูจะให้หรือไม่ให้ใบเขียว ถ้าทำตามเส้นทางที่กำหนดไว้ ก็น่าจะจบได้ในเดือนเมษายน เชื่อว่าความอุดมสมบูรณ์ของไทยและการทำประมงที่วางแผนไว้จะสามารถไปได้ ส่วนที่เขาจะให้ใบเขียวใบเหลืองอะไร ถ้าได้มาเห็นความสมบูรณ์ผมเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา

การแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างไร

เมื่อประเทศไทยอยากเดินหน้า จะปล่อยให้แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบไม่ได้ นี่เป็นส่วนหนึ่ง วันนี้กระทรวงแรงงานเข้ามาดูเรื่องแรงงานทำงานร่วมกัน ก่อนลงเรือต้องตรวจ ตรวจว่าแรงงานที่อยู่ในภาคประมงนั้นถูกต้องตามกติกาหรือเปล่า มีศูนย์ปีโป้คือศูนย์ตรวจเรือเข้า-ออก เรือทุกลำที่จะออกทะเลต้องไปแจ้งเข้า-แจ้งออกที่ปีโป้ ณ ที่นั่นจะมีการตรวจแรงงานว่า เป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ไม่ใช่แรงงานค้ามนุษย์ อายุต่ำกว่า 18 ต้องไม่มี หรือเป็นแรงงานเถื่อน ในส่วนเรื่องค่าแรง กระทรวงแรงงานกำลังจะออกกฎหมาย ต้องจ่ายเงินผ่านธนาคาร จะช่วยลดปัญหาการจ่ายเงินบ้าง ไม่จ่ายเงินบ้างตามที่ได้รับการร้องเรียน การจ่ายเงินผ่านธนาคารจะมีสลิปมีหลักฐาน การดูแลความถูกต้องบนเรือต้องดูแลสุขอนามัยบนเรือด้วย ในปี 2561 กระทรวงแรงงานยังเดินหน้าทำความตกลงหรือจะเข้าร่วมอนุสัญญาต่างๆ ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ว่าประเทศไทยไม่รับแรงงานเถื่อน เพราะฉะนั้นเราต้องอยู่บนความถูกต้องในด้านเหล่านี้

คิดว่าอะไรที่ทำให้ชาวประมงยอมรับการทำงานของท่าน

อย่างที่เรียนในตอนต้นว่าผมทำงานร่วมกับชาวประมง ทั้งพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ กลุ่มที่มาให้กำลังใจผมในวันนั้นมาจากทั้ง 2 กลุ่ม เขาสามารถเข้าพบพูดคุยกับผมได้ตลอดเวลา ผมรับทราบสิ่งที่เขาเป็นปัญหา ผมพยายามแก้ไข เหนืออื่นใดก็บอกว่าเจตนารมณ์ของผมคือต้องการเห็นการทำประมงแบบยั่งยืน เขาเองก็เข้าใจ บอกว่าจริงๆ แล้วก็อยากได้แบบนั้น เพราะลูกหลานก็ยังมีอาชีพประมงและมีรายได้เพียงพอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image