ญาติคนไข้โวย รพ.เอกชนเก็บค่ารักษาเคสฉุกเฉินหลายแสน แถมผลผ่าตัดล้มเหลวต้องส่งรักษาต่อที่อื่น

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในโลกโซเซียลมีการแชร์ข้อความของ พ.ต.อ.รศ.พณาเจือเพ็ชร์ กฤษณะราช อดีตสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)ระยอง กรณีเกิดปัญหาผู้ป่วยรายหนึ่งถูกญาติส่งเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งแบบปัจจุบันทันด่วน และแพทย์วินิจฉัยว่าต้องผ่าตัดด่วนซึ่งมีค่าใช้จ่ายหลายแสนบาท ต่อมาญาติผู้ป่วยใช้สิทธิว่าเข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาเพื่อช่วยชีวิตหรือไม่ แต่ในที่สุดผู้ป่วยรายดังกล่าวกลับต้องจ่ายเงินเอง ทั้งๆ ที่ผลการผ่าตัดล้มเหลว จนต้องส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลอื่น

ทั้งนี้ ข้อความดังกล่าวมีรายละเอียดว่า

“วิถีเทพบ้านสวน เรียนเพื่อนๆ ที่รักทั้งหลาย To whom it may concern เดอะซีรีส์….1 โพสต์นี้ขอให้เพื่อนๆ ตั้งใจอ่านกันให้ดี ถึงแม้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องส่วนตัว แต่…ไม่ใช่ เป็นเรื่องที่มีประโยชน์กับเพื่อนๆ มาก
ในเรื่องเกี่ยวกับความเจ็บป่วย ความเป็นความตาย สิทธิประโยชน์ของประชาชนที่พึงได้ในการรับการรักษาทั้งจาก รพ.เอกชนและ รพ.ของรัฐ เทพได้ทำ reserch เอกสารต่างๆ เพื่อค้นหาความจริง ด้วยความตั้งใจเป็นพิเศษ จากกรณีตัวอย่างป้าอ้อยพี่สาวภรรยาเทพ ใครพลาดที่จะอ่าน น่าเสียดายมาก

“ย้อนความกลับไปนิด กรณีป้าอ้อย Nutcha Manusnon พี่สาวเอ ภรรยาเทพ เส้นโลหิตในสมองแตกเฉียบพลัน เหตุเกิดที่บ้านเสนา กทม. เมื่อสี่วันที่ผ่านมานั้น อาการเบื้องต้นของป้าอ้อย คือปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาเจียนติดๆ กันหลายๆครั้ง ญาติได้นำส่ง รพ.เอกชนใกล้บ้าน แพทย์เจ้าของไข้แจ้งญาติว่า ป้าอ้อยเส้นโลหิตในสมองแตกเฉียบพลัน มีเลือดออกในสมอง ต้องเจาะหัวดูดน้ำและเลือดออก และแนะนำให้ผ่าตัดด่วนในวันนั้นเลยโดยวิธี cliping ทาง รพ.เรียกเก็บค่ารักษาในชั้นแรก 600,000 บาท …ให้จ่ายเลย

Advertisement

“หลังจากการผ่าตัด แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดแจ้งว่า ผ่าตัดแล้วมองไม่เห็นเส้นเลือด (การผ่าตัดล้มเหลว)
ทาง รพ.ทำอะไรไม่ได้แล้ว (หมายความว่าปล่อยให้ตายอยู่ตรงนั้น) และเรียกค่ารักษาเพิ่มอีก 170,000 บาท
รวมจ่ายไปทั้งหมด 770,000 บาท (เจ็ดแสนเจ็ดหมื่นบาทถ้วน) (ย้ำอีกครั้งแพทย์เจ้าของไข้ ผู้ทำการผ่าตัดบอกว่าทำอะไรไม่ได้แล้ว)

“ต่อมาทางญาติได้ประสาน รพ.ศิริราช (ใครจะปล่อยให้ตาย) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ย้ายป้าอ้อยไปรักษาที่นั่น คณะแพทย์ รพ.ศิริราช ได้ทำการผ่าตัดป้าอ้อยทันทีที่ไปถึง รพ. ด้วยวิธี coiling
ขณะนี้ป้าอ้อยยังอยู่ใน ICU แต่อาการดีขึ้นมาก รู้สึกตัว โต้ตอบได้ พ้นขีดอันตรายแล้ว กำลังจะย้ายออกจากห้อง ICU ไปพักรักษาตัวห้องผู้ป่วยทั่วไป สถานะป้าอ้อยเป็นผู้ใช้สิทธิบัตรทอง (๓๐บาทรักษาทุกโรค) ที่รพ.มงกุฎวัฒนะ ตามภูมิลำเนา

“หลังจากป้าอ้อยไปอยู่ที่ รพ.ศิริราชแล้ว ญาติผู้ป่วยได้สอบถามเรื่องสิทธิป้าอ้อย ไปที่สำนักงานกลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปรากฎว่า ไม่มีรายงานบันทึกการรักษา ของป้าอ้อยจาก รพ.เอกชน (ทาง รพ.ไม่แจ้ง) ญาติได้สอบถามไปทาง รพ. ซึ่งมีหน้าที่ต้องแจ้งอาการป้าอ้อยต่อ สปสช. ว่าทำไมไม่แจ้ง ในวันรุ่งขึ้นต่อมา รพ. ได้แจ้งไปที่สปสช. (เอกสารตามภาพ) โดยแพทย์ผู้ทำการรักษา (ผ่าตัด) แทงความเห็นว่า”ไม่เข้าเกณฑ์” หมายความว่าอาการป้าอ้อย ไม่เข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤตสีแดง ตามที่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กำหนด ถ้าเข้าเกณฑ์วิกฤตสีแดง ป้าอ้อยจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ภายใน 72 ชม.ตามกม. (รายละเอียดเรื่อง กม.นี้เพื่อนๆ ค่อยๆติดตามอ่านกันไป)

Advertisement

“สรุปประเด็นในเรื่องนี้คือ 1 ทำไม รพ.เอกชนไม่แจ้งการรักษาป้าอ้อยต่อ สปสช.แต่แรก 2 เมื่อญาติทวงถามสิทธิ ทำไม รพ.เอกชนโดยแพทย์เจ้าของไข้แจ้งไปยัง สปสช.ว่าอาการป่วยป้าอ้อยไม่เข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤตสีแดง ทั้งๆ ที่วันก่อนหน้าที่จะแจ้ง สปสช.แพทย์คนเดียวกันนั้นได้อธิบายกับญาติผู้ป่วยว่าอาการป้าอ้อยวิกฤตเป็นตายเท่ากันต้องเจาะหัวเอาน้ำและเลือดในสมองออก ต้องผ่าตัดด่วนวันนั้นเลยโดยวิธี cliping (มีคลิปเสียง mp4 ความยาว 24 นาทีเป็นหลักฐาน อธิบายภาวะวิกฤตฉุกเฉินที่จำเป็นต้องผ่าตัดป้าอ้อยเร่งด่วนปล่อยไว้เป็นตายเท่ากัน) และต่อมาผลการผ่าตัดล้มเหลว แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดแจ้งญาติว่า ผ่าแล้วมองหาเส้นเลือดที่แตกไม่เจอ.. ทำอะไรไม่ได้ 3 อาการป่วยป้าอ้อยเข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤตสีแดงตามที่ทางราชการกำหนดหรือไม่ ประเด็นนี้เทพอธิบายให้เพื่อนๆ เข้าใจง่ายๆ ว่า ถ้าอาการป่วยป้าอ้อยเข้าเกณฑ์ฉุกเฉินสีแดง
กม.ห้าม รพ.เอกชนเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยเด็ดขาด หากเรียกมีโทษทั้งจำทั้งปรับตาม กม. (จะอธิบายข้างล่าง)

“ข้อเท็จจริงในประเด็นนี้คือได้เรียกเก็บและจ่ายไปแล้วเป็นจำนวนเงินหกแสนบาท ก่อนที่เข้ารับการผ่าตัด
และผลการผ่าตัดล้มเหลว ย้ำอีกครั้งหลังการผ่าตัด แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดแจ้งญาติว่าทำอะไรไม่ได้แล้ว (แปลว่าจงนอนรอความตายอยู่ตรงนั้น) และเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่มมาอีกหนึ่งแสนเจ็ดหมื่นบาท ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลาไม่ถึง 48 ชั่วโมง ที่อยู่ รพ.เอกชน และแพทย์ผู้ทำการรักษาแทงความเห็นไปหลังจากผ่าตัดว่า ไม่ใช่ฉุกเฉินวิกฤตสีแดงตามนโยบายรัฐบาล เพื่อที่จะได้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายได้เต็มที่

“ที่จริงโพสต์นี้ก็ค่อนข้างยาวแล้ว แต่อยากให้เนื้อหาต่อเนื่อง ขอให้เพื่อนๆ ตั้งใจอ่านตอนต่อไปนี้ให้ดีๆ สำคัญมาก เป็นหัวใจของโพสต์นี้เลยทีเดียว เป็นเรื่องสิทธิประโยชน์ของพวกเราประชาชนคนไทยทุกคน ตามกฎหมาย แต่คนไทยไม่รู้ และ รพ.เอกชนหน้าเลือดทั้งหลาย ก็ (แกล้งทำ) ไม่รู้ ข้อปฏิบัติรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต 72 ชั่วโมงแรก ตามกฎหมายสถานพยาบาล และมติ ครม. 28 มีนาคม 2560 ต้องปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน รพ.ทุกแห่งต้องรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) อย่างเต็มความสามารถ และห้ามเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลภายใน 72 ชั่วโมงแรกเด็ดขาด หากฝ่าฝืนในส่วนของ รพ.เอกชนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) กำหนดให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ได้ทุกแห่ง เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงินในระยะ 72 ชั่วโมงแรกนั้น ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 สำหรับโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย คือ ปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วย จะมีความผิดตามมาตรา 36 ของ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ..

“อาชีพที่มีเกียรติและสูงส่งในสังคม เป็นอาชีพที่ได้เปรียบประชาชน แทนที่จะทำประโยชน์ กลับทำการฉ้อฉล เบี่ยงเบนความจริง กอบโกยสร้างความร่ำรวยให้กับตน ด้วยเงินเปื้อนเลือดและน้ำตา จากความหวาดกลัวต่อความเจ็บป่วย และความตาย ของประชาชนผู้ไร้เดียงสา ประชาชนผู้ขาดความรู้ความเข้าใจ ในสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายของตน แม้น กม.บ้านเมืองมีอยู่ ก็หาได้เกรงกลัวไม่ คุกมีไว้ขังสัตว์คน ไม่ได้ไว้ขังสัตว์หมา ปล.ขอขอบคุณ รพ.ศิริราช สปสช.1330 ที่ทำหน้าที่บริการประชาชนอย่างดียิ่ง คู่ควรกับการยกย่องชมเชย..”

ทางด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ทราบเรื่องแล้ว โดยมีเหตุเกิดจริงเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ 02.00 น.แต่การประเมินว่าผู้ป่วยจะเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤตหรือไม่ สพฉ.จะดำเนินการวินิจฉัย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง

ขณะที่ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่า ยังไม่ทราบรายละเอียด ขอตรวจสอบข้อมูลก่อน และพูดอะไรตอนนี้ไม่ได้ แต่ในทางปฏิบัติมีแบบฟอร์มการประเมินที่ รพ.ต้องออนไลน์ให้ สพฉ.กันอยู่แล้ว ถ้าเข้าข่ายก็ต้องจ่าย เพราะมีเงินกองทุนดูแล แต่กรณีนี้ขอตรวจสอบรายละเอียดก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image