บิ๊ก ‘หัวเว่ย’ เผยความลับ ยุค5G

งวดเข้ามาทุกทีกับงานสัมมนา “5G เปลี่ยนโลก เปลี่ยนประเทศไทย” ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ รางน้ำ เป็นงานสัมมนาที่เปิดโลกทัศน์คนไทยได้รับรู้ถึงเทคโนโลยีอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถือได้ว่าเป็น “แม่งานหลัก” ในฐานะหน่วยงานรัฐด้านกิจการโทรคมนาคมริเริ่มงานสัมมนาครั้งนี้ ให้เหตุผลการจัดงานได้น่าฟังว่า “ทั้งโลกกำลังตื่นตัว ตื่นเต้นกับเทคโนโลยี 5จี ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงยิ่งกว่าเทคโนโลยี 4จี แต่ยังพบว่ามีบางคนบางส่วนยังนิ่งเฉย ซึ่งอาจส่งผลให้ตกยุคสมัยได้ เพราะปรับตัวไม่ทัน”

นายฐากรเล่าถึงพัฒนาของเทคโนโลยีที่เริ่มต้นจากปี 2555 ด้วยเทคโนโลยี 3จี กระทั่งปี 2560 และปัจจุบันที่เกิดเทคโนโลยี 4จี คนไทยส่วนใหญ่เริ่มตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้โทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ทโฟนที่ทำอะไรได้มากกว่าการสื่อสารเพียงโทรเข้า-โทรออก แต่หากได้ก้าวเข้าสู่เทคโนโลยี 5จี ที่คาดว่าจะเปิดใช้งานประมาณปี 2563 จะยิ่งเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายหลายเท่าทวีคูณจาก 4จี ทั้งพฤติกรรมของผู้คน การทำธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเทคโนโลยี 5จี มีความเร็วกว่า 4จี อยู่ 30 เท่า

“สิ่งที่จะเกิดขึ้นนี้จำเป็นต้องสื่อสารให้ประชาชนรับทราบว่าเทคโนโลยี 5จี กำลังจะเข้ามามีบทบาทต่อโลกต่อประเทศไทยอย่างไร ภายในงานสัมมนา บริษัทหัวเว่ย และบริษัทอีริคสัน ที่ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งนี้กับ กสทช. จะเปิดบูธสาธิตให้เห็นภาพจริงของเทคโนโลยี 5จี ว่าทำอะไรได้บ้าง จะนำอุปกรณ์บางชนิดมาจัดแสดงโชว์ด้วย ส่วนเนื้อหาการเสวนาจะพูดถึงเทคโนโลยี 5จี จะต้องเตรียมตัวอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ขณะนี้มีรูปแบบการใช้งานหลักที่แตกต่างจาก 4จี ใน 3 ส่วนใหญ่ คือ 1.การใช้ยานยนต์อัจฉริยะ หรือยานยนต์ไร้คนขับ (Connected Car) ที่อาจเป็นจริงขึ้นได้ ช่วยลดการจราจรที่แออัด 2.การใช้อุปกรณ์อินเตอร์เน็ต (Internet of Things : IoT) ที่อุปกรณ์ต่างๆ สามารถเชื่อมต่อสื่อสารกันเองได้ และ 3.การควบคุมอุปกรณ์ในระยะไกล เช่น การรักษาทางไกลที่แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ ซึ่งสิ่งที่จะตามมาคือการสั่งการของมนุษย์จะมีความจำเป็นน้อยลง ส่งผลให้การใช้แรงงานประชาชนน้อยลง” เลขาธิการ กสทช.กล่าว

Advertisement

นายโจว ตงเฟย ผู้เชี่ยวชาญการตลาด 5จี ของหัวเว่ย ที่เข้าร่วมงานสัมมนาจะมาบอกเล่าให้ได้รับรู้กันว่า พัฒนาการของ 5จี ในระดับโลกนั้นเคลื่อนที่ไปในทิศทางไหน มีแนวโน้มอย่างไร ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายจากยุค 4จี ไปสู่ยุค 5จี นั้นแตกต่างกันในส่วนสำคัญอย่างไร ความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลที่สูงกว่าเทคโนโลยีในแบบเดิม 10 เท่าตัวนั้นสามารถสะท้อนออกมาให้เห็นและนำไปประยุกต์ใช้ในโลกธุรกิจยุคดิจิทัลได้อย่างไร ทำไมการลดความหน่วงของเครือข่ายจาก 10 มิลลิวินาทีให้เหลือเพียง 1 มิลลิวินาที หรือต่ำกว่า จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งกับสังคมดิจิทัลในอนาคต และโลกจะได้ประโยชน์อย่างไรเมื่อโครงข่ายสามารถอำนวยให้เกิดการเชื่อมต่อพร้อมๆกันได้เป็นจำนวนมากถึงระดับเป็นพันล้านอุปกรณ์

นายตงเฟยกล่าวว่า งานเสวนาเชิงวิชาการครั้งนี้ ช่วยให้ทุกคนมองเห็นภาพรวมของพัฒนาการ 5จี ทั่วโลกได้ชัดเจนว่ามีพัฒนาการเป็นขั้นตอน จำเป็นต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี กำหนดมาตรฐานกลางเพื่อให้เกิดการเข้ากันได้ของเทคโนโลยี ต้องมีการทดสอบ ทดลองเทคโนโลยี ทั้งในห้องปฏิบัติการและในภาคสนาม สามารถทำความเข้าใจได้ว่าระบบนิเวศของ 5จี ในการประยุกต์ในโลกบันเทิงในอนาคตเป็นอย่างไร และในธุรกิจด้านการแพทย์และสุขอนามัยต่างๆ เป็นอย่างไร และเมื่อใด และประเทศใดบ้างที่มีโอกาสได้ใช้งานการสื่อสารในระบบ 5จี เมื่อมีการเปิดบริการในเชิงพาณิชย์กันจริงๆ จังๆ ตั้งแต่ปี 2020 (พ.ศ.2563) เป็นต้นไป

ทีมงานหัวเว่ยยังกล่าวเสริมว่า ที่สำคัญสุด หลู ลี่หมิง ผู้อำนวยการแผนกพัฒนาการ 5จี ของหัวเว่ย จะเปิดวิสัยทัศน์ให้เห็นกันชัดๆ ชนิดพลาดไม่ได้ว่า เทคโนโลยีและการสื่อสารในยุค 5จี จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปในทางใด และอย่างไร ทั้งในทางสังคมและในทางเศรษฐกิจ และแสดงให้เห็นว่า ในประเทศไทย 5จี สามารถเอื้อต่อการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 กลุ่ม อำนวยให้เกิดเมืองอัจฉริยะ, สังคมคาร์บอนต่ำ, บริหารจัดการน้ำและทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ทันสมัย พร้อมๆ กับการผลักดันอุตสาหกรรมไบโอ-เทค, สตาร์ตอัพและนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้อย่างไร ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นหมื่นล้านแสนล้านได้อย่างไรอีกด้วย

Advertisement

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ความเห็นเพิ่มเติมถึง เทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับว่า มีการวิจัย พัฒนา และถูกพูดถึงในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์มา 2-3 ปีแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างการทดลอง เพราะแม้จะผลิตออกมาใช้ได้จริง แต่ยานยนต์ลักษณะนี้ก็ไม่สามารถวิ่งไปได้ทุกเส้นทาง ต้องมีความปลอดภัย อาจต้องมีพื้นที่พิเศษเพื่อให้ยานยนต์ไร้คนขับสามารถวิ่งได้ มีตัวควบคุมระบบที่มีประสิทธิภาพ เพราะแม้จะมีการติดสัญญาณเตือน หรือเซ็นเซอร์ แต่หากบริเวณรถมีความไม่ปลอดภัย ทำเกิดสัญญาณเตือนตลอดเวลา กลายเป็นปัญหาตามมาได้

สำหรับประเทศไทย นายสุรพงษ์มองว่าเบื้องต้นอาจต้องกำหนดเป็นพื้นที่พิเศษ อาทิ ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรืออาจกำหนดชุมชนเฉพาะ เพื่อให้เส้นทางมีความแน่นอน อย่างประเทศไทยมีการใช้รถจักรยานยนต์จำนวนมาก หากมียานยนต์ดังกล่าวแต่ถูกรถจักรยานยนต์ขับปาดหน้าก็จะกลายเป็นปัญหาอยู่ดี ส่วนต่างประเทศปัจจุบันเริ่มมีการทดลองอย่างจริงจัง และอยู่ระหว่างออกกฎหมาย จึงต้องติดตามผลอีกครั้ง

นายสุรพงษ์กล่าวถึงเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ อย่างมั่นใจว่าจะยังไม่เกิดในไทยเร็วๆ นี้แน่นอน เพราะตอนนี้ประเทศไทยให้ความสำคัญกับยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ตามนโยบายอุตสาหกรรมเป้าหมาย แรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์เชื่อว่าจะปรับตัวได้ เพราะรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ปกติยังมีความต้องการสูงอยู่ แรงงานกลุ่มนี้จึงยังจำเป็น ขณะที่รถอีวีขณะนี้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อยู่ระหว่างปรับตัว เชื่อว่าจะเห็นการผลิตอีวีในไทยช่วง 5 ปีข้างหน้า การผลิตอีวีในไทยเบื้องต้นต้องเน้นส่งออกก่อนรูปแบบเดียวกับรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (อีโคคาร์) ที่ทำตลาดต่างประเทศก่อน ปัจจุบันมีสัดส่วนส่งออกประมาณ 55-60% และขายในประเทศ 40-45% เพราะตลาดรถยนต์ของไทยหากไม่เริ่มจากตลาดส่งออกแต่พึ่งตลาดในประเทศก่อน กำลังซื้ออาจจะไม่มากพอ เพราะต้องใช้เวลาปรับตัวพอสมควร

ทั้งหมดนี้เพียงแค่น้ำจิ้มที่กล่าวถึงเทคโนโลยี 5จี ถ้าต้องการรู้รายละเอียดแบบเข้มข้น ติดตามเข้าร่วมงานเสวนา “5G เปลี่ยนโลก เปลี่ยนประเทศไทย” ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ตั้งแต่เวลา 08.30 น. ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ รางน้ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image