“สุรเกียรติ์”แนะพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นผลิตคนสู่ตลาดยุค4.0-ชี้อย่าห้ามICOหนุนสตาร์ทอัพระดมทุน

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา (มทร.อีสาน) ได้จัดพิธีเปิดการประชุมเครือข่ายการจัดการความรู้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน สถาบันการพลศึกษาและสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (KM9 มทร.+2) ครั้งที่ 11 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ 2561 โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน ภายในงานได้จัดประกวดผลงานแนวปฏิบัติที่ดีของอาจารย์ บุคลากรสายสนับสนุน และนักศึกษา เพื่อชิงถ้วยพระราชทาน พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ซึ่งมีผลงานเข้าร่วมการประกวดจำนวน 131 ผลงาน, กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดี 8 ชุมชนนักปฏิบัติ, เสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หัวข้อการจัดการเรียนการสอนตามกรอบความคิด CDIO และการบรรยายพิเศษ โดยนาย สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองเอเชีย (APRC) ในหัวข้อ “การจัดการความรู้สู่การขับเคลื่อน Thailand 4.0”

นายสุรเกียรติ์ กล่าวว่า อนาคตการศึกษาของไทยนั้น ต้องเน้นไปในเรื่องของการจัดทำหลักสูตรระยะสั้นเป็นสำคัญ เพื่อให้ทุกคนปรับเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ให้ได้ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังให้แนวทางไว้ ซึ่งขณะนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ มีความพร้อมที่จะปรับตัวได้มากน้อยเพียงใด ส่วนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานนั้น ได้มีการเตรียมตัวเกี่ยวกับเรื่องการจัดทำหลักสูตรระยะสั้นมานานกว่า 2 ปีแล้ว ซึ่งมีความพร้อมที่จะจัดทำหลักสูตรระยะสั้น ตั้งแต่ 6 เดือน 8 เดือน และ 1 ปี เพื่อที่จะฝึกทักษะให้กับผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีไปแล้ว แต่อยู่ในช่วงที่เทคโนโลยีใหม่ๆ ยังไม่เข้ามา เพื่อให้มีทักษะการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป รวมทั้งกลุ่มคนสูงวัยที่ยังมีความสนใจในเทคโนโลยียุคดิจิตอล 4.0 และมีศักยภาพในการทำธุรกิจ ก็สามารถเข้ามาฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้นได้

นายสุรเกียรติ์กล่าวว่า การทำหลักสูตรระยะสั้นอย่างมีประสิทธิภาพและตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานยุค 4.0 ได้นั้น ต้องประกอบด้วย 2 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยก็ต้องร่วมกับภาคเอกชน เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตรด้วย ไม่เช่นนั้นถ้ามหาวิทยาลัยทำหลักสูตรอยู่ฝ่ายเดียว ก็จะเหมือนการนั่งเทียนเขียนหลักสูตรเองแล้วสร้างแรงงานออกไปไม่ตรงกับความต้องการของตลาดยุค 4.0 เลย 2.มหาวิทยาลัยต้องฝึกอบรมคนสอนก่อน ทั้งคณาจารย์รุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ให้สามารถผสมผสานระหว่างวิทยาการกับภูมิปัญญา หรือที่เรียกว่าวิสดอม (WISDOM) สำหรับหลักสูตรระยะสั้นได้ ซึ่งตนคิดว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องและท้าทายมาก ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ประเทศไทยจะไม่รับก็ไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีเชื่อมโยงโลกไว้ทั้งหมด เทคโนโลยีอะไรเกิดขึ้นในอีกฟากโลกหนึ่ง ก็จะสร้างผลกระทบถึงอีกฟากโลกหนึ่งได้ในชั่วข้ามคืน ดังนั้นปัญหาขณะนี้คือคนที่จะขึ้นรถไฟแห่งเทคโนโลยีไม่ทัน เนื่องจากหลายคนเรียนจบมาในช่วงที่เทคโนโลยีใหม่ยังไม่เข้ามา แต่ตลาดมีความต้องการทักษะด้านเทคโนโลยีใหม่ จึงทำให้คนที่เรียนจบมาตกขบวนรถไฟแห่งเทคโนโลยี เพราะไม่มีตั๋วที่นั่งให้ ดังนั้นคำจำกัดความของการเป็นนักเรียนต้องเปลี่ยนไป ครู อาจารย์ และผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ต้องเป็นนักเรียนก่อน เพื่อที่จะพัฒนาหลักสูตรการสอนให้เข้ากับยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ได้

นายสุรเกียรติ์กล่าวว่า ในส่วนของสตาร์ทอัพนั้นแตกต่างจากสตาร์ทอัพของสากลทั่วโลกมาก เพราะของไทยจะเน้นเรื่องเอสเอ็มอี แต่ยังไม่ได้เน้นเรื่องอุตสาหกรรมเทคโนโลยี หรือที่เรียกว่าเทคอินดัสตรี (Tech Industry) แม้ว่าจะมีอยู่บ้างแต่ก็ยังเป็นส่วนน้อย เนื่องจากธุรกิจเอสเอ็มอีของไทย ที่เป็นสตาร์ทอัพเทคอินดัสตรีมีเพียง 20% เท่านั้น ซึ่งจะต้องเพิ่มสัดส่วนให้สตาร์ทอัพเทคอินดัสตรีเหล่านี้ให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้ก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างเต็มตัว ดังนั้นสถาบันการศึกษาของไทยจึงมีส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพเทคอินดัสตรีเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

Advertisement

นายสุรเกียรติ์กล่าวว่า ส่วนการเข้ามาของเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งมีสตาร์ทอัพหลายประเทศนิยมระดมทุนด้วยรูปแบบ ICO นั้น ตนมองว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนไม่สามารถหยุดได้ หลายประเทศในโลกเริ่มออกกฎหมายกำกับดูแลให้ดำเนินการได้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว อย่างเช่น ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา แต่ก็ต้องระมัดระวังเรื่องของการฟอกเงินและการฉ้อโกงด้วย ขณะเดียวกันฟินเทคที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิตอล หรือคริปโตเคอร์เรนซี่ (Cryptocurrency) บิตคอยน์ และการระดมทุนรูปแบบ ICO ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นการฟอกเงินเสมอไป เพราะเป็นการระดมทุนรูปแบบใหม่ สิ่งที่รัฐบาลควรทำในขณะนี้คือไม่ควรไปสกัดกั้น แต่ควรออกกฎหมายให้สามารถทำได้ในกรอบ และทดลองใช้ดูสักประมาณ 1 ปีก่อน เพื่อดูว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด และจะได้ออกกฎหมายให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่มากขึ้น เพื่อไม่ให้ประชาชนที่ยังไม่เข้าใจ ถูกหลอกลวงให้เข้าไปสู่กระบวนการฟอกเงิน ซึ่งถ้าเราไปบอกว่าให้หยุดไม่ต้องทำเลยนั้นก็ไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่ประเทศไทยไม่สามารถหยุดยั้งได้แน่นอน ซึ่งตนเชื่อว่า ICO มีประโยชน์มากในการช่วยให้สตาร์ทอัพเทคอินดัสตรี สามารถระดมทุนได้อย่างรวดเร็ว และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ก้าวสู่ยุคดิจิตอล 4.0 ได้อย่างแท้จริงในอนาคต.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image