‘แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล’ จวก ‘ทรัมป์’ ตัวอย่างความเกลียดชัง

(FILES) Amnesty International

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า องค์การสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุไว้ในรายงานประจำปีที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ว่า “การเมืองที่ป้ายสีให้ศัตรูเป็นฝ่ายชั่วร้าย” เป็นการแพร่กระจายรากฐานของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในปี 2560 ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือการตอบสนองของยุโรปและสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อวิกฤตผู้อพยพ

แอมเนสตี้ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศอังกฤษ โจมตีประธานาธิบดีสหรัฐโดยเฉพาะเจาะจงใน “การแสดงออกที่น่ารังเกียจอย่างเห็นได้ชัดเจน” จากคำสั่งผู้บริหารในการสั่งห้ามพลเมืองของประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมหลายแห่ง

รายงานฉบับนี้ที่เผยแพร่ในสหรัฐเป็นครั้งแรกในปีนี้ ระบุว่า “ตลอดปี 2560 ผู้คนหลายล้านทั่วโลกประสบกับผลิตผลของความขมขื่นจากการเพิ่มขึ้นของการเมืองที่ป้ายสีให้ศัตรูเป็นฝ่ายชั่วร้าย”

รายงานฉบับนี้กล่าวหาผู้นำของชาติร่ำรวยว่ารับมือกับปัญหาวิกฤตผู้อพยพ “ด้วยวิธีการที่ผสมผสานกันระหว่างการหลีกเลี่ยงกับความไม่ใส่ใจ”

Advertisement

“ผู้นำยุโรปส่วนใหญ่ไม่สนใจที่จะจัดการกับความท้าทายใหญ่หลวงในการกำหนดกฎเกณฑ์เรื่องความปลอดภัยและความถูกต้องตามกฎหมายในการอพยพและตัดสินใจที่จะไม่ทำอะไรเลยในทางปฏิบัติ นั่นคือมีความพยายามที่จะกันผู้อพยพออกไปจากชายฝั่งทวีปของตน” รายงานระบุ

นายชาลิล เชตตี้ เลขาธิการแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ยกตัวอย่างนายทรัมป์มาโดยเฉพาะสำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ โดยระบุว่าคำสั่งห้ามเดินทาง “เป็นฉากสำคัญของปีที่ผู้นำใช้การเมืองของความเกลียดชังนำมาสู่บทสรุปที่อันตรายที่สุด”

นายเชตตี้ยังประณามการตัดสินใจที่จะเปิดเรือนจำที่อ่าวกวนตานาโมในคิวบาต่อไป และทัศนคติครึ่งๆ กลางๆ ต่อวิธีการวอเตอร์บอร์ดดิ้งและวิธีการในการสอบสวนอย่างรุนแรงอื่นๆ

“คุณสามารถจินตนาการว่านี่หมายความว่าอย่างไรสำหรับรัฐบาลทั่วโลกที่ใช้วิธีการทรมานอย่างแพร่หลาย” นายเชตตี้กล่าว

ติรานา ฮัสซัน ผูอำนวยการด้านการตอบสนองต่อวิกฤตของแอมเนสตี้ระบุว่า “เมื่อดูถึงเรื่องความขัดแย้ง วิกฤต และความโหดร้ายต่อคนหมู่มาก เราไม่ได้เห็นจริยธรรมและความเป็นผู้นำจากประชาคมนานาชาติ

แอมเนสตี้ระบุว่าการปราบปรามชาวโรฮีนจา ที่ทำให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ของชาวโรฮีนจากว่า 700,000 คนไปยังบังกลาเทศเป็น “ผลสรุปสุดท้ายที่ตามมาของสังคมที่กระตุ้นส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชัง การเป็นแพะรับบาปและความกลัวต่อชนกลุ่มน้อย”

“เรื่องนี้จะอยู่ในประวัติศาสตร์ในฐานะข้อพิสูจน์ชัดแจ้งถึงความล้มเหลวระดับหายนะของโลกในการจัดการกับ สภาวะที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายรากฐานสำหรับการก่ออาชญากรรมหมู่ที่โหดร้าย” รายงานระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image