จิตวิวัฒน์ : การเลือกมีชีวิตที่ไม่แบ่งแยก (2) ครูภายใน (Soul) : ณัฐฬส วังวิญญู

หลังจากบทความตอนแรกเขียนถึงลักษณะต่างๆ ของชีวิตที่แบ่งแยก ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2561 ไปแล้ว บทความตอนสองจะเขียนถึงธรรมชาติอีกด้านหนึ่งที่มนุษย์ควรเรียนรู้ คือ “ครูภายใน”

หนังสือ องค์รวมอันแฝงเร้น : การเดินทางสู่ชีวิตที่ไม่แบ่งแยก (A Hidden Wholeness : The Journey Toward an Undivided Life, Parker J. Palmer) พูดถึง Soul หมายถึงจิตใจของเรา ธรรมชาติเดิมแท้ของเรา เป็นสิ่งที่พ้นเหตุผล เช่น เมื่อเราเห็นภาพธรรมชาติ บางคนไม่คิดอะไรเลย ชอบทันที เพราะ Soul ของเราชอบธรรมชาติ ชอบเด็กเพราะเด็กเป็นตัวอย่างของชีวิตที่ยังไม่แบ่งแยก เป็นธรรมชาติ จริงใจกับโลก ไม่เสแสร้ง ไม่เคลือบ การศึกษาฝึกให้เราเคลือบเก่งและเคลือบได้ดี เป็นกลไกป้องกันตนเอง เป็น “Ego” ที่ไม่ใช่ความหมายเชิงพุทธ แต่เป็นความหมายทางจิตวิทยา เป็นกระบวนการที่เราทำให้ตัวเองมั่นคงปลอดภัย ได้รับการยอมรับ แต่เมื่อ “Ego” บงการชีวิตเรานาน 20-30 ปี Soul ของเราจะเริ่มไม่พอใจ เริ่มบอกว่าใช่เหรอ เป็นได้แค่นี้เหรอ Soul มีหน้าที่ช่วยทำให้เรามีพลังชีวิตและเป็นผู้ให้พลังชีวิตด้วย และต้องการเชื่อมโยงกับชีวิตอื่นๆ คือธรรมชาติดั้งเดิมของเรา

ครูภายในหรือตัวตนที่แท้จริงของเราเปรียบเสมือนลายนิ้วมือของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าเราจะถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร ลายนิ้วมือของเราจะเหมือนเดิม ผมมีลูกสาวสองคน สังเกตว่าสองคนนิสัยไม่เหมือนกันทั้งๆ ที่เลี้ยงมาเหมือนกัน คนแรกกล้าแสดงออก ชอบเคลื่อนไหว อีกคนชอบอยู่เงียบๆ ชอบประดิษฐ์ ชอบคิด สองคนนี้ต่างกันมาก พวกเธอเกิดมาเพื่อเป็นอะไรในโลกใบนี้ เป็นคำถามที่นำเราเข้าสู่ทางลัดของการค้นหาและทำความเข้าใจกับ Soul ของเรา

คำถามคือว่าโลกใบนี้ต้องการให้เราเป็นใครจากคุณสมบัติที่เราเป็น? ไม่ได้ถามว่าจะมีอาชีพอะไร แต่ถามว่าเราจะเป็นใคร เรามีอะไร ของขวัญที่ติดตัวเรามาคืออะไร จะรู้ได้อย่างไร เมื่อก่อนผมไม่เคยคิดจะเป็นนักพูด เพราะทุกครั้งที่ยืนหน้าห้อง ผมจะหน้าแดง ทุกอย่างที่เตรียมมาไปอยู่ที่เท้าหมด ไม่ได้อยู่ที่สมองและที่ปาก นึกไม่ออก ผมเริ่มสังเกตตัวเองว่าผมชอบดูหนังที่มีสุนทรพจน์อันทรงพลัง รู้สึกได้แรงบันดาลใจมาก

Advertisement

เราจะอ่านภาษาของ Soul ได้ ต้องดูเวลาเผลอ เพราะจะเปิดช่องบางอย่าง ซึ่งอาจดูเล็กน้อยจนเรานึกไม่ถึง แต่ทำให้ได้เบาะแสว่าลึกๆ เราเป็นใคร เกิดมาเพื่ออะไร อาจไม่ใช่คำตอบที่สำเร็จรูป บางคนอาจรู้สึกว่ามีความสุขที่ได้มาเป็นอาจารย์ มาถึงวันหนึ่งมันไม่ใช่ ไม่มีผิดไม่มีถูก ครูภายในของเราจะบอกเราว่าชีวิตเราตอนนี้มันไม่ใช่ อาจจะต้องเปลี่ยนอะไรบางอย่างหรือเปล่า คุณอาจกำลังทำสิ่งที่ดี มีความมั่นคง มั่งคั่ง ได้รับการยอมรับ แต่ว่าจิตวิญญาณข้างในของคุณกำลังตายลง

เราต้องสังเกตตัวเอง ต้องทำบางอย่างที่ทั้งอยากทำและกลัวที่จะทำ ถ้าอยากทำแต่กล้าๆ กลัวๆ ควรจะลอง เพราะ Soul ของเราจะรู้เองเมื่อได้มีประสบการณ์ตรง เช่น ผมชอบรถกระบะ แต่แท้จริงแล้ว Soul ของผมโหยหาการผจญภัย ซึ่งไม่จำต้องอยู่ในธรรมชาติ ผมคิดว่างานของผมต้องผจญภัยมากขึ้น ตอนนี้ง่ายเกินไป ผมต้องท้าทายตัวเองมากขึ้น คือทำงานเรื่องความขัดแย้ง

เราต้องแกะรอย Soul ของเรา โลกทำให้เราสนใจรถกระบะหรือสิ่งต่างๆ เพราะโลกอยากให้เราเติบโตขึ้น เป้าหมายของเรื่องนี้คือการเติบโตขึ้น คือการเอาสิ่งที่เรามีอยู่แล้วมาใช้ให้มากขึ้น เช่น เมื่ออาจารย์สอนนิสิตหรือพูดในที่สาธารณะ สังเกตตัวเองว่ามีชีวิตชีวา นี่อาจเป็นทักษะหนึ่งหรือของขวัญหนึ่งที่โลกนี้ต้องการ และต้องการของขวัญนี้จากอาจารย์มากขึ้น ไม่ใช่ว่าพูดเรื่อง Soul แล้วต้องไปทำงานเอ็นจีโอ หรือต้องลาออกจากงาน แต่หมายถึงว่าลึกๆ แล้วจิตของเราต้องการนำเสนออะไรให้กับโลกใบนี้

อาการอีกอย่างคือความป่วย เป็นสัญญาณที่ร่างกายบอกว่าเราฟังเสียงจิตวิญญาณตัวเองน้อยเกินไป ในทิเบต มีความเชื่อว่าความป่วยทั้งหมดมาจากนามธรรม มาจากจิตทั้งหมด ความป่วยทางร่างกายเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต แต่เกี่ยวข้องกับจิตใจมาก

คาร์ล ยุง (Carl G. Jung) เคยคิดว่าจะไม่สอนเรื่อง Soul กับคนที่อายุน้อยกว่า 35 ปี เพราะว่ายังไม่เข้าใจ เพราะยังอยู่ในกระบวนการสร้างอีโก้ แต่ถ้าผ่านวัยกลางคนแล้วจะเข้าใจ แต่อย่างไรก็ต้องเจอ หลีกเลี่ยงไม่ได้ จริงๆ แล้วผมคิดว่าควรจะสอนเด็กเรื่องนี้ เพียงแต่ว่าต้องหาวิธีการสอนที่ทำให้เขารู้ว่าชีวิตมีหลายทาง

กระบวนการค้นพบ Soul เป็นการลอกคราบชีวิต นึกถึงภาพดักแด้ที่ต้องกินรวงของตัวเองเพื่อที่จะออกมาเป็นผีเสื้อ เป้าหมายของการพัฒนาทางพุทธศาสนาคือนิพพาน อิสระจากความทุกข์ ในทางจิตวิทยาสายคาร์ล ยุง เรียกเป้าหมายหลักนี้ว่า Individuation เป็นการสลัดตัวเองออกจากความคาดหวังของสังคม ลึกๆ คือเป็นตัวของตัวเอง ความเป็นตัวเองในที่นี้ไม่ใช่ฉันอยากทำอะไรก็ทำ จริงๆ แล้วคืออิสระจากเสียงของสังคมที่อยู่ในตัวเอง ซึ่งไม่ง่าย ต้องใช้เวลานานพอสมควรที่เราจะสลัดเสียงสังคมออกจากตัวเรา ลึกๆ คือการยอมรับในสิ่งที่เราเป็น พาล์มเมอร์แยกแยะระหว่างคำว่าองค์รวม (Integrity หรือ Whole) กับคำว่าสมบูรณ์แบบ (Perfection) องค์รวมจะเกิดกับเราเมื่อเราสามารถยอมรับความเจ็บปวดของตัวเราได้ นี้เป็นเป้าหมายของการพัฒนาเชิงจิตวิทยา

การที่เราจะยอมรับความเจ็บปวดและยังรักษาเสียงจริงตัวจริงของตัวเองอยู่ได้ เราต้องการเพื่อนที่จะบอกว่าเห็นอะไรในตัวเรา เพื่อบอกถึงด้านบวกด้านลบ บางทีเรามองไม่เห็นด้านบวกของตัวเอง บางทีก็ไม่เห็นด้านลบด้วย สิ่งที่พาล์มเมอร์พูดและพระพุทธเจ้าสอนคือการให้ความสำคัญกับกัลยาณมิตรและชุมชนมาก แทบจะแยกกันไม่ออก เราจะพัฒนาตัวเองได้อย่างไรถ้าเราไม่มีกัลยาณมิตร

เสียงสังคมจะบอกเราว่า เราควรทำในสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด เน้นอรรถประโยชน์ แต่ Soul ของเราไม่ได้สนใจว่าสิ่งที่ได้ทำมันมีประโยชน์หรือเปล่าโดยเฉพาะกับคนอื่น บางที Soul ของเราต้องการให้เรามีประสบการณ์บางอย่างที่สุดยอดแค่นั้นเอง เช่น ออกเดินเรือ ภาษา Soul จะออกในรูปแบบของแฟนตาซี ซึ่งเสียงสังคมจะบอกว่างี่เง่าแต่มีความหมายสำหรับเรา

ณัฐฬส วังวิญญู
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image