สปส.เร่งเคลียร์ปม ‘ลูกจ้าง’ ร้องทุกข์นายจ้างหักเงินสมทบ แต่ไม่ส่งกองทุนประกันสังคม

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงกรณีลูกจ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้างในย่านบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ประมาณ 150 คน ได้เข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธร (สภ.) บางปะกง เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ เพื่อดำเนินคดีกับนายจ้างเนื่องจากหักเงินสมทบแล้วไม่นำส่งเข้ากองทุนประกันสังคม ในฐานความผิดฉ้อโกงจนทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิรักษาจากประกันสังคมว่า ได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดฉะเชิงเทราสาขาบางปะกง เขตพื้นที่รับผิดชอบเข้าตรวจสอบพร้อมลงพื้นที่ประสานงานให้ความช่วยเหลือเป็นการด่วน

“จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าบริษัทดังกล่าวได้ค้างชำระเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนประจำปี 2559 และปี 2561 รวม 697,000 บาท ค้างชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พร้อมเงินเพิ่มตามกฎหมายจำนวน 12,561,951.28 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 13,285,951.28 บาท ทั้งนี้ สปส.ได้รับการประสานงานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าร่วมเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้แทนบริษัทในวันดังกล่าว ซึ่งบริษัทตกลงรับจะชำระเงินสมทบค้างชำระกองทุนประกันสังคมของลูกจ้างที่ปฏิบัติงานทั้งหมดภายในวันที่ 2 มีนาคมนี้” นพ.สุรเดชกล่าวและว่า สปส.จ.ฉะเชิงเทรา สาขาบางปะกง ได้ชี้แจงสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง รวมถึงขั้นตอนในการเร่งรัดหนี้ของสำนักงานประกันสังคมให้ลูกจ้างทุกคนได้เข้าใจแล้ว

เลขาธิการ สปส. กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมที่นายจ้างกระทำนั้นถือเป็นการทำผิดกฎหมายประกันสังคม สปส.จะดำเนินคดีทางกฎหมายกับนายจ้างตามขั้นตอนคือ นายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบย้อนหลังตามจำนวนที่ยังไม่นำส่ง และจ่ายเงินเพิ่มในอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยในส่วนนายจ้างที่ค้างชำระหนี้กองทุนประกันสังคมจะต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของเงินสมทบที่ยังไม่นำส่งหรือส่วนที่ขาดอยู่จนครบ ส่วนนายจ้างค้างชำระหนี้ของกองทุนเงินทดแทน นายจ้างจะต้องจ่ายเพิ่มในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือนของเงินสมทบที่ยังค้างชำระ กรณีที่ สปส.ได้ติดตามเร่งรัดหนี้ตามขั้นตอนดังกล่าวแล้ว แต่นายจ้างยังเพิกเฉยไม่นำส่งเงินสมทบและเงินเพิ่ม (ค่าปรับ) ที่ค้างชำระ สปส.จะใช้มาตรการในการดำเนินคดีทางอาญากับนายจ้างตามขั้นตอนทันทีคือ การดำเนินการยึด อายัด และขายทรัพย์สินทอดตลาด ซึ่งกรณีดังกล่าวนอกจากนายจ้างจะถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย ยังส่งผลกระทบต่อลูกจ้าง ผู้ประกันตน เพราะไม่สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขการเกิดสิทธิประโยชน์ในแต่ละกรณีได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image