‘ศิริ จิระพงษ์พันธ์’ ตอบโจทย์จัดการไฟฟ้าภาคใต้

หมายเหตุ – นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานพบปะสื่อ (Meet the Press) ในประเด็นการบริหารจัดการไฟฟ้าภาคใต้และสัมปทานสำรวจและผลิตแหล่งก๊าซบงกชและเอราวัณ ครั้งใหม่ ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์


ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ทราบว่าภาระหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคือ การสร้างความมั่นคงของระบบพลังงานของประเทศให้มีประสิทธิภาพ โดยกำหนดเป้าหมายภารกิจไว้เฉพาะเรื่องที่มีความสำคัญจำเป็นเร่งด่วนให้สัมฤทธิผลภายใน 1 ปี

เรื่องแรกที่สำคัญที่สุดในด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในระยะยาวคือ การมีแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติ 2 แหล่งใหญ่ในอ่าวไทย ซึ่งผลิตก๊าซธรรมชาติประมาณ 75% ของก๊าซธรรมชาติที่เราใช้ ไฟฟ้าที่ผลิต 60% ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ดังนั้น หากไม่สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจาก 2 แหล่ง คือแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ประเทศไทยก็จะมีปัญหาเรื่องความมั่นคงของไฟฟ้าในอนาคต กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

ปัญหาของ 2 แหล่งดังกล่าวคือ สัมปทานที่ให้แก่กลุ่มบริษัทเชฟรอนในการร่วมผลิตในแหล่งเอราวัณ และสัมปทานที่มีไว้กับ ปตท.สผ.ที่แหล่งบงกช จะสิ้นอายุสัมปทานในปี 2565 หากหยุดสัมปทาน ไม่มีการผลิตต่อ ไทยจะขาดก๊าซธรรมชาติ ถ้าไม่มีความชัดเจน การลงทุนของบริษัทที่รับสัมปทานทั้ง 2 ราย อาจจะลงทุนน้อยลง เพราะการลงทุนแต่ละครั้งต้องใช้เวลาในการคืนทุนอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป ช่วงนี้จึงเป็นระยะรอยต่อที่ต้องสร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้นในปีนี้ มิเช่นนั้นจะทำให้ระบบพลังงานขาดความแน่นอน กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ

Advertisement

เรื่องที่สองคือ ระบบไฟฟ้าสำหรับภาคใต้ มีความเชื่อมาตลอดว่า ระบบไฟฟ้าในภาคใต้อาจจะไม่มั่นคง เพราะเคยเกิดเหตุการณ์ไฟดับทั้งภาคมาแล้ว จึงมีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น 2 แห่ง คือที่กระบี่และขนอม รวมกำลังการผลิตได้เกือบ 3,000 เมกะวัตต์ แต่ก็มีอีกความเชื่อหนึ่งที่บอกว่า ภาคใต้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพียงพอหรือเกินความจำเป็นด้วยซ้ำไป ข้อมูล 2 ชุดนี้ทำให้เกิดความสับสน การสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้ จึงมีหลายกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวแสดงความเป็นห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อมและด้านอื่นๆ ทั้ง 2 มุมมองต่างมีเหตุผลที่ดี จึงจำเป็นต้องทำให้ข้อเท็จจริงปรากฏ

จากการศึกษาและรับฟังรายละเอียด พบว่าในภาคใต้มีโรงไฟฟ้าหลัก 2 แหล่ง คือที่จะนะและขนอม มีกำลังการผลิตไฟฟ้าค่อนข้างสูงถึง 2,400 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้มีจุดสูงสุดหรือจุดพีคอยู่ที่ 2,600-2,700 เมกะวัตต์ ดังนั้น ภาคใต้จึงมีกระแสไฟฟ้าเพียงพอ และยังมีสายต่อเชื่อมป้อนกระแสไฟฟ้าจากภาคกลางได้ แต่มีปัญหาเรื่องสายส่งที่มีปัญหาคอขวด ดังนั้น หากมีการเพิ่มขนาดและปริมาณของสายส่งเชื่อมระหว่างขนอมและจะนะ เชื่อมระหว่างโรงไฟฟ้าที่อยู่ฝั่งอ่าวไทยต่อไปยังฝั่งอันดามัน เช่น ภูเก็ต กระบี่ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและมีการใช้ไฟฟ้ามาก จะสามารถลดคอขวดลง ทำให้ภาคใต้ก็มีไฟฟ้าเพียงพอ

ขณะเดียวกันก็มีจุดอ่อนเรื่องไฟฟ้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีความต้องการอยู่ที่ 270-300 เมกะวัตต์ ดังนั้น หากสามารถสร้างระบบไฟฟ้าใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยใช้ชีวมวล เช่น กิ่งไม้ เศษไม้ หรือการทำไบโอก๊าซจากน้ำเสียของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน แล้วสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก 1 โรง ประมาณ 10-20 เมกะวัตต์ แล้วป้อนไฟฟ้าผ่านระบบเครือข่ายของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จะสามารถลดภาระความต้องการใช้ไฟฟ้าของ 2 โรงไฟฟ้าหลักลงไปได้ ทำให้ระบบไฟฟ้าในภาคใต้มีความเป็นเอกเทศและมั่นคง ผลการศึกษานี้ได้ทำร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมถึงได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานความมั่นคง เช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) อันเป็นการผสมผสานทั้งเรื่องความมั่นคงและการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาให้มีราคาที่ไม่แพง ส่วนความกังวลถึงความมั่นคงของไฟฟ้าในภาคใต้ วิธีการข้างต้นจะสามารถแก้ปมได้หนึ่งเปราะ โดยไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไม่ว่าที่ อ.เทพา จ.สงขลา หรือ จ.กระบี่ ความจำเป็นนั้นก็จะเลื่อนออกไป

ส่วนที่มีการกล่าวว่าประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลงในสัดส่วนที่สูงเกินไปหรือไม่ หากเกิดความไม่มั่นคงของอุปทานของก๊าซธรรมชาติ ไม่ว่าจากอ่าวไทยซึ่งผลิตได้ลดลงหรือการนำเข้าที่มากขึ้น ทำให้เราควรเพิ่มสัดส่วนของถ่านหินหรือไม่ ต้องบอกว่าความจำเป็นนั้นมีอยู่ และควรเพิ่มสัดส่วนของการนำเข้าถ่านหินมาใช้เป็นเชื้อเพลงในการผลิตไฟฟ้า หากทำได้ก็จะมีประโยชน์ เพราะในอนาคตราคาถ่านหินมีแนวโน้มถูกกว่าก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบันประเทศไทยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงอยู่ประมาณ 20%

ในขณะที่ต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย มีสัดส่วนการใช้ถ่านหินสูงกว่าไทยมาก ดังนั้น เพื่อความมั่นคงและรอบคอบ การใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้นจึงเป็นเรื่องดี แต่เรื่องสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าต้องเป็นเรื่องที่ได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะความคิดเห็นของประชาชนในท้องถิ่น จึงนำไปสู่การเปิดกว้างให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจและชุนชนมาร่วมปรึกษาหารือ ที่เรียกว่าการศึกษาสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment หรือเอสอีเอ) ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย โดยจะหาว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ควรมีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ที่ใด เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งในสังคม

เรื่องที่สามคือ การปูพื้นฐานระบบพลังงานในอนาคต (Energy 4.0) ซึ่งจะยังไม่แล้วเสร็จในปีนี้ อย่างไรก็ดี พอเห็นช่องทางแล้วว่าสามารถนำนวัตกรรมใหม่ทั้งของไทยและต่างชาติ เช่น พลังแสงอาทิตย์ เชื้อเพลงชีวภาพ ที่ทำแล้วสามารถสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และที่สำคัญคืออยู่ในกรอบที่ราคาพลังงานโดยเฉพาะราคาไฟฟ้าจะต้องไม่แพงขึ้นจากปัจจุบัน

สำหรับการประมูลการผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งบงกชและเอราวัณ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้จัดทำกรอบการประมูล (TOR) ให้เกิดความชัดเจนและเป็นประโยชน์ต่อประเทศ มองในแง่ความมั่นคงคือ ต้องมีปริมาณก๊าซเพียงพอ ปัจจุบันการผลิตก๊าซธรรมชาติจาก 2 แหล่งดังกล่าว รวมกันมีปริมาณ 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หากปริมาณก๊าซลดลงไปจากนี้ก็จะเปิดปัญหาขึ้น ดังนั้น ปริมาณก๊าซขั้นต่ำที่ต้องผลิตจาก 2 แหล่งนี้ หากต้องลดจาก 2,100 ซึ่งแน่นอนว่าต้องลด เพราะปริมาณก๊าซสำรองลดลง จากการศึกษาคาดว่าน่าจะผลิตได้ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หากผลิตได้ในระดับนี้ ความเสียหายก็จะไม่มากนัก ไม่กระทบระบบการผลิตของประเทศไทย นี่คือเงื่อนไขแรก ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ท้าทาย

ดังนั้น ผู้ที่จะเข้ามารับดำเนินการต่อหลังปี 2565 ถ้าไม่เก่งจริง อาจจะทำไม่ได้ ดังนั้น จึงคาดหวังผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ โดยจะทำการประมูลอย่างเปิดเผย ทั้งนี้ เงื่อนไขที่สำคัญคือ ราคาก๊าซธรรมชาติที่ประเทศไทยจะรับซื้อจากผู้ประกอบการจะต้องไม่เกินราคาที่ซื้ออยู่ในปัจจุบัน เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคคนไทย

ดังนั้น 2 หลักเกณฑ์สำคัญ คือ 1.ปริมาณก๊าซที่ผลิตแล้วต้องมีมากพอ 2.ราคาก๊าซธรรมชาติที่จะซื้อต้องไม่กระทบกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น เงื่อนไขการประมูลจึงค่อนข้างซับซ้อน เปลี่ยนจากสัมปทานเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต ซึ่งเป็นระบบใหม่ที่ใช้ในประเทศไทย อย่างไรก็เน้นความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ 2 ครั้ง ในเดือนมีนาคม และเมษายน โดยกรอบแรกจะหารือกับผู้ประกอบการ

การสร้างโรงไฟฟ้าภาคใต้จะเลื่อนไปอีกนานแค่ไหน

ไม่ได้เรียกว่าเลื่อน อย่างที่บอกไปว่า หากพิจารณาถึงความจำเป็น เรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่ว่าที่เทพาหรือกระบี่ เมื่อ 5 ปีที่แล้วมีความจำเป็น แต่มาถึงวันนี้ได้ดูในรายละเอียดแล้ววางแผนรวมกันกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ก็คิดว่าหากสามารถขจัดปัญหาสายส่งคอขวดได้ และมีโรงไฟฟ้าที่ อ.ขนอม ผลิตไฟฟ้าได้ 900 เมกะวัตต์ ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปีที่แล้ว และสามารถใช้ได้อีก 20 ปี จึงเห็นชัดว่าความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของภาคใต้หากมีการผสมผสาน ระหว่างการเพิ่มจำนวนและปริมาณของสายส่งจากโรงไฟฟ้าขนอมและจะนะไปสู่กระบี่ ภูเก็ต และพังงา ประกอบกับการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันได้มีการดำเนินการแล้ว หากมีการเพิ่มประสิทธิภาพในอนาคตจากปัจจุบันที่ผลิตได้ 50 เมกะวัตต์ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้ถ่านหิน ไม่ว่าจะที่เทพา หรือกระบี่ ที่จะกระทบต่อความมั่นคง ไม่มีแล้วใน 5 ปี ข้างหน้า

แต่ไม่ได้ยุติการสร้างใช่หรือไม่

ไม่ได้ยุติ แค่ไปหาที่เหมาะสม เรายังมีเวลา ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้ง เราจะไปศึกษาว่ามีที่ตั้งในประเทศไทยที่อื่นที่เหมาะสมสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ซึ่งกระบี่และเทพาก็เป็นหนึ่งในสถานที่ที่อยู่ระหว่างการศึกษาด้วย ดูว่าที่ไหนของประเทศไทยที่สร้างโรงไฟฟ้าแล้วจะมีความเป็นไปได้และเหมาะสมเราก็จะสร้างที่นั่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image